×

ยาแรงแก้หนี้: ใช้ยาแรงผิดเหมือนเอายาพิษมารักษาหนี้

16.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
02:37 เคสภาวะหนี้จากนิคมอุตสาหกรรม
05:30 ดูอย่างไรว่าเราเป็นหนี้เข้าขั้นโคม่า
08:20 รักษาภาวะหนี้โคม่าเบื้องต้น
17:45 ยาแรงแก้หนี้แบบผิดๆ ที่ทำให้ชีวิตพังกว่าเดิม

มันนี่โค้ชมาพร้อมปัญหาการเงินที่ฮิตที่สุดตลอดกาล นั่นคือเรื่องหนี้ พร้อมวิธีเช็กว่าภาวะหนี้ของเราตอนนี้เข้าขั้น ‘โคม่า’ แล้วหรือยัง ควรเยียวยาอย่างไรในเบื้องต้น และถ้าวิธีการเดิมๆ ไม่ได้ผลอาจต้องพึ่ง ‘ยาแรง’ ในการแก้หนี้ 

 

แต่ยาแรงที่ไม่ดี ผิดหลัก ผิดวิธี วันนี้กลับมีคนออกโรงมาแนะนำกันมากมาย มันนี่โค้ชเลยอาสาหยิบจับมาอธิบายให้ได้รู้เท่าทัน ก่อนจะพลาดท่าแก้หนี้แบบผิดๆ จนชีวิตพังกว่าเดิม

 


ดูอย่างไรว่าตัวเองกำลังเป็นหนี้ขั้นโคม่า

ดูจากตัวเลขรายรับ-รายจ่ายแต่ละเดือน ถ้าเงินคงเหลือเป็นบวกก็เก็บเป็นเงินออมไป แต่ถ้าคำนวณแล้วติดลบ 1 ใน 3 ของรายได้ แบบนี้ถือว่าเข้าขั้นโคม่า เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท แล้วหักค่าบ้าน ค่ารถ ค่ากินอยู่ ค่าใช้จ่าย ค่าส่งคืนบัตรเครดิต ฯลฯ เสร็จปุ๊บ เราติดลบเท่าไร ถ้า 1 ใน 3 หรือ 30% ถือว่าเริ่มเข้าขั้นโคม่าแล้ว พูดง่ายๆ เหมือนเราได้เงินเดือนมา 20,000 บาท แต่ใช้จ่าย 26,000 บาท ถ้าเป็นแบบนี้เราไม่สามารถแก้ได้ด้วยการแก้หนี้ทั่วไป เช่น รีไฟแนนซ์ รวมหนี้เป็นก้อนเดียว หรือการเอาเงินส่วนต่างมาโปะเพิ่ม ต้องใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘ยาแรง’ เท่านั้น

 

รักษาภาวะโคม่าเบื้องต้น

ก่อนอื่นหลายคนที่สภาวะการเงินอยู่ในขั้นโคม่าแบบตัวอย่างข้างต้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือคนกลุ่มนี้มักจะทำตัวเองให้จมลงและหนักลงไปกว่าเดิม ฉะนั้นถ้าใครลองทำตัวเลขแล้วติดลบ 30% และไม่มีมีเงินก้อนใหญ่เข้ามาช่วยเคลียร์ในเร็วๆ นี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหา โค้ชมีคำเตือนดังนี้

 

1. หยุดก่อหนี้เพิ่มเด็ดขาด

เป็นเรื่องที่บ้ามาก ถ้ามนุษย์คนหนึ่งรู้ว่าตัวเองตกอยู่ในหลุมแล้วยังจะขุดหลุมให้ตัวเองตกลึกลงไปอีก ฉะนั้นอย่าทำให้ตัวเองแย่ลง ข้อนี้แยกกันกับการรีไฟแนนซ์ (รีไฟแนนซ์ คือการกู้เงินก้อนใหม่มาโปะเงินก้อนเก่า แล้วเงินก้อนใหม่ดอกเบี้ยต่ำกว่า อันนี้ทำได้ แต่ไม่ได้เรียกว่าการลดหนี้ คือการเปลี่ยนเจ้าหนี้เพื่อให้เรามีสภาวะทางการเงินที่ดีขึ้น) การกู้เพิ่มเพื่อเอามากินมาใช้ อย่าทำเด็ดขาด

 

2. อย่ายุ่งกับหนี้นอกระบบเด็ดขาด

ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มโคม่าและกำลังจะไปกู้เงินนอกระบบ อย่าไปใช้วงจรนี้เด็ดขาด เพราะมันคือการรีไฟแนนซ์เงินผิดวิธี เรากู้เงินที่มีต้นทุนหรือดอกเบี้ยทางการเงินที่สูงกว่าแล้วมาโปะ หรือมากินอยู่ใช้จ่ายกับดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ไม่มีทางเวิร์กแน่ๆ

 

กระบวนการจัดการของหนี้นอกระบบจะยากขึ้นมากเมื่อเทียบกับหนี้ในระบบ หนี้ในระบบคือหนี้กับสถาบันการเงินทั้ง Bank และ Non-Bank ที่จะปกป้องคุ้มครองเราได้มากกว่าหนี้นอกระบบ กระบวนการทวงหนี้ก็ไม่น่ากลัวเท่า สำคัญที่สุดคือดอกเบี้ยจะทำให้ยิ่งเหนื่อย ดอกเบี้ยในระบบประมาณ 28% ต่อปี เป็นตัวเลขที่สูงแล้วสำหรับสินเชื่อกลุ่ม Non-Bank แต่สำหรับกลุ่ม Bank ดอกเบี้ยจะต่ำลงกว่านี้ แต่ถ้าเกิดเป็นหนี้นอกระบบแล้ว ดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 10% ต่อเดือน หรือเท่ากับ 120% ต่อปีโดยประมาณ บางครั้งยังสามารถสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 5% ต่อวันเลยก็มี

เวลาการเงินเราโคม่าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเวลาโดนทวงหนี้ เรามักจะสติหลุดแล้วยอมรับเงื่อนไขอะไรก็ได้ที่ทำให้ได้เงินมาชำระแต่ละงวด อย่าทำแบบนั้น

3. ยอมรับความจริง

คนเป็นหนี้ส่วนใหญ่กลัวคนรอบตัวจะรู้ว่าเป็นหนี้ อย่างวันเงินเดือนออก เพื่อนๆ ไปเลี้ยงฉลองกัน เราเจ็บปวดอยู่ แต่บอกใครไม่ได้ว่าเป็นหนี้ เลยต้องไปสนุกสนานเฮฮากับเขา แล้วก็มีรายจ่ายทางการเงินจนเจ็บหนักเหมือนเดิม บางคนเศร้าหนักถึงขนาดบอกคนในครอบครัวไม่ได้ เก็บความลับไว้อยู่คนเดียว บางคนเลี้ยงคนในครอบครัวอย่างสมบูรณ์พูนสุขมาตลอด แล้วกลัวว่าคนในครอบครัวต้องลดระดับคุณภาพชีวิตก็รู้สึกผิดกับตัวเอง เลยพยายามจะไม่บอกคนอื่น บอกได้เลยว่ามีแต่เจ็บกับเจ็บอย่างเดียว บางคนไม่กล้าพูดกับสถาบันการเงินโดยตรง รู้สึกว่าการยอมรับว่าไม่ไหวถึงขั้นต้องเจรจากับธนาคารเป็นความพ่ายแพ้ เป็นคนใช้ไม่ได้ ดูแลตัวเองและคนอื่นไม่ได้

 

การเงินเป็นส่วนหนึ่งของมิติชีวิต เวลาเราทำงานแล้วไม่เจริญก้าวหน้าก็มีความทุกข์ในใจประมาณหนึ่ง เงินก็สร้างความทุกข์ให้กับคนในแบบเดียวกัน พอการเงินมีปัญหา หลายคนก็จะรู้สึกว่าตัวเองแย่ ไม่ภูมิใจในตัวเอง แต่อยากบอกว่าวิธีการยอมรับความจริงและเดินเข้าไปพูดคุยกับธนาคารอาจจะเป็นความพ่ายแพ้ แต่มันอาจจะเป็นเหมือนคำพูดที่ว่า ‘เราอาจแพ้ศึก แต่เราชนะสงครามได้’

