เม็กซิโกขึ้นแท่นอันดับ 1 ‘เมืองยิ้ม’ ของกลุ่มคนที่ไปใช้ชีวิตนอกบ้านเกิด (Expats) ตามข้อมูลของ InterNations แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของชุมชนชาวต่างชาติที่ออกเดินทางไปทำงานและใช้ชีวิตในต่างแดน เผยว่าคะแนนพึงพอใจกว่า 90% เทใจไปให้กับประเทศเม็กซิโก แสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้มีความสุขในประเทศนี้เมื่อเทียบกับ 72% ซึ่งเป็นคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก
ผลสำรวจ Expat Insider โดย InterNations จัดอันดับ 53 ประเทศบนพื้นฐานของ 5 ปัจจัย ดังนี้
- คุณภาพชีวิต ปัจจัยนี้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่โดยรวม เช่น ระบบสาธาณะสุข ความปลอดภัย ระบบการคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ
- ความง่ายในการปรับตัว ปัจจัยนี้ให้ความสำคัญกับความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น การเข้าถึงสังคมคนต่างชาติในประเทศนั้นและสร้างกลุ่มเพื่อนใหม่ และขนบธรรมเนียมประเพณีผู้อาศัยที่ต้องปฏิบัติตาม
- สภาพการทำงานในต่างแดน ปัจจัยนี้มองถึงโอกาสในการเติบโตกับงาน ความมั่นคงและวัฒนธรรมการทำงานของผู้คน
- การเงินส่วนบุคคล ปัจจัยนี้มองถึงเรื่องของค่าครองชีพ รายได้ ค่ารักษาพยาบาล และการเข้าถึงระบบการเงินที่มั่นคง
- สิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจัยนี้มองถึงสิ่งจำเป็นสำหรับคนต่างชาติ เช่น ความยากง่ายในกระบวนการทำเอกสารทางราชการต่างๆ อุปสรรคด้านภาษา การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทั้งรูปแบบเดิมและดิจิทัล
และนี่คือรายชื่อประเทศ 10 อันดับแรกสำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการจะอยู่และทำงานในต่างประเทศ
- เม็กซิโก
- สเปน
- ปานามา
- มาเลเซีย
- ไต้หวัน
- ไทย
- คอสตาริกา
- ฟิลิปปินส์
- บาห์เรน
- โปรตุเกส
จากประสบการณ์ของชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่เม็กซิโก เหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศนี้ครองใจคนกลุ่มนี้คือความง่ายในการสร้างสังคมของตนทำให้ปรับตัวได้ง่าย และวัฒนธรรมการต้อนรับอย่างอบอุ่นของคนท้องถิ่นที่มีกับกลุ่มชาวต่างชาติ มากไปกว่านั้นพวกเขายังถูกใจค่าใช้จ่ายสำหรับการอยู่อาศัยที่มีราคาสมเหตุสมผล ถึงแม้เม็กซิโกจะยังมีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับชาวต่างชาติที่พวกเขายังคงเพลิดเพลินกับการพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศที่ติด 10 อันดับแรกนั้นล้วนแต่ทำได้ดีในแง่ของความง่ายในการปรับตัว ความสนุก และเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับชีวิต แต่ยังมีข้อจำกัดในมุมของโอกาสในการเติบโตกับงานขององค์กรในประเทศนั้นๆ
ต่างชาติยังมองสยามเป็น ‘เมืองยิ้ม’ แต่ยังหวังว่าคุณภาพชีวิตและโอกาสในที่ทำงานจะดีขึ้นได้
ในส่วนของประเทศไทยที่มาเป็นอันดับ 6 ในปีนี้มีคะแนนความพึงพอใจจากต่างชาติที่ 86% ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 14% โดยในด้านที่เราทำได้ดีเป็นพิเศษคือเรื่องของ ‘การเงินส่วนบุคคล’ ที่ได้เป็นอันดับ 4 จากทั้งหมด 53 ประเทศ โดยชาวต่างชาติชื่นชอบราคาสินค้าและบริการที่ย่อมเยา พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าตอบแทนที่พวกเขาได้ ‘เพียงพอหรือบางทีก็เกินพอ’ ที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้แบบสบายๆ ในประเทศไทย
ตามมาด้วยเรื่องของ ‘ความง่ายในการปรับตัว’ (อันดับ 11 จากทั้งหมด 53 ประเทศ) ที่คนไทยเราเองