NASA รายงานว่า ภารกิจ Voyager 2 ที่อยู่ห่างจากโลกไปราว 20,000 ล้านกิโลเมตร จะไม่สามารถติดต่อหรือรับส่งข้อมูลจากโลกได้จนถึงเดือนตุลาคมเป็นอย่างเร็ว เนื่องจากจานรับสัญญาณถูกหันเบี่ยงผิดไป 2 องศาจากโลก
ภารกิจระดับตำนานของ NASA ที่ยังปฏิบัติการได้แม้มีอายุมากกว่า 45 ปี ประสบปัญหาเล็กน้อยในระหว่างการรับคำสั่งจากโลกครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2023 ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้จานรับสัญญาณของ Voyager 2 ถูกเบี่ยงหนีโลกไป 2 องศา ซึ่งมากพอที่จะทำให้การรับคำสั่งหรือส่งข้อมูลกลับมายังจานรับสัญญาณที่แคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่าย Deep Space Network ของ NASA ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม Voyager 2 มีระบบคำสั่งบนยานที่คอยปรับทิศจานรับสัญญาณให้หันกลับโลกอยู่หลายครั้งในรอบปี โดยโอกาสถัดไปที่จะเกิดขึ้นนั้นคือวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และทีมภารกิจบนโลกคาดหวังว่าการสื่อสารต่างๆ จะยังกลับมาดำเนินต่อได้ โดยในช่วงที่ไม่มีการติดต่อนี้ ยานจะยังคงปฏิบัติภารกิจตามที่ถูกวางคำสั่งไว้ และเดินทางผ่านช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ไปด้วยความเร็ว 16.37 กิโลเมตรต่อวินาที
ทั้งนี้ ภารกิจของโครงการ Voyager เป็นการสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอกของระบบสุริยะ เนื่องจากการเรียงตัวของดาวเคราะห์ในรอบ 150 ปีที่เอื้อต่อการส่งยานไปสำรวจได้โดยไม่สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและพลังงานมากนัก เป็นภารกิจแบบไม่มีมนุษย์ควบคุม แบ่งเป็น Voyager 1 และ Voyager 2 โดยออกเดินทางจากโลกเมื่อปี 1977 และยังปฏิบัติงานอยู่จนถึงปัจจุบัน
ในตอนนี้ Voyager 2 ยังมีอุปกรณ์ทดลองที่เปิดใช้งานอยู่ 5 ตัว เพื่อศึกษารังสีคอสมิก พลาสมา และสนามแม่เหล็กในช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ โดยทีมภารกิจคาดว่าด้วยพลังงานสำรองที่หลงเหลืออยู่ในตอนนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถเปิดใช้งานได้จนถึงปี 2026 ก่อนต้องทยอยปิดเครื่องมือสำรวจต่างๆ ลง จนท้ายที่สุดยานจะมุ่งหน้าออกไปโดยไม่มีพลังงานหลงเหลือ และไม่ย้อนกลับโลกมาอีกตลอดกาล
Voyager 2 เป็นยานอวกาศลำแรกและลำเดียวในประวัติศาสตร์ที่เดินทางสำรวจดาวเคราะห์ได้ครบ 4 ดวงในภารกิจเดียว ได้แก่ ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน โดยยังเป็นยานสำรวจหนึ่งเดียวที่เคยบินผ่านทั้งดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน และเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2023 สามารถแซงหน้ายาน Pioneer 10 กลายเป็นยานอวกาศที่ไกลจากโลกมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากยานสำรวจฝาแฝดอย่าง Voyager 1 ที่อยู่ห่างจากโลกไปเกือบ 24,000 ล้านกิโลเมตรในปัจจุบัน
ภาพ: NASA / JPL-Caltech
อ้างอิง: