วานนี้ (10 สิงหาคม) กรุงเทพมหานคร เข้ารับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งในปีนี้มีหน่วยงานเข้ารับการประเมินรวมทั้งสิ้น 8,323 หน่วยงาน
สำหรับผลการประเมิน ITA 2566 กรุงเทพมหานครได้คะแนนเฉลี่ย 88.98 อยู่ในระดับผ่าน ผลการประเมินอยู่ในลำดับที่ 2 ของหน่วยงานประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ลำดับที่ 1 ของหน่วยงานประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษคือ เมืองพัทยา ได้ 98.94 คะแนน
โดยมีผลการประเมินรายเครื่องมือ ดังนี้ เครื่องมือ IIT แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน ได้ 82.44 คะแนน เครื่องมือ EIT แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกส่วนที่ 1 ได้ 79.40 คะแนน เครื่องมือ EIT ส่วนที่ 2 ได้ 82.24 คะแนน และเครื่องมือ OIT แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะได้ 100.00 คะแนน
สำหรับสรุปผลการประเมินรายตัวชี้วัดของ กทม. มีคะแนนดังนี้
- ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ 92.27
- ตัวชี้วัดที่ 2 การใช้งบประมาณ 77.83
- ตัวชี้วัดที่ 3 การใช้อำนาจ 85.85
- ตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ 77.95
- ตัวชี้วัดที่ 5 การแก้ไขปัญหาการทุจริต 78.31
- ตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน 82.88
- ตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร 81.22
- ตัวชี้วัดที่ 8 การปรับปรุงการทำงาน 78.37
- ตัวชี้วัดที่ 9 การเปิดเผยข้อมูล 100.00
- ตัวชี้วัดที่ 10 การป้องกันการทุจริต 100.00
ส่วนผลการประเมิน ITA 2566 ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน มีทิศทางแนวโน้มดีกว่าปีที่ผ่านมา 2.62 คะแนน เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีผลคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนน หรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6,737 หน่วยงาน จากทั้งหมด 8,323 หน่วยงาน คิดเป็น 80.94% โดยเป็นทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.42%
ในการแถลงข่าวประกาศผลครั้งนี้ มีการสรุปหน่วยงานรัฐที่ได้คะแนนสูงสุดในปีงบประมาณ 2566 โดยแบ่งเป็นกลุ่มแต่ละประเภท ดังนี้
- ศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในรัฐสภาที่ได้คะแนนสูงสุดคือ สำนักงานศาลปกครอง ได้คะแนนเฉลี่ย 97.74 คะแนน จัดอยู่ในระดับผ่านดี เพราะยังไม่ผ่านทั้ง 3 เครื่องมือชี้วัด
- ส่วนราชการระดับกรมที่ได้คะแนนสูงสุดคือ กรมการปกครอง ได้ 99.03 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดี เพราะไม่ผ่าน 3 เครื่องมือชี้วัดเช่นกัน
- รัฐวิสาหกิจที่ได้คะแนนสูงสุดคือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ 99.35 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดีเยี่ยม เพราะผ่าน 3 เครื่องมือ
- องค์การมหาชนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ได้ 98.06 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดี
- หน่วยงานอื่นของรัฐที่ได้คะแนนสูงสุดคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้ 98.48 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดี
- กลุ่มกองทุนที่ได้คะแนนสูงสุดคือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้ 95.77 คะแนน อยู่ในระดับผ่าน
- สถาบันอุดมศึกษาที่ได้คะแนนสูงสุดคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี คะแนน 98.37 คะแนน อยู่ในระดับผ่านดีเยี่ยม เพราะผ่าน 3 เครื่องมือ
- กลุ่มราชการส่วนภูมิภาคหรือจังหวัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือ จังหวัดแพร่ ได้ 99.72 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กทม. และเมืองพัทยา) ที่ได้คะแนนสูงสุด คือ อบจ.ยโสธร ได้ 99.43 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
- กลุ่มเทศบาลนครที่ได้คะแนนสูงสุดคือ เทศบาลนครสกลนคร ได้ 98.10 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
- กลุ่มเทศบาลเมืองที่ได้คะแนนสูงสุดคือ เทศบาลเมืองบางระจัน ได้ 99.63 คะแนน ผ่านดีเยี่ยม
- กลุ่มเทศบาลตำบลที่ได้คะแนนสูงสุดคือ เทศบาลตำบลตะกุด จังหวัดสระบุรี ได้ 99.81 ผ่านดีเยี่ยม
- กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประมาณ 5,700 แห่ง ที่ได้คะแนนสูงสุดคือ อบต.ลาดกระทิง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อบต.โคกเจริญ จังหวัดพังงา ได้คะแนนเท่ากัน 99.79 คะแนน ผ่านดีเยี่ยมทั้ง 2 อบต.