วันนี้ (31 สิงหาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนในช่วงเดือนกันยายนว่า จากพยากรณ์อากาศวันนี้พบว่ามีร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันออก โดยในวันนี้คาดว่ามีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อม เช่น การพร่องน้ำในคลอง การเตรียมระบบระบายน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนเรื่องที่กังวลคือการก่อสร้างของหน่วยงานนอกที่อยู่ในพื้นที่ โดยได้เร่งรัดไปแล้ว เช่น คูน้ำวิภาวดี ได้ให้ไปดูทางเดินน้ำทั้งหมด หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วงบริเวณถนนสามเสน ซึ่งคราวที่แล้วมีเรื่องท่อระบายน้ำที่โดนตัดไป ให้มีการทำทดแทน
โดยให้สำนักการโยธาและสำนักการระบายน้ำติดตามใกล้ชิด หรือถนนแจ้งวัฒนะซึ่งมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูก็กำชับให้ดูเรื่องการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างแล้ว จึงคิดว่าเรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง แต่ประมาทไม่ได้ เพราะฝนในช่วงนี้มักจะตกรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ จึงได้กำชับในเรื่องของหน่วยเคลื่อนที่ที่จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดตลอด
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ปัญหาแรกที่เจอแน่นอนคือเรื่องการจราจร เพราะส่วนใหญ่ฝนจะตกตอนเย็น ฝากพี่น้องประชาชนวางแผนการเดินทางให้ดี ส่วนเรื่องน้ำท่วมอาจจะมีท่วมบางจุด แต่คิดว่าระบายได้ไม่ช้า เพราะเจ้าหน้าที่พร้อมปฏิบัติงานทั้งในเรื่องการระบายน้ำ การประจำเครื่องสูบน้ำ การเก็บขยะหน้าตะแกรง และได้เน้นย้ำในเรื่องการเดินทางของประชาชนกับเรื่องรถเสียหากเกิดน้ำท่วม
โดยให้กองโรงงานช่างกลซึ่งมีรถยกและมีช่างเตรียมความพร้อมช่วยเหลือกรณีมีรถเสีย ให้เทศกิจเตรียมรถรับ-ส่งกรณีในพื้นที่มีน้ำท่วมหรือประชาชนไม่มีรถกลับบ้าน รวมทั้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ติดตามและประสานงานกับศูนย์ป้องกันน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนตลอดเวลา
ชัชชาติกล่าวว่า จริงๆ แล้วในปีนี้เรื่องน้ำแล้งเป็นเรื่องที่ต้องกังวลมากกว่า เพราะเริ่มมีน้ำเค็มรุกขึ้นมาแล้ว ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับทางรัฐบาลด้วยว่าจะมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร เพราะเป็นภาวะที่ค่อนข้างจะรุนแรง ในส่วนของกรุงเทพมหานคร ปีที่แล้วได้ทำฝายกั้นน้ำสะสมไว้สำหรับการทำการเกษตรในบางพื้นที่ จึงทำให้ยังพอมีน้ำมาทำเกษตรกรรมได้