×

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติส่งสัญญาณชัด นโยบายดอกเบี้ยไทยถึงจุดเปลี่ยน มองรอบหน้าไม่ ‘คง’ ก็ ‘ขึ้น’ แต่ยังไม่ถึงเวลา ‘ลง’

09.08.2023
  • LOADING...
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้นโยบายการเงินไทยถึงจุดเปลี่ยนจาก Smooth Takeoff เป็น Landing แล้ว มองดอกเบี้ยรอบหน้าไม่ ‘คง’ ก็ ‘ขึ้น’ แต่ไม่ ‘ลง’ แน่นอน เตรียมหั่นประมาณการณ์ GDP ไทยปีนี้ลงต่ำกว่า 3.6%

 

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจการเงินไทย’ ว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ที่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามศักยภาพการเติบโตที่ระดับ 3-4% แล้ว ขณะที่เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับต่ำและในระยะยาวมีแนวโน้มจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% ซึ่งเป็นบริบทที่แตกต่างจากในปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัวและมีบางช่วงที่เงินเฟ้อเร่งตัวแรงขึ้นไปเกือบ 8% ทำให้โจทย์การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. แตกต่างไปจากเดิม และจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับบริบทใหม่

 

“ในแถลงการณ์ล่าสุดของ กนง. มีการปรับภาษา ถอดคำพูดเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปออกไป ซึ่งสะท้อนว่าเรามาถึงจุดเปลี่ยนทางนโยบายจาก Smooth Takeoff มาเป็น Landing แล้ว ไม่จำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเหมือนในช่วงที่ผ่านมา แต่เปิดให้มี Optionality หรือทางเลือกว่าจะขึ้นต่อหรือคงไว้ที่เดิมได้ในรอบหน้า ขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ออกมาเป็น Outlook Dependent แต่ที่แน่ๆ คือดอกเบี้ยจะยังไม่ลงเพราะภาวะเศรษฐกิจยังไม่เอื้อ” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว

 

เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. จะไม่โอนเอนไปตามข้อมูลในระยะสั้นหรือ Noises แต่ข้อมูลต่างๆ จะถูกนำมาวิเคราะห์ว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ได้คาดการณ์เอาไว้หรือไม่ โดย 3 เรื่องสำคัญที่จะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. คือ

 

  1. ต้องเอื้อให้เศรษฐกิจเติบโตได้ในระดับศักยภาพในระยะยาว ซึ่งปัจจุบันการเติบโตที่ระดับ 3-4% ถือว่าเหมาะสมและเป็นไปตามศักยภาพแล้ว หากโตเร็วกว่านี้อาจเกิดปัญหาเนื่องจากไทยมีโครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

 

  1. ต้องดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ได้อย่างยั่งยืน

 

  1. ดอกเบี้ยจะต้องไม่ไปสร้างปัญหาเชิงโครงสร้างหรือก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในปัจจุบันที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการคงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน โดยวิธีทำให้สมดุลคือการปรับดอกเบี้ยแท้จริงให้กลับมาเป็นบวก

 

อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ธปท. เน้นย้ำว่า Terminal Rate หรือระดับดอกเบี้ยสูงสุดของรอบของไทยไม่จำเป็นต้องอยู่ในระดับสูงกว่า Neutral Rate หรืออัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางต่อระบบเศรษฐกิจ เหมือนกับในต่างประเทศ เพราะบริบทเศรษฐกิจมีความต่างกัน เศรษฐกิจไทยไม่ได้ขยายตัวร้อนแรงจนเกินศักยภาพ และเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในระดับสูงและไม่ได้มีแรงขับเคลื่อนจากฝั่งอุปสงค์ 

 

เศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า การพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายทุกครั้งจะมีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางด้วย แต่การขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความจำเป็น เพราะหากปล่อยให้เงินเฟ้อติดเครื่องความเสียหายกับลูกหนี้จะรุนแรงมากกว่า

 

เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบันที่มียอดคงค้างอยู่ราว 16 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6% ต่อ GDP ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงเกินกว่าระดับเฝ้าระวังที่ 80% ต่อ GDP ตามที่ Bank for International Settlements (BIS) กำหนดไว้ในปี 2567 ธปท. จะเริ่มบังคับใช้มาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ที่รวมถึงการดูแลปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ไม่สามารถปิดจบได้

 

โดยนอกจาก 2 มาตรการข้างต้นแล้ว ธปท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางอื่นๆ เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือนเพิ่มเติมควบคู่ไปด้วย เช่น การทดสอบโครงการ Sandbox ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ (Risk-Based Pricing: RBP) และการกำหนดภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) ซึ่งมาตรการ RBP จะเป็นกลไกช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงเกินกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบันสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือมีประวัติการชำระหนี้ดีจะมีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกว่าเพดานดอกเบี้ยปัจจุบัน 

 

“มาตรการ DSR อาจมีนัยต่อการเติบโตและการเข้าถึงสินเชื่อบ้าง แต่เราจะดูบริบททางเศรษฐกิจก่อนบังคับใช้ด้วย การจะแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ไม่อยากให้หนี้โตคงไม่สามารถจะเลี่ยงผลกระทบต่อ Growth ของสินเชื่อได้ทั้งหมด แต่เราจะดูเงื่อนไขและความยืดหยุ่นต่างๆ ให้มีความเหมาะสมและค่อยเป็นค่อยไป” เศรษฐพุฒิกล่าว 

 

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ธปท. ยังให้ความเห็นถึงแนวโน้มหนี้เสียหรือ NPL ในระบบว่าในระยะข้างหน้าหนี้เสียมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้จะหมดไป ทำให้กลุ่มหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special​ Mention Loan) หรือหนี้ที่มีการค้างชำระ​ 31-90 วันบางส่วนอาจไหลมาเป็นหนี้เสีย แต่เชื่อว่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นกลายเป็นหน้าผาจนกระทบเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

 

“ไม่ใช่ทั้งหมดของหนี้กลุ่ม SM ที่จะไหลไปเป็น NPL เช่น กรณีสินเชื่อบ้าน เราพบว่า Migration Rate ที่ไหลไปเป็น NPL ปัจจุบันอยู่ที่ 22% ลดลงจากในช่วงก่อนหน้าที่สูงถึง 32% ขณะที่การไหลกลับไปเป็นหนี้ปกติกลับมีสูงถึง 30% ในภาพรวมเราคงเห็น NPL เพิ่มขึ้น แต่จะไม่ได้สูงจนน่ากังวล เพราะกลุ่มลูกหนี้ที่เข้าโครงการช่วยเหลือแล้วจะได้รับความช่วยเหลือตามเงื่อนไขต่อไป แม้ว่ามาตรการจะหมดอายุแล้วก็ตาม” เศรษฐพุฒิระบุ

 

ท้ายสุด ผู้ว่าฯ ธปท. ยังให้ความเห็นถึงสถานการณ์ทางการเมืองไทยว่า ขณะนี้มีหลายคนที่กังวลว่าการตั้งรัฐบาลล่าช้าจะมีผลกับการจัดทำงบประมาณจนกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่ในส่วนของ ธปท. ไม่ได้เป็นห่วงประเด็นดังกล่าวมากนัก เพราะในสมมติฐานทางเศรษฐกิจของ ธปท. ได้ใส่เรื่องนี้เข้าไปในประมาณการแล้ว โดยมองว่าส่วนที่จะกระทบไม่ใช่งบประจำแต่เป็นงบลงทุนใหม่ ซึ่งตัวเลขไม่ได้สูงจนทำให้ภาพเศรษฐกิจในปีนี้เปลี่ยน

 

“ปัจจุบันเรายังเห็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่อง แต่บางช่วงตัวเลขที่ออกมาอาจต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่ชะลอลง ดังนั้น อาจเห็นการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงจากประมาณการเดิมที่ 3.6% แต่จะอยู่ในระดับ 3% กลางๆ บวกลบ” เศรษฐพุฒิกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่คิดว่าน่ากังวลมากกว่าไม่ใช่ความล่าช้าในการตั้งรัฐบาล แต่เป็นทิศทางการกำหนดนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพราะทั่วโลกตอนนี้ให้ความสำคัญกับการทำนโยบายไม่บั่นทอนเสถียรภาพหรือสร้างความผิดเพี้ยนให้กับตลาด ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีที่รัฐบาลอังกฤษประกาศจะทำนโยบายต่างๆ แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าเอาเงินมาจากไหนจนส่งผลต่อความเชื่อมั่น และล่าสุดสหรัฐฯ ก็ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากปัญหาด้านเสถียรภาพทางการคลัง 

 

“สิ่งที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ คือไม่อยากเห็นการทำนโยบายที่ไปบั่นทอนเสถียรภาพ เข้าใจว่ารัฐบาลใหม่คงต้องมีนโยบายแนวประชานิยมบ้าง ถ้ายังอยู่ในกรอบ ไม่มากเกินไป มีวิธีหาเงินมารองรับที่ชัดเจนก็โอเค แต่ถ้ามากไปก็น่าห่วง” ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X