 

ถ้าวันนี้เราตกอยู่ในหลุมของหนี้ เราอาจต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาตั้งแต่ยอมรับความจริง ค่อยๆ ปิดหนี้ไปทีละเล็กละน้อยจนหนี้หมด เราก็สามารถกลับมามีชีวิตทางการเงินที่ดีได้ และคนที่ผ่านการแก้หนี้มาอย่างถูกต้อง ไม่มีใครกลับไปเป็นหนี้เหมือนเดิม ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ใจความอันดับแรกคือเราต้องยอมความจริง คนอื่นเขารู้แล้วจะมองว่าเราเป็นคนไม่น่าคบ กลัวเราจะยืมเงินก็ต้องปล่อยไป ถ้าเราผ่านไปได้ก็จะแกร่งขึ้นและไม่กลับมาผิดพลาดทางการเงินเหมือนเดิม

 

ใช้ยาแรงที่ผิดเหมือนเอายาพิษมารักษาหนี้

โค้ชไปสำรวจเจอวิธีแก้หนี้ของหลายๆ กูรูที่ชอบแนะนำกันในยุคนี้ มีทั้งถูกและผิด เราจะมาว่าถึงวิธีที่ผิดก่อน เป็นวิธีที่ไม่แนะนำให้ไปยุ่งกับมันเลย ได้แก่

 

1. ถอนเงินเกษียณออกมาใช้หนี้

เงินเก็บ หรือเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จุดประสงค์ไว้กินใช้ตอนเกษียณ บางคนแนะนำให้เอาเงินส่วนนี้มาใช้ก่อน โค้ชเองก็เคยใช้วิธีนี้ แต่อยากบอกว่าอย่าทำ เพราะถ้าเราเป็นหนี้ในระบบ ไม่ได้หมายความว่าเราจะโดนยึดทรัพย์ได้ง่ายๆ มันมีขั้นตอนของมัน กระบวนการจะเริ่มจากเราไม่จ่ายเงินเขา พอเราผิดนัด ธนาคารก็มาติดตามทวงถาม เราไม่มีก็ไม่จ่ายเขา เขาก็จะตีว่าเราเป็นหนี้เสีย มีระยะดำเนินการของเขา สุดท้ายปลายทางเขาก็ต้องยื่นฟ้องถ้าเราหาเงินมาให้เขาไม่ได้จริงๆ ตอนฟ้องเขาก็จะส่งหมายศาลมาที่บ้านหรือสถานที่ตามในบัตรประชาชน จากนั้นเราก็มีหน้าที่ไปศาล คนที่โดนยึดทรัพย์มักจะเป็นกลุ่มที่เพิกเฉย หรือเลี่ยงไม่ไปตามนัด เราเบี้ยวเงินคือการผิดสัญญาอยู่แล้ว เราไม่ไปศาลก็ไม่ได้มีการเจรจาตกลงอะไร เวลาโจทก์ยื่นขออะไร ศาลก็ให้ตามนั้น

 

จริงๆ เราสามารถเจรจาได้ถึงนาทีสุดท้าย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วเขาจะมายึด อยากให้ใจเย็นๆ ลองนึกภาพดีๆ ว่าเงินสำรองตรงนั้นมีอยู่ไม่มาก เหมือนกับการขายผ้าเอาหน้ารอด กระบวนการแก้หนี้จริงๆ ยังไม่เกิด ที่แย่ที่สุดคือการที่เราเป็นหนี้หนัก ถูกติดตามทวงถามแล้วก็ไม่เหลือเงินเก็บไว้เลย สุดท้ายมันกระทบกับความภูมิใจในชีวิต

 

2. เอาบ้านปลอดภาระของพ่อแม่เข้าธนาคารอีกครั้ง

พอได้เงินก้อนมาก็ใช้โปะหนี้ เขาจะบอกว่าดอกเบี้ยบ้านไม่สูง แค่ 5-7% เมื่อเทียบกับบัตรเครดิตที่สูงก็คุ้มค่ากว่า คิดว่าเป็นการรีไฟแนนซ์ เหมือนจะดูดี โค้ชขอเล่าผ่านเรื่องราวของเคสนี้ น้องคนหนึ่งอายุ 20 กว่าปี เป็นหนี้หลักล้าน โค้ชก็แนะนำเขาเป็นขั้นตอน แต่เขารู้สึกว่าวิธีนี้ช้า ต้องการวิธีแก้ที่เร็วกว่านี้ อยู่ๆ เขาก็หายตัวไปแล้วกลับมาเล่าให้ฟังว่าพ่อแม่ทนดูไม่ได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไรก็ยอมเอาบ้านไปเข้าธนาคารอีกครั้งแล้วเอาเงินมาโปะหนี้ให้ การรีไฟแนนซ์แบบนี้ไม่ได้ทำให้หนี้ลด แต่แค่เปลี่ยนเจ้าหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำลง ทำให้สภาพคล่องดีขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด ที่แย่ที่สุดคือน้องคนนี้ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และนั่นคือจุดสำคัญ เพราะเขาไม่ได้เรียนรู้ความผิดพลาดทางการเงินของตัวเองเลย เปรียบเหมือนคนที่น้ำหนักเยอะๆ แล้วไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เขาก็จะบอกขั้นตอนพื้นฐาน นั่นคือการจัดการการกิน การออกกำลังกาย แล้วค่อยๆ ทำควบคู่กันไปเพื่อให้น้ำหนักตัวค่อยๆ ลดลง การลดน้ำหนักแบบนี้เป็นวิธีการที่ถูกต้อง แต่ใช้เวลา คนส่วนใหญ่มักไม่ชอบ จนเป็นที่มาของการขายยาลดความอ้วน ทำให้ไม่ได้ทบทวนตัวเองว่าที่ผ่านมาดูแลสุขภาพไม่ดี จนทำให้วันนี้น้ำหนักเยอะ แต่การกินยาลดความอ้วนแวบเดียวน้ำหนักก็ลด แต่สุดท้ายก็จะโยโย่เอฟเฟกต์กลับมาอ้วนเหมือนเดิม เพราะยาเม็ดนั้นไม่ได้เปลี่ยนนิสัยคนคนนั้นเลย

 

ไม่ต่างอะไรกับเคสที่โค้ชเล่าไป การที่พ่อเอาบ้านมาช่วยโปะหนี้ไม่ได้เปลี่ยนนิสัยน้องคนนี้ หนี้เท่าเดิม แต่ผ่อนน้อยลง เพราะดอกเบี้ยต่ำ แล้วเขาก็กลับมาใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยแบบเดิม จุดจบที่เศร้าคือน้องคนนี้กลับไปสร้างหนี้อีกก้อนที่ใหญ่พอๆ กับก้อนแรก และสุดท้ายบ้านของพ่อแม่ที่ท่านผ่อนมาตลอดชีวิตก็หลุดลอยไป เพราะมันเต็มวงไปหมดแล้ว

 

3. ใช้เงินกู้จากทรัพย์มาโปะหรือเคลียร์หนี้

เคสนี้เป็นหนี้อยู่ 300,000-400,000 บาทจากบัตรเครดิต แล้วจ่ายขั้นต่ำอยู่ เพราะชีวิตประจำวันมีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว มีบางเพจเฟซบุ๊กแนะนำว่าถ้าเป็นหนี้ให้กู้บ้าน แล้วเอาเงินส่วนเกินมาโปะ ลองนึกภาพว่าเราค้างเขาอยู่ 300,000 บาท แล้วรู้สึกว่ามันตึงมาก เพราะขั้นต่ำ 10% คือ 30,000 บาท มีเงินเดือน 20,000 บาทก็เริ่มเดือดร้อน เพจเฟซบุ๊กเหล่านั้นก็จะชวนมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ 2,000,000 บาท และรับประกันว่าห้องตรงนี้ปล่อยเช่าได้แน่นอน การันตีค่าเช่าด้วย กระบวนการนี้อาจมีคนในธนาคารหรือฝ่ายสินเชื่อมีส่วนร่วม เพราะว่าถ้าเราซื้อทรัพย์ 2,000,000 บาท เรากู้ปุ๊บ ทีมงานตรงนี้จะทำให้เรากู้เกินได้ ส่วนต่างตรงนั้นเขาก็แนะนำให้ไปโปะหนี้ ย้ายจากหนี้บัตรเครดิต 18-28% แต่ฝั่งนี้ดอกเบี้ยประมาณ 5% แถมยังมีเงินเหลือ ฟังแล้วดูดี เพราะบ้านหลังนั้นก็ปล่อยเช่าไป แถมได้เงินส่วนต่างอีก

 

คนก็จะเข้าไปในเพจลักษณะนี้กันเยอะมาก เพราะดูเป็นไปได้และน่าเชื่อถือ แต่คิดดีๆ มันคือการที่เราเป็นหนี้จาก 300,000 บาท เป็น 2,500,000 บาท และไม่มีอะไรมาการันตีด้วยซ้ำ สุดท้ายถ้าไม่มีใครซื้อ เราก็ต้องผ่อน แล้วส่วนต่างที่คิดว่าได้มาฟรี จริงๆ แล้วมีดอกเบี้ย คนส่วนใหญ่เข้าตาจน หาทางรอดแบบตื่นเต้นไปหมด คนแก้หนี้พยายามใช้วิธีนี้กันเยอะมาก เพราะทำให้เครดิตยังไม่เสีย ยังกัดฟันส่งขั้นต่ำไปแล้วเอานอกระบบมาช่วยโปะ

 

ปกติคนที่กู้ซื้อบ้านจะได้ประมาณ 90-95% ของราคาบ้าน แต่การกู้ที่มีส่วนเกิน มีบางเคสที่ทำได้ แต่ไม่บ่อย เคสแบบนี้เรียกว่า Over Finance ไม่แน่ใจว่าเอาสินเชื่อบ้านมาบวกกับสินเชื่อตกแต่งด้วยหรือเปล่า ทำให้ได้ส่วนต่างตรงนี้มา หรือไม่ก็ต้องทุจริต

 

เพจพวกนี้มาช่วยเพราะว่า หนึ่ง ทรัพย์เป็นของเขา เขาอาจจะซื้อมาราคาเท่าไรไม่รู้ แต่คุณซื้อไปในราคาที่หนักหน่วงกว่าเยอะ อาจจะเป็นนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ก็ได้ เขาได้ประโยชน์ตรงนี้ สอง บางกลุ่มได้ประโยชน์จากเงินส่วนเกินด้วย เมื่อคุณเดือดร้อนมาก เวลาเขานัดไปทำสัญญาอะไร เขาบอกให้เซ็นอะไรคุณก็เซ็นหมด เป็นไปได้ว่าเขากู้มาเกินกว่านั้น แล้วเขาได้ค่าน้ำจิ้มต่อเคสตั้งแต่แรกแล้ว

 

ส่วนใหญ่เราจะพบเคสการกู้บ้านลักษณะนี้ด้วยการบอกว่า กู้บ้าน 0 บาท กู้บ้านเคลียร์หนี้ อยากฝากให้ทุกคนระมัดระวัง ทุกครั้งถ้าเจออะไรแบบนี้ ลองใช้สามัญสำนึกที่ไม่ค่อยทำงานตอนเรางง ลองนึกดูว่าทำไมมีคนใจดีแบบนี้บนโลก แล้วเขาได้อะไรกับการทำแบบนี้

ทุกคนอยากให้หนี้หมดเร็ว โค้ชถามกลับไปทุกครั้งว่าก่อนที่การเงินจะเละขนาดนี้ใช้เวลานานไหม ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่า 2-3 ปี เช่นกัน การแก้หนี้ก็ใช้เวลาไม่ต่างกัน


ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน



Credits


The Host
จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X