เรียกได้ว่า แมนสรวง สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการหนังไทยนับตั้งแต่ประกาศงานสร้าง ด้วยองค์ประกอบที่เหมาะเจาะทั้งตัวนักแสดงอย่าง มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง และ อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ ที่ประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติจาก KinnPorsche The Series ยิ่งผนวกกับเรื่องราวย้อนยุคสู่รัชกาลที่ 3 และว่าด้วยคณะละครชายล้วนซึ่งเข้ากันกับซีรีส์วาย และยังได้ส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปในตัว เพียงแต่ แมนสรวง ไม่ใช่ ‘หนังวาย’ กลับเป็นหนังว่าด้วยเรื่องการเมือง สืบสวนสอบสวนเข้มข้น ที่ต้องนับถือหัวใจในเรื่องความทะเยอทะยาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีริ้วรอยที่ยังไม่สมบูรณ์
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- เร้น เพลงประกอบภาพยนตร์ แมนสรวง กับตัวตนที่ถูก ‘แอบซ่อน’ ภายใต้หน้ากากการแสดง
- แนะนำตัวละครสำคัญจาก แมนสรวง ก่อนก้าวเท้าเข้าสู่สถานเริงรมย์สุดลึกลับ
- THE NAKED TRUTH มาย ภาคภูมิ และ อาโป ณัฐวิญญ์ เสน่ห์ที่แท้จริงของคู่พาร์ตเนอร์จาก ‘แมนสรวง’
- แมนสรวง แกะรอยนาฏกรรมผ่านการร่ายรำของ ‘พ่อเขม’
แมนสรวง คือเรื่องราวของ เขม (อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์) เด็กหนุ่มกำพร้าที่มีอาชีพเป็นนักแสดงละครนอก และบ่อยครั้งที่ขายเรือนร่างเพื่อความอยู่รอด แต่แล้ววันหนึ่งเขาและเพื่อนสนิทคือ ว่าน (บาส-อัศวภัทร์ ผลพิบูลย์) ต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ทำให้ต้องรับข้อเสนอยอมไปเป็นสายลับในแมนสรวง เพื่อหาหลักฐานการก่อกบฏในช่วงปลายรัชกาลที่ 3
แมนสรวงคือสถานเริงรมย์ที่มักเป็นสนามประลองอำนาจของทุกฟากฝั่งทางการเมืองของ เจ้าสัวเฉิง (ชาติชาย เกษนัส) และลูกชายคือ ฮ้ง (ต๋อง-ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา) ที่นี่เขมได้พบกับ ฉัตร (มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง) มือตะโพนผู้แฝงตัวมาทำภารกิจบางอย่างเช่นกัน นำไปสู่การสืบสวนสอบสวนที่ทำให้ทั้งคู่ค้นพบมากกว่าสิ่งที่ต้องการ แต่คือความฉ้อฉลและกลโกงทางการเมืองจนนำไปสู่ตอนจบสุดเซอร์ไพรส์
‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ’ คือนิยามที่เล่าถึงสารหลักที่หนังต้องการจะสื่อได้เป็นอย่างดี โดยเล่าผ่านชีวิตของไพร่อย่างเขมที่ถูกล่อหลอกด้วยความฝันเล็กๆ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่หมากเบี้ยและตัวละครในโรงละครโรงใหญ่ในการแย่งชิงอำนาจ และแทนสถานที่นั้นด้วยแมนสรวงที่แทบไม่มีอยู่จริง ณ จุดนี้คือการเปิดพื้นที่ให้ทีมผู้สร้างใส่จินตนาการอันบรรเจิดที่ทุกอย่างเป็นไปได้ในแมนสรวง ทั้งบุคลิกตัวละคร ไปถึงองค์ประกอบศิลป์ที่ต้องชื่นชมว่าผสมความเควียร์เข้ากับความเป็นไทยได้อย่างแปลกตา
สิ่งต่อมาก็คือการเอาส่วนผสมเรื่องนาฏศิลป์มาฉาบทาสารหนักๆ อย่างเรื่องการเมืองได้อย่างแนบเนียน รวมทั้งการทุ่มเทเรียนท่วงท่าการรำของอาโปก็ทำให้เขาสวมวิญญาณความเป็นเขมได้อย่างไม่ติดขัด ยังไม่นับรวมการแสดงที่เหมือนบทเปิดโอกาสให้อาโปได้โชว์ฝีมืออย่างเต็มที่ ในขณะที่มายกลายเป็นสายซัพพอร์ตที่ก็ทำหน้าที่ได้ดีตามบทที่ได้รับมอบหมาย และดูเหมือนว่าผู้สร้างจะไม่ใจร้ายเกินไป ด้วยการเติมเคมีแบบ Bromance ให้แฟนๆ จิ้นได้บ้างผ่านมุกตลกที่ทำงานได้ดีบนเส้นเรื่องหนักๆ
อย่างไรก็ตาม ตัวบทยังมีจุดอ่อนอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะอารมณ์ของหนังที่เข้มข้นในตอนต้น แต่กลับแผ่วลงตอนกลาง ทำให้หลายๆ เหตุการณ์ไม่สามารถดึงอารมณ์ร่วมของคนดูให้ไปถึงจุดสูงสุดในตอนท้าย รวมทั้งการใส่หลากหลายตัวละครเข้ามาในเรื่องจนเหมือนแค่แนะนำให้ ‘รู้จัก’ แต่ไม่ ‘สนิท’ จนรู้สึกอินกับสิ่งที่ตัวละครถูกกระทำ
ส่วนที่เด่นชัดที่สุดคือว่าน ตัวละครสำคัญที่คนดูสัมผัสไม่ได้ถึงความสนิทสนมถึงขั้นต้องดูแลกันและกันตลอดชีวิตระหว่างเขากับเขม อาจเพราะไม่ได้ปูพื้นฐานว่าทั้งคู่มาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร รวมถึงประเด็นปมในใจก็เหมือนไม่ได้บิลด์มาให้ถึงช่วงเฉลยตอนท้าย ทำให้จุดจบของตัวละครก็ไม่ได้บีบคั้นหัวใจสักเท่าไร
หรือแม้ตัวละครอย่างเขมเอง แม้ถูกออกแบบมาได้อย่างน่าสนใจ แต่ก็ยังขาดความรู้สึกถูกบีบคั้น กดดัน อยู่อย่างไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี นอกจากฉากแฟลชแบ็กให้เห็นการถูกกระทำในอดีต แต่กับเหตุการณ์ที่เขาต้องกลายเป็นหมากเบี้ยให้กับผู้มีอำนาจก็ดูเหมือนทุกอย่างราบเรียบจนไม่รู้สึกเจ็บจี๊ดในตอนจบ และด้วยความแข็งแรงซับซ้อนของเนื้อเรื่องจึงทำให้หลายๆ ซีนต้องรีบเล่า จนกระโดดจากซีนหนึ่งไปอีกซีนหนึ่งแบบไม่มีเวลาซึมซับ นำมาสู่ความรู้สึกไม่อินอย่างที่บอกไป
นอกจาก แมนสรวง จะคับคั่งไปด้วยนักแสดงในค่าย Be On Cloud ยังได้รวบรวมนักแสดงละครเวทีฝีมือชั้นครูเอาไว้มากมาย และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือฝีมือการแสดงของ คานธี วสุวิชย์กิต ในบท พระยาวิเชียรเดช ที่ถ่ายทอดความเป็นขุนนางรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยกลโกงผ่านการแสดงสีหน้าท่าทาง รวมทั้งท่าทีก้อร่อก้อติกนายละครก็ทำออกมาได้อย่างพอดิบพอดี ขณะที่ บาส-อัศวภัทร์ ผลพิบูลย์ ในบทว่านคือตัวแทนนักแสดงรุ่นใหม่อีกคนที่ฉายแววได้อย่างโดดเด่นทีเดียว
อย่างไรก็ดี ด้วยดีกรีการแสดงที่ห่างชั้นกันของทั้งสองรุ่นก็ทำให้ภาพรวมบางช่วงบางตอนไม่กลมกล่อมอย่างที่ควรจะเป็น รวมทั้งนักแสดงรุ่นใหม่บางคนก็รับบทที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าขีดความสามารถที่มีจนกลายเป็นจุดด้อยไปอย่างน่าเสียดาย
ถึงแม้จะมีข้อบกพร่องไปบ้าง แต่อย่างหนึ่งที่ แมนสรวง มีให้คือบรรยากาศไม่ชอบมาพากลที่ชวนให้คาดเดาไปต่างๆ นานา และการพาไปสู่บทสรุปที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของความตลกร้าย ที่สำคัญมันช่างเข้ากับสถานการณ์การเมืองไทยในตอนนี้จนอดสงสัยไม่ได้ว่าเพิ่งถ่ายทำกันใหม่หรือคิดไว้แล้วตั้งแต่ต้น ซึ่งถ้าหากเป็นอย่างหลังก็คงไม่น่าแปลกใจ เพราะการเมืองไทยยังคงวนเวียนอยู่ในวงจรเดิมๆ อย่างที่หนังเน้นย้ำผ่านประโยค ‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ’ ซึ่งในปัจจุบันอาจหมายถึงอาการใจสลายที่ผู้มีอำนาจยังคงทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อไป จนไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสิ้นสุดเสียที
รับชมรายการ Chairs to Share EP.7 มาย-อาโป สุขและทุกข์ที่น่าจดจำ กับวันที่ตั้งคำถามถึงตัวเอง ได้ที่: