×

ดับแสงรวี หนังโรแมนติก-สยองขวัญสไตล์ละครไทย ที่เล่าเรื่องไม่เจิดจ้าและดับแสงลงอย่างริบหรี่

22.07.2023
  • LOADING...
ดับแสงรวี

หมายเหตุ: บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์ ดับแสงรวี

 

เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่แฟนคลับของ ซี-พฤกษ์ พานิช และ นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ รอคอยกันมาตั้งแต่ช่วงประกาศโปรเจกต์สำหรับ ดับแสงรวี (After Sundown) ผลงานแนวโรแมนติก-สยองขวัญยุคพีเรียดของผู้กำกับ อ๊อด-บัณฑิต ทองดี ที่ดัดแปลงมาจากนิยายในชื่อเดียวกันของ CEO

 

 

ดับแสงรวี เล่าถึงเรื่องราวของคนภายในคฤหาสน์สิทธิกรกัลป์ เมื่อ พระเพลิง (ซี-พฤกษ์ พานิช) หลานชายประจำตระกูล กำลังตกอยู่ในเคราะห์ร้ายระหว่างเข้าสู่ช่วงเบญจเพส ทำให้ คุณปู่พฤทธิ์ (หนู-สุรศักดิ์ ชัยอรรถ) ต้องรีบไปรับตัว แสงรวี (นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์) เด็กหนุ่มผู้มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขของการแก้เคล็ด ซึ่งเขาอาศัยอยู่กับ หลวงตาจันทกร (วอ-จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร) ตามประสาเด็กวัดธรรมดาๆ คนหนึ่ง

 

ด้วยภยันตรายที่คืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ พฤทธิ์จึงขอรับแสงรวีมาแก้ชะตาตามคำแนะนำของซินแส เพราะถ้าหากไม่เร่งดำเนินพิธีกรรม ทั้งสองจะต้องตกอยู่ในอันตรายถึงแก่ชีวิต

 

 

แสงรวีที่ถูกย้ายตัวมายังคฤหาสน์สิทธิกรกัลป์เริ่มพบเจอกับเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมาย เขาต้องฝันร้ายทุกคืนยามหลับตา ในนิมิตของแสงรวีได้พบกับวิญญาณผู้หญิงคนหนึ่ง การปรากฏตัวของเธอในแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความเคียดแค้นพยาบาท หนทางเดียวที่จะสามารถทำให้แสงรวีดีขึ้นได้คือการอยู่ใกล้ชิดกับพระเพลิง 

 

และด้วยสถานการณ์บีบบังคับที่ทำให้ทั้งพระเพลิงและแสงรวีต้องทนอยู่ตัวติดกัน สายใยอบอุ่นบางอย่างก็ได้ทำงานขึ้นภายในใจของพวกเขา ท่ามกลางการถูกจับตามองโดย กัญณิกา (ทับทิม-อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์) วิญญาณสาวผู้อาฆาตแค้นที่อยู่ในคฤหาสน์สิทธิกรกัลป์ซึ่งยังไม่ยอมไปผุดไปเกิด เธอพร้อมจะจองเวรกับทั้งสองคนให้ฉิบหายตายตกไปตามกัน

 

 

เมื่อทราบถึงพล็อตเรื่อง ในฐานะคนดู ผู้เขียนรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบ ‘ละครไทย’ ขึ้นมา นับตั้งแต่การปูพื้นหลังของตัวละครให้มีปมเรื่องที่มีชะตากรรม จนต้องใช้สูตรคลุมถุงชนเพื่อให้คู่พระ-นายต้องอาศัยอยู่ด้วยกัน ทั้งที่หมั่นไส้กันตั้งแต่แรกพบสบตา กระทั่งกลายมาเป็นความหวั่นไหวแทนที่ หลากหลายความบังเอิญที่พยายามดำเนินแบบ ‘จงใจ’ เช่น การเปิดตัวของสองตัวละครนักแสดงนำที่เริ่มต้นด้วยอุบัติเหตุ ก่อนจะมารู้ทีหลังว่าพวกเขาเคยพบกันตั้งแต่วัยเด็ก โดยที่ไม่ได้ขยายความเพิ่มเติมให้เราได้สัมผัสถึงแง่มุมลึกซึ้งของตัวละคร ปัจจัยนี้จึงทำให้เสน่ห์ของ ดับแสงรวี ถูกดรอปลง

 

หรือแม้กระทั่งการปู Conflict ที่เป็นใจความหลัก ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบเรียบดั่งแผ่นน้ำไร้คลื่นลม โดยเฉพาะบทสรุปของปมจากตัวละครกัญณิกา การผูกใจเจ็บที่ผ่านมาของเธอตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นหลานกลับถูกปลดเปลื้องอย่างง่ายดาย ผีจอมอาฆาตยอมจำนนต่อบาปกรรมของตัวเองหลังจากที่ทุกคนในเรื่องพร้อมใจอโหสิกรรมให้แก่กัน ขัดกับสิ่งที่คนทั้งบ้านพยายามหาทางแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น จุดจบของทางออกใน ดับแสงรวี จึงไม่ต่างอะไรไปจากละครไทยสูตรสำเร็จที่เรามักจะเคยเห็นทางโทรทัศน์ในยุคก่อนๆ

 

 

ผนวกกับการเล่าเรื่องที่รีบตัดฉับไปมา มีอยู่หลายฉากที่ใส่เพิ่มเข้ามาแล้วใช้ Transition เพื่อรุดไปหาเหตุการณ์อื่นๆ ต่อจากนั้น ทำให้คนดูรู้สึกไม่ผูกพันกับตัวละครทั้งหมด ส่วนนี้จึงกลายเป็นช่องโหว่เพราะขาดมิติ และทำให้ภาพรวมของบริบทต่างๆ ในท้องเรื่องดูแบนราบไปทันที 

 

ส่วนฝั่งเทคนิค อย่างเช่น การเลือกใช้เสียงเอฟเฟกต์ประกอบฉาก ถือว่าเป็นอีกพาร์ตที่ผู้เขียนรู้สึกฉงนใจ บางฉากมีเนื้อหาเพียงแค่ตัวละครร่วมสนทนากันเรื่องทั่วไป หากแต่จู่ๆ กลับมีดนตรีวังเวงพุ่งพรวดขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าอารมณ์ของผู้ชมโดยไม่จำเป็น จนกลบบรรยากาศแสนปกติและทำให้รู้สึกงงงวยไปตามๆ กัน 

 

ขณะที่กลิ่นอายความสยองขวัญก็มักจะถูกนำเสนอมาอย่างไร้ทิศทาง เนื่องด้วยตัวภาพยนตร์เลือกที่จะเน้นหนักไปที่ความสัมพันธ์ของคู่พระเพลิงและแสงรวีเป็นส่วนใหญ่ พาร์ตความสยองขวัญจึงลดความสำคัญลง อีกทั้งจังหวะในการสอดแทรกฉาก Jump Scare ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นการขัดบรรยากาศของพระเพลิงและแสงรวีไปแทนที่ 

 

แน่นอนว่าการโผล่ตัวในแต่ละทีของผีกัญณิกานั้นช่างดูพิลึกพิลั่นไปเสียหมด เช่น การปรากฏตัวแบบผิวเผินในช่วงที่ทุกคนในคฤหาสน์สิทธิกรกัลป์กำลังใช้ชีวิตอยู่แบบปกติสุข หากแต่จู่ๆ ก็ถูกเพิ่มพูนด้วยภาพของผีกัญณิกาตามมา เสมือนเป็นสัญญาณเตือนคนดูว่าไม่ให้ลืมเงาแค้นตนนี้ ทั้งที่สภาพการณ์โดยรวมของเนื้อเรื่องนั้นค่อนข้างปวกเปียก

 

ซึ่งบทบาทเร้นลับจากกัญณิกามีทั้งช่วงจางหายไปและพุ่งพรวดออกมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จากที่คนดูควรจะรู้สึกหวาดกลัวและไม่ไว้วางใจกับการมุ่งร้ายของเธอ ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ทำให้เรารู้สึกรำคาญใจในความเยอะของผีตนนี้ที่ถูกใส่เข้ามาอย่างผิดที่ ผิดเวลา  

 

 

ดับแสงรวี ได้รวบรวมนักแสดงฝีมือฉกาจไว้มากมาย ซึ่งแคสติ้งส่วนใหญ่ก็ถูกคนดูจดจำมาจากฝั่งจอแก้ว ไม่ว่าจะเป็นรุ่นพ่อ-แม่อย่าง หนู-สุรศักดิ์ ชัยอรรถ, วอ-จิราวัฒน์ วชิรศรัณย์ภัทร, เต๋า-อดิศร อรรถกฤษณ์, มิเนย์-กฤศณัฐฐิกา จูไต๋ หรือแม้กระทั่ง กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ และ ริท-เรืองฤทธิ์ ศิริพานิช สองหนุ่มจากบ้าน The Star แต่พวกเขาเหล่านี้กลับไม่ได้เฉิดฉายในบทบาทของตนเองสักเท่าไรนักด้วยกลวิธีนำเสนอต่างๆ ที่ได้กล่าวไปข้างต้น จึงทำให้ผู้เขียนไม่ค่อยรู้สึกร่วมไปกับเรื่องราวต่างๆ และตัวละคร เพราะตัวบทนั้นค่อนข้างอ่อนแออยู่เป็นทุนเดิม 

 

จุดนี้ทำให้ผู้เขียนนึกเสียดายถึงความสามารถของทีมนักแสดงที่ถูกบิดเบือนจากสเกลภาพยนตร์ให้กลายเป็นโหมดละครหลังข่าวไปเสียได้ โดยเฉพาะคุณภาพการแสดงของ ทับทิม-อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ ที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบหลักของภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยฝีไม้ลายมือที่ทับทิมได้พิสูจน์กับตัวเองในวงการละครไทยจนปัจจุบันมีสถานะเป็นนักแสดงอิสระ การเป็น ‘กัญณิกา’ จึงไม่อาจก้าวข้ามแนวทางเดิมๆ ของเธอได้จากบทที่แสนตราตรึงใจคนดู ผู้เขียนยังคงนึกถึงเธอในโหมด เจ้านางละอองคำ จาก เจ้านาง (2558) หรือ แก้ว จาก บ่วงสไบ (2562) อยู่ในที

 

ส่วนตัวละครหลักอย่างแสงรวีกับพระเพลิง ที่แสดงโดย นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ และ ซี-พฤกษ์ พานิช ยังคงติดหล่มกับเงาจากผลงานแจ้งเกิดอย่าง นิ่งเฮียก็หาว่าซื่อ Cutie Pie Series (2564) อยู่เหมือนเคย น่าเสียดายที่บทบาทในเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้พวกเขาทั้งสองคนได้โชว์ศักยภาพเท่าที่ควร 

 

ดับแสงรวี ยังคงขายกลิ่นอายความเป็น ‘ซีรีส์วาย’ ในตัวภาพยนตร์ไว้อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศระหว่างคู่นักแสดงนำ คำพูดต่างๆ หรือแม้กระทั่งรูปแบบของแอ็กติ้ง หากใครที่คาดหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะขยับสเกลเซฟโซนของคู่ซี-นุนิวไปจากเดิม อาจต้องลดความคาดหวังลงมากันสักนิด 

 

โดยเฉพาะซีที่วนอยู่กับแค่ไดอะล็อก ‘อย่าดื้อ’ ตามสไตล์บทบาทของพระเอกนิยายวาย ในขณะที่นุนิวนั้นสามารถรับผิดชอบความเป็นตัวละครในยุคเก่าผ่านแอ็กติ้งที่ดี ทั้งการใช้น้ำเสียงและการออกอักขระคำควบกล้ำต่างๆ ข้อนี้ถือว่าเป็นจุดแข็งของนุนิวที่ทำให้ตัวละครแสงรวีดูมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น สมกับที่เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2504

 

อย่างไรก็ดี ความดีงามของ ดับแสงรวี ยังมีเพลงประกอบภาพยนตร์ที่สวยงามจับจิตมาช่วยปิดบาดแผลของโครงสร้างภาพยนตร์ไว้ ไม่ว่าจะเป็น แสงรวี (Destiny) ที่ขับร้องโดย ซี พฤกษ์ – นุนิว ชวรินทร์ และ ดวงจันทร์ ที่ร้องโดย กัน นภัทร สองบทเพลงจากฝีมือของโปรดิวเซอร์แห่งยุคอย่าง แอ้ม-อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์ ที่มีส่วนร่วมในการรังสรรค์ความไพเราะนี้ เมื่อนำสองแทร็กดังกล่าวมาใส่ในบางฉากของภาพยนตร์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและลงตัวในคราวเดียวกัน

 

กล่าวได้ว่า ดับแสงรวี คือภาพยนตร์ที่ยังจมอยู่ในกับดักของความเป็นละครไทยอยู่มาก ทั้งวิธีการเล่าเรื่อง ตัวละคร ปมและความขัดแย้งต่างๆ บทสรุป ไปจนถึงการดีไซน์เทคนิคต่างๆ คนดูจึงสามารถเดาทิศทางทั้งหมดได้อย่างง่ายดาย ภาพรวมทั้งหมดจึงถูกรวบรัดและยังไม่สามารถหลุดจากกรอบเดิมๆ สักเท่าไร หากเรื่องนี้ถูกนำเสนอในเวอร์ชันละครหรือซีรีส์อาจจะดูเหมาะสมและเข้าทางเสียมากกว่า

 

รับชมตัวอย่างภาพยนตร์ ดับแสงรวี ได้ที่: https://youtu.be/qtWg9zDC7Ms 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising