นายกสภาวิชาชีพบัญชีเดินหน้าสางปม ส่งคณะกรรมการจรรยาบรรณสอบจรรยาบรรณผู้สอบบัญชี STARK หากพบว่าทำผิดจ่อลงดาบพัก-ถอนใบอนุญาต ชงแผนแก้ พ.ร.บ.การบัญชี เพิ่มอำนาจกฎหมายวิชาชีพบัญชีคุมผู้สอบบัญชี
วินิจ ศิลามงคล นายกสภาวิชาชีพบัญชี เปิดเผยว่า หลังจากได้รับเลือกตั้งให้เป็นนายกสภาวิชาชีพบัญชีและกรรมการคณะใหม่ของสภาวิชาชีพบัญชีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566 ในฐานะนายกสภาวิชาชีพบัญชีมีความเป็นกังวลต่อคำถามเกี่ยวกับกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่เข้ามาค่อนข้างมาก โดยสภาวิชาชีพบัญชีในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบต่อผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อสาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับความคืบหน้ากรณีของ STARK ปัจจุบันคณะกรรมการจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี มีขั้นตอนเร่งรัดการทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้สอบบัญชีของ STARK ตามที่มีผู้เสียหายและได้รับความเดือดร้อนยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา โดยประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
โดยคณะกรรมการจรรยาบรรณฯ เป็นหน่วยงานอิสระของของสภาวิชาชีพบัญชี มีบทบาท หน้าที่ และกระบวนการทำงานที่เป็นอิสระ หากมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทำงานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเข้ามา ก็จะมีหน้าที่สอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียน ซึ่งสามารถตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการเพื่อสอบสวนกรณีที่มีการร้องเรียน และพิจารณาโทษต่อผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีโดยอิสระ
ทั้งนี้ หากพบว่าผู้สอบบัญชีมีการทำผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการจรรยาบรรณฯ จะมีอำนาจหน้าที่และจะมีการดำเนินการลงโทษตามหลักเกณฑ์สภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งบทลงโทษมีตั้งแต่การพักใบอนุญาตไปจนถึงการเพิกถอนใบอนุญาต ขณะที่กรอบเวลาในการดำเนินการตรวจสอบนั้นจะขึ้นอยู่กับการทำงานของคณะกรรมการจรรยาบรรณฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่สภาวิชาชีพฯ ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้
สำหรับผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไปเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชี ในขณะที่ผู้ทำบัญชีเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาวิชาชีพบัญชีและกระทรวงพาณิชย์ สำหรับอดีตประธานเจ้าหน้าที่บัญชีและการเงินของ STARK นั้นไม่ได้เป็นผู้ทำบัญชีที่ลงทะเบียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์และสภาวิชาชีพบัญชี แต่อยู่ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในขณะนั้น
ทั้งนี้ ผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสังกัดสำนักงานที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบ และมีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. ดังนั้นผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติตรวจสอบงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนได้ จึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. และสภาวิชาชีพบัญชี
วินิจกล่าวต่อว่า สภาวิชาชีพบัญชีอยู่ระหว่างการทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบัญชี เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยจะมีแก้ไขเพิ่มอำนาจสภาวิชาชีพบัญชีในการกำกับตรวจสอบได้มากขึ้นในอนาคต
แนะนักลงทุนตั้งข้อสังเกตป้องกันความเสี่ยงซ้ำรอย STARK
- การทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในธุรกิจของบริษัทที่จะลงทุน ตลอดจนรวมโครงสร้างของกลุ่มบริษัททั้งในและต่างประเทศ
- เข้าใจพื้นฐานและที่มา รวมถึงประวัติของผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และที่ปรึกษา
- ทิศทางและความชัดเจนของการลงทุน และการใช้เงินจากการระดมทุนในแต่ละครั้ง
- ความเข้าใจในรายละเอียดของหนังสือชี้ชวนการลงทุน ได้แก่ งบการเงินและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น
- พื้นฐานของสำนักงานสอบบัญชีและผู้สอบบัญชีที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรรมการและผู้ถือหุ้น
เปิดแผนสภาวิชาชีพบัญชีป้องกันและติดตามปัญหา STARK
- ทำงานใกล้ชิดกับหน่วยกำกับดูแล เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสริมแนวปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพให้ยึดมาตรฐานการทำงานและจรรยาบรรณมากขึ้น
- เผยแพร่รูปแบบและวิธีการปฏิบัติงาน เพื่อคุณค่างานที่สูง มีคุณภาพ และมีจรรยาบรรณที่ดี
- เน้นย้ำความสำคัญของคุณภาพงานและการทำงานตามมาตรฐานที่กำหนด ให้ผู้ประกอบวิชาชีพได้ตระหนักอย่างต่อเนื่อง
- สื่อสารอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการและผู้บริหารที่ต้องให้ความสำคัญต่อคุณค่างานสอบบัญชีและผลตอบแทนที่เป็นธรรม
- มีหน่วยงานเฉพาะ เพื่อส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพสำนักงานของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีและผู้ประกอบวิชาชีพ
- ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี เพื่อเปิดทางให้สภาวิชาชีพบัญชีสามารถกำหนดมาตรการเชิงป้องกันและติดตามให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น