×

จาตุรนต์ ชี้มติไม่เสนอชื่อพิธาซ้ำทำลายเจตนารมณ์ประชาชน-ขัด รธน. หวั่นอนาคตเลือกนายกฯ ไปเรื่อยๆ จนได้คนนอก

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2023
  • LOADING...
จาตุรนต์ ฉายแสง

วันนี้ (19 กรกฎาคม) จาตุรนต์ ฉายแสง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังกรณีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่ผ่านการโหวตนายกรัฐมนตรี รอบ 2 ในที่ประชุมรัฐสภาว่า ข้อบังคับการประชุมที่ 41 การเสนอญัตติซ้ำไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 การทำแบบนี้เหมือนเป็นการไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการใช้เสียงข้างมากในลักษณะนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงว่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อไปในอนาคต อาจทำให้การเลือกนายกฯ ประสบปัญหาได้และกลายเป็นทางตันของประเทศ 

 

จาตุรนต์ยังกล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อไปว่า ในขั้นตอนต่อไปหากสภาจะเลือกนายกฯ กันเองในอนาคต เราอาจถึงจุดที่หานายกฯ ไม่ได้อย่างน้อย 1 สมัยประชุม และอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ เพราะตอนนั้นโดนกำหนดไว้ว่าให้สภาเลือกนายกฯ จากคนที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง สภาก็ต้องทำแบบนั้น แต่คงไม่ถึงขั้นไปเสนอศาลรัฐธรรมนูญ เราคิดว่ารัฐสภาควรตัดสินใจกันเอง เพียงแต่ว่าการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และทำแบบนี้บ่อยๆ จะเป็นผลเสียต่อบ้านเมืองตามมา 

 

“ประเด็นสำคัญในวันนี้คือเสียงข้างมากที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ได้ลงมติกันไปในทางที่ไม่ตรงกับรัฐธรรมนูญ หักล้างเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้ง ส.ส. เขารวมเสียงกันได้ 312 เสียง เพื่อจะเสนอหัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดเป็นนายกฯ แต่ไปหักหน้าเขาใช้เสียงส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการเมืองแน่ๆ และนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในอนาคต” จาตุรนต์กล่าว

 

เมื่อถามว่าการที่พิธาไม่ได้รับการเสนอชื่อนายกฯ ในวันนี้จะเป็นกับดักให้กับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ จาตุรนต์กล่าวว่า จะเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยในการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนใหม่ หากไม่ได้รับการเห็นชอบอีกก็จะเสนอชื่อซ้ำไม่ได้อีก และอาจไหลไปถึงนายกฯ คนนอกได้ ทำให้พรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ ครั้งหน้าจะต้องคิดหนัก อาจทำให้สถานการณ์บีบว่าหากคุณรวมเสียงไม่ได้จริงๆ จะไม่ได้รับการเสนอชื่อได้อีกต่อไป และจะมีการเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ไปเรื่อยๆ 

 

ส่วนจะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนสูตรในการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ จาตุรนต์กล่าวว่า ตนให้ความเห็นไม่ได้ ต้องให้หัวหน้าพรรคหรือแกนนำพรรคเป็นผู้ตอบคำถามนี้

 

เมื่อถามว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร จาตุรนต์กล่าวว่า แกนนำและหัวหน้าพรรคทั้ง 8 พรรคคงมีการหารือกัน และจะรวบรัดไปที่พรรคเพื่อไทยในการเสนอแคนดิเดตนายกฯ 

 

เมื่อถามว่าจะมีการพูดคุยกับสมาชิกวุฒิสภาอีกหรือไม่ จาตุรนต์กล่าวว่า ถ้าดูจากเสียง ส.ว. ที่ผ่านมาคงจะไม่คำนึงถึงเสียงจากประชาชน แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะไปคาดหวังอะไรกับ ส.ว. เว้นแต่ว่าเขาจะมีดวงตาเห็นธรรมอะไรกะทันหันขึ้นมา ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงานในการจัดตั้งรัฐบาลต้องนำไปคิด ยืนยันว่านี่คือความเห็นส่วนตัว ส่วนแกนนำที่ทำหน้าที่ในการจัดตั้งรัฐบาลของทั้ง 8 พรรคจะคิดเห็นอย่างไรก็คงต้องให้เขาหารือกัน

 

เมื่อถามว่าสถานการณ์การเมืองจะบานปลายหรือไม่ จาตุรนต์กล่าวว่า จากการตีความของฝ่ายต่างๆ ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้น่าจะทำให้ประชาชนผิดหวัง และจะยิ่งพัฒนาให้ประชาชนผิดหวังมากขึ้น ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาของประเทศ หวังว่าหลายฝ่ายจะตั้งสติและช่วยกันคิดหาทาง ทำอย่างไรให้ไม่ฝืนมติประชาชน จะทำให้ประคับประคองการเมืองให้ระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งมีความหมายต่อไป แต่ถ้าไปทำให้ประชาชนผิดหวังมากๆ อาจกลายเป็นวิกฤตการเมือง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องพยายามทำให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าให้ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X