ถึงตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมาจะมีภาวะอึมครึมจากข่าวสารต่างๆ ที่ประดังประเดเข้ามา แต่สำหรับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS กลับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากการขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยมีอัตราดอกเบี้ยช่วง 5 ปีอยู่ที่ 6.85%
“ถึงแม้เราจะไม่ใช่หุ้นที่หวือหวา แต่มีการเติบโตที่มั่นคง ทำให้มีความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งส่วนสำคัญมาจากการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล” หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าว
จักรสนิท กฤษสอาดใจ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานบัญชีและการเงินขยายความต่อว่า การออกหุ้นกู้ดังกล่าวมีข้อดีคือเข้ามาปรับโครงสร้างทางการเงิน จาก D/E (อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น) ที่สูงขึ้นจากโควิดลดลงจาก 2.6 เท่า เป็น 2.3 เท่า จึงทำให้ฐานะทางการเงินแข็งแรงขึ้นมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘กลุ่มบางจาก’ ทุ่มหมื่นล้านบาทขยายไลน์สู่น้ำมันอากาศยาน จับมือ ‘ธนโชคฯ’ แปรรูปน้ำมันใช้แล้วเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงรายแรกในไทย
- Boeing คาด ภายใน 20 ปีจากนี้ สายการบินทั่วโลกจะสั่งซื้อเครื่องบินใหม่รวมกัน 42,595 ลำ คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
- ‘Thai AirAsia’ ชี้ธุรกิจการบินเริ่มฟื้น ลุยเพิ่มเส้นทางใหม่รับดีมานด์ มั่นใจปี 23 ทำกำไรได้ หลังคุมต้นทุน-ขึ้นราคาตั๋วเสริมสภาพคล่อง
เงินที่ได้จากการขายหุ้นกู้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้สำหรับชำระหนี้สถาบันทางการเงิน เพื่อลดดอกเบี้ย อีกส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กร
“ระยะยาวการบริหารจัดการกระแสเงินสดจะง่ายขึ้น โดยหุ้นกู้ตัวนี้สามารถไถ่ถอนเมื่อพ้น 5 ปีไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ออกหุ้นกู้ชุดใหม่ที่มีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงได้”
ในช่วงที่ผ่านมา BAFS ลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในการขยายธุรกิจหลักจากให้บริการระบบจัดเก็บและเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบิน 5 แห่งทั่วประเทศ ไปสู่ธุรกิจขนส่งน้ำมันที่มีระยะทาง 367 กิโลเมตร ธุรกิจประกอบรถเติมน้ำมันอากาศยานไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้มีใช้แล้ว 2 คันที่สนามบินดอนเมือง การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจำนวน 9 แห่ง (ในไทย 7 แห่ง และญี่ปุ่น 2 แห่ง) และธุรกิจด้านดิจิทัล
“เราจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ด้วยงบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะไม่ได้หวือหวา แต่จะเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยบางโครงการกว่าจะเห็นดอกผลก็ใช้เวลาประมาณ 2 ปี”
90% ของงบลงทุนจะกระจายไปยังธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจขนส่งน้ำมันโดยเชื่อมท่อในภาคตะวันออก การขยายต่อจากอ่างทองไปสระบุรีอีก 52 กิโลเมตร ใช้งบลงทุน 1,200 ล้านบาท และยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มองโกเลีย เป็นต้น
ในวันนั้น หม่อมหลวงณัฐสิทธิ์คาดว่ารายได้ของ BAFS จะอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท โดย 50% มาจากธุรกิจการบิน อีก 40% มาจากธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน (Utilities & Power) และที่เหลือเป็นกลุ่มธุรกิจด้านการบริหารจัดการและบริการธุรกิจ (Business Solutions & Services)
สำหรับธุรกิจช่วงครึ่งปีแรก 2566 มีการเติมน้ำมันไป 2,112 ล้านลิตร ดีกว่าประมาณการเล็กน้อย ทำให้มั่นใจว่าทั้งปีจะเป็นไปตามเป้าหมาย 4,200 ล้านลิตร โดยคาดว่ารายได้รวมจะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท เติบโต 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า