ภายใต้บรรยากาศอันน่ายินดีปรีดาที่ Barbie (2023) และ Oppenheimer (2023) สร้างปรากฏการณ์ทำรายได้รวมกันมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาอันสั้น และมีคนออกไปแห่ชมภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมากถึง 200,000 คนในวันเดียวกัน จนส่งผลให้โรงภาพยนตร์กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง หลังจากที่โควิดทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เงียบเหงามานาน
แต่อีกด้านท่ามกลางความสำเร็จอย่างงดงามในรอบหลายปี ‘นักเขียนบท’ ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญของงาน กลับต้องออกมาประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมในมิติต่างๆ ให้กับตัวเอง โดยเฉพาะในแง่ของค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผล การใช้ AI และคุณภาพชีวิตที่สวนทางกับการเติบโตรุดหน้าของอุตสาหกรรมสตรีมมิงอันเนื่องมาจากความนิยมของผู้คนในช่วงที่ผ่านมา
หากดูจากสถิติที่เคยถูกประเมินไว้โดย สำนักงานสถิติแรงงาน (Bureau of Labor Statistics-BLS) จะพบว่าในอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่อย่างฮอลลีวูดที่มีเงินสะพัดมากมายมหาศาล คนทำงานเขียนบทกลับมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่แค่ 69,510 ดอลลาร์ต่อปี หรือถ้าคิดเป็นรายชั่วโมงก็ตกราวๆ 33.42 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ทั้งนี้ รายได้ที่ว่าก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่างๆ ขึ้นอยู่กับประเภทของงานและสัญญาที่ตกลงกันไว้ระหว่างนายจ้างกับผู้รับงานด้วย
ภาพ: Mario Tama / Getty Images
แต่ถึงอย่างนั้น อุตสาหกรรมบันเทิงโดยเฉพาะสื่อภาพยนตร์ก็ยังคงมีหนทางในการทำเงินอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านแนวคิดเรื่องการดูภาพยนตร์ในโรงมาเป็นระบบบริการสตรีมมิงแทน ส่งผลให้อุตสาหกรรมสตรีมมิงสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำมากถึง 162 พันล้านดอลลาร์ และมีทีท่าว่าจะเติบโตขึ้นอย่างมากในอนาคต กระนั้น ท่ามกลางการเติบโตที่ว่า คุณภาพชีวิตของคนเขียนบทกลับไม่เคยดีขึ้นแม้แต่นิดเดียว ซึ่งสวนทางกับความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง
ไหนจะต้องเจอกับมรสุมที่สตูดิโอเริ่มมีแนวโน้มหันมาใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการเขียนบทแทนที่มนุษย์เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยเหตุนี้ ฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงกับความอดทนของแรงงานในฮอลลีวูดจึงขาดสะบั้นลง เพราะนอกจากจะไม่ให้ค่ากับความคิดสร้างสรรค์แล้ว บางคนถึงขั้นบอกว่า นี่เป็นการดูถูกศิลปะอย่างที่สุด ส่งผลให้เรื่องนี้กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้การประท้วงไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่นักเขียนอีกต่อไป แต่ลามไปถึงดารานักแสดง และผู้กำกับมากมายที่ต้องออกมาวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งหยุดงานเพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเหล่าบรรดานายทุนที่คิดจะเอารัดเอาเปรียบพวกเขา
ภาพ: Michael M. Santiago / Getty Images
จุดเริ่มต้นของการประท้วงเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อสมาคมนักเขียนบทแห่งอเมริกา (Writers Guild of America-WGA) ที่มีสมาชิกมากกว่า 20,000 คนได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมกับคู่กรณีอย่าง สมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Alliance of Motion Picture and Television Producers-AMPTP) ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของสตูดิโอที่ผลิตสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งในอเมริกา
โดย WGA ได้ยื่นข้อเสนอให้กับทาง AMPTP ด้วยกันหลายข้อ แต่ในรายละเอียดของภาพรวมมี 2 เรื่องที่น่าจับตามองคือ
1. การเพิ่มค่าแรง
การเติบโตของสตรีมมิงที่สวนทางกับค่าจ้างที่นักเขียนบทสมควรจะได้รับ หากดูจากข้อมูลทางสถิติที่สมาคมนักเขียนบทฯ ได้มีการคำนวณค่าเงินเฟ้อเข้าไปจะพบว่าค่าจ้างของนักเขียนลดลงไปถึง 14% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ เงินเดือนเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของนักเขียน-โปรดิวเซอร์ลดลงมากถึง 23% ในรอบทศวรรษ ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อแรงงานส่วนใหญ่โดยตรงจนต้องออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าจ้างที่พวกเขาได้รับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตอีกต่อไป และต้องการที่จะให้ทางสตูดิโอเพิ่มรายได้ให้แก่นักเขียนทุกคนในสมาคม จาก 86 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็น 429 ล้านดอลลาร์ต่อปี
แต่ใจความหลักของข้อเรียกร้องนี้อยู่ตรงที่ รายได้ปันผลที่ทางนักเขียนบทควรจะได้รับเมื่อมีการนำผลงานของพวกเขากลับมาฉายหรือผลิตซ้ำ ซึ่งสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ หรือรายการอะไรก็ตามที่พวกเขามีส่วนร่วมในการเขียนบท เมื่อมันถูกนำมาฉายซ้ำอีกครั้งบนแพลตฟอร์มอื่นๆ พวกเขาก็จะได้รับส่วนแบ่งในฐานะผู้สร้างด้วย แต่เพราะการมาถึงของสตรีมมิงทำให้รายได้ในส่วนนี้ต้องเป็นอันหดหายไป เนื่องจากสตรีมมิงหลายเจ้าเลือกที่จะตัดตรงส่วนนี้ออก
2. การทำงานร่วมกับ AI
ปัญญาประดิษฐ์มีอิทธิพลต่อวงการฮอลลีวูดอย่างมาก และสตูดิโอก็มีทีท่าว่าจะใช้สิ่งเหล่านี้มาช่วยเขียนบทแทนที่มนุษย์ โดยเฉพาะเหล่าบรรดาบทภาพยนตร์และซีรีส์มากมายที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต ด้วยเหตุนี้ WGA จึงต้องการให้ทางสตูดิโอตกลงกับนักเขียนว่าจะต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างไร ภายใต้มาตรการป้องกันเกี่ยวกับการใช้งานและระเบียบข้อบังคับที่ตกลงกันไว้
ภาพ: Spencer Platt / Getty Images
แต่จนแล้วจนรอดคำขอของ WGA ก็ถูกตีตกไปอย่างไร้เยื่อใยในช่วงที่พวกเขามาออกประท้วงเป็นกลุ่มแรก ทำให้สมาคมผู้กำกับแห่งอเมริกา (Directors Guild of America-DGA), สมาคมแรงงานภาพยนตร์และละครเวที (International Alliance of Theatrical and Stage Employees-IATSE), สมาคมนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ (Screen Actors Guild-SAG) และสมาพันธ์ศิลปินโทรทัศน์และวิทยุอเมริกัน (SAG-AFTRA) ที่มีสมาชิกรวมกันมากถึง 160,000 คน ประกอบไปด้วยนักแสดง สตันท์แมน ศิลปิน นักพากย์เสียง และนักแสดงประกอบ ต้องออกมาผนวกกำลังกันเพื่อปกป้องคุณภาพชีวิตของคนทำงาน
ในเดือนกรกฎาคม การประท้วงเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อการออกมาของแรงงานจำนวนมากทำให้อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนของฮอลลีวูดต้องเป็นอันหยุดชะงักลงอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 1960 ซึ่งเป็นการนัดหยุดงานครั้งแรกเพื่อเรียกร้องให้ยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเขียน และปี 2007 ที่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกับครั้งนี้ นั่นคือ การที่นักเขียนจำนวนมากออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้เกิดการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยการมาถึงของแพลตฟอร์มยอดนิยมในช่วงเวลานั้นอย่าง DVD และนับเป็นการประท้วงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมฮอลลีวูดอย่างมหาศาลทั้งในแง่ของรายได้และภาพลักษณ์
ทั้งนี้ ท่ามกลางการประท้วงอันร้อนระอุ Bob Iger ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Disney ออกมาตอบคำถามถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เรื่องนี้รบกวนจิตใจผมอย่างมาก การเรียกร้องค่าแรงและเงื่อนไขการทำงานที่เป็นธรรมของสมาคมไม่น่าจะเป็นจริงได้ เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่มีความสมเหตุสมผลเอาเสียเลย” ซึ่งทันทีที่คำพูดเหล่านี้ออกสู่สาธารณชนก็สร้างความไม่พอใจให้กับนักเขียนและแรงงานในส่วนอื่นเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ สตูดิโอหลายแห่งในฮอลลีวูดและสตรีมมิงเจ้าต่างๆ ยังเริ่มพิจารณายุติสัญญาแบบ First Look Deal (สัญญาที่ทำขึ้นเพื่อให้สตูดิโอพิจารณาก่อนว่าจะอนุมัติให้ทำโปรเจกต์นี้หรือไม่ ถ้าไม่ผู้สร้างสามารถนำไปเสนอที่อื่นได้) และ Overall Deal (สัญญาที่ทำขึ้นเพื่อพัฒนาบทให้สตูดิโอที่เป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว) ในบางสัญญากับนักเขียน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อไร การตัดสินใจของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อนักเขียนอย่างมาก
Bryan Cranston ขณะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมการประท้วงนัดหยุดงาน
ภาพ: NDZ / Star Max / GC Images
นักแสดงหลายคนที่ให้การสนับสนุนนักเขียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงออกมาแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เช่น Bryan Cranston นักแสดงขวัญใจจากซีรีส์ Breaking Bad (2008-2013) ที่ออกมาพูดถึงกรณีของ Bob Iger ว่า “เราไม่ได้คาดหวังให้คุณเข้าใจ แต่เราขอให้คุณรับฟัง และจงรู้ไว้ว่าเราจะไม่ทิ้งงานของตัวเองให้กับปัญญาประดิษฐ์เป็นอันขาด เราจะไม่ให้คุณเอาสิทธิในการทำงานหาเลี้ยงชีพที่ดีของเราไป และที่สำคัญที่สุดคือ เราจะไม่ยอมให้คุณมาพรากศักดิ์ศรีของเราไป!”
Brian Tyree Henry นักแสดงจาก Eternals (2021) และ Bullet Train (2022) ให้สัมภาษณ์ในทำนองเดียวกันผ่านสื่อว่า “ทุกคนควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม ผมอยากให้เหล่านักเขียนได้รับในสิ่งที่สมควรจะได้ และหวังว่าผู้คนจะรับฟังพวกเขา”
Matt Damon นักแสดงชื่อดังเองก็ออกมาพูดถึงกรณีนี้เมื่อครั้งตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมงานเปิดตัวภาพยนตร์ Oppenheimer (2023) ที่ลอนดอน โดยระบุว่า “นี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับนักแสดงที่ทำงานทุกคนจริงๆ มีคนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองด้านสุขภาพเพียงเพราะพวกเขาไม่มีเงินหรือกำลังหาเงินมาจ่าย ซึ่งเรื่องที่ผมพูดไม่ใช่แบบฝึกหัดทางวิชาการ แต่เป็นชีวิตจริงและความตายของผู้คน ผมหวังว่าเราจะได้ข้อยุติในเร็ววัน”
ก่อนหน้านี้ แม้นักแสดงอย่าง Tom Cruise ที่แสดงจุดยืนอยู่ข้างเดียวกับคนทำงานจะออกมาเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่าย ด้วยการขอให้ AMPTP ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประท้วง รวมทั้งยังบอกอีกว่าควรเพิ่มสวัสดิการต่างๆ เหล่านี้ให้ครอบคลุมไปถึงนักแสดงแทนหรือสตันท์แมนด้วย เนื่องจากใน SAG-AFTRA มีผู้ที่ประกอบอาชีพนี้อยู่เป็นจำนวนมาก และพวกเขาก็กังวลว่าทางสตูดิโอจะหันมาใช้ AI แทนที่สตันท์แมนอาชีพเหมือนกับในกรณีของนักเขียนบท แต่ท้ายที่สุดแล้ว การเจรจาระหว่างเขากับสตูดิโอก็ไม่เป็นผล
ถึงแม้ภายหลังข้อตกลงเรื่องการเพิ่มค่าแรงจะมีการตอบรับจาก AMPTP แต่สิ่งที่ได้รับมานั้นกลับไม่ถึงครึ่งหนึ่งของข้อเรียกร้องเสียด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ในส่วนของการใช้ AI สร้างงานแทนมนุษย์ ทางสตูดิโอก็ออกมาปฏิเสธอย่างเสียงแข็ง โดยไม่มีการเจรจาทางเลือกอื่นให้กับคนทำงาน ด้วยเหตุนี้ไฟของการประท้วงจึงยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เพราะแทนที่นายทุนจะหันมาจับมือกับแรงงานเพื่อหาทางออกที่เป็นธรรมให้แก่ทุกฝ่าย พวกเขาเหล่านั้นกลับเลือกหนทางที่ต่างออกไปโดยไม่ฟังเสียงเรียกร้องของใครทั้งสิ้น
ภาพ: David McNew / Getty Images
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ส่งผลกระทบต่อฮอลลีวูดอย่างมหาศาล เพราะไม่ได้มีเพียงแค่ภาพยนตร์เท่านั้นที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ แต่ยังมีสื่ออื่นๆ อย่างซีรีส์ และรายการโทรทัศน์ด้วยที่ต้องเลื่อนตารางงานหรือกำหนดการเดิมออกไป หากการประท้วงยังคงยืดเยื้อไปถึงช่วงสิ้นปีอย่างที่หลายคนคาดการณ์กัน
แต่หากประเมินจากสถานการณ์ในปัจจุบัน การที่ AMPTP ยังคงดื้อดึงไม่ยอมหันหน้ามาพูดคุยเพื่อหาทางออกกับ WGA และ SAG-AFTRA อาจเป็นเพราะหากพวกเขาตอบรับข้อเรียกร้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ หรือแม้แต่ AI เมื่อไร ทาง AMPTP จะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่พวกเขาตั้งใจปิดบังเอาไว้ นั่นคือจำนวนตัวเลขของผู้เข้าชมคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิงต่างๆ ซึ่งถ้าตีเป็นเม็ดเงินอาจมากกว่าข้อเรียกร้องที่เหล่าคนทำงานต้องการหลายเท่าตัว และด้วยข้อมูลนี้เองอาจทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจการต่อรองจนต้องลงเอยกับความพ่ายแพ้ในที่สุด
ภาพ: Amanda Edwards / Getty Images
อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปถอดบทเรียนการประท้วงช่วงยุคทองของ DVD จะพบว่าข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องเงินคือ การทำระบบที่สามารถชี้วัดจำนวนผู้ชมได้อย่างชัดเจนและโปร่งใส เพียงแต่ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่ ยาก และซับซ้อนกว่าครั้งที่ผ่านมามาก เพราะในยุคนั้นการซื้อภาพยนตร์สักเรื่องจะอยู่ในรูปแบบที่คนซื้อได้ภาพยนตร์เรื่องนั้นเพียงแค่เรื่องเดียว แม้จะดูได้ไม่จำกัดรอบเหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ตรงที่ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในยุคนี้ล้วนผูกติดกับระบบบริการสตรีมมิงที่คนดูเข้าถึงได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น การที่พวกเขาสามารถดูภาพยนตร์กี่เรื่องและกี่รอบก็ได้ด้วยการจ่ายเงินเพียงแค่ครั้งเดียวจึงเป็นเรื่องที่หากคำนวณกำไรขาดทุนเข้าไป สิ่งที่ปรากฏอาจเป็นจำนวนเงินมหาศาลที่ทางสตูดิโอต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้สร้างที่เป็นเจ้าของผลงาน
ด้วยเหตุนี้ การเปิดเผยตัวเลขของผู้ชมอย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่มีสตูดิโอไหนอยากทำ เพราะนอกจากจะเกี่ยวพันกับเรื่องของการเงินโดยตรง ข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงต้องเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ครั้งใหญ่ด้วยการที่สตูดิโอจะต้องร่างสัญญาที่เป็นธรรมให้แก่คนทำงานทุกฝ่าย โดยที่ไม่สามารถอ้างอะไรได้อีกต่อไป
แม้ ณ เวลานี้การประท้วงนัดหยุดงานที่เกิดขึ้นในฮอลลีวูดจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดสำหรับทุกฝ่าย แต่การแสดงสัญลักษณ์ร่วมกันของแรงงานในครั้งนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกจับจ้องโดยสายตาของคนทั่วโลกไปแล้ว เพราะปัญหาที่พวกเขาประสบพบเจอเป็นเรื่องที่คนทำงานตัวเล็กทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในวงการ
และไม่ว่าการประท้วงครั้งนี้จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศไทยอย่างไร แต่เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึงก็หวังว่าคนทำงานจะไม่ต้องออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมที่พวกเขาสมควรจะได้รับอยู่แล้ว เพราะอุตสาหกรรมที่ดีจะมองเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่เอาไว้หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
อ้างอิง:
- www.bls.gov/ooh/media-and-communication/writers-and-authors.htm
- apnews.com/article/wga-writers-strike-demands-d403f5b4666f20e2ce3e379bcaef5f2a
- www.hollywoodreporter.com/business/business-news/sag-aftra-wga-strike-negotiations-mediator-amptp-1235538720/
- variety.com/2023/film/news/writers-strike-force-majeuer-deals-terminated-1235682117/?fbclid=IwAR0DcdmEKl3yRWkTB3wtM_0NimBdezNtSjvBIC6BTv7Uykbe7t9W5VuaoG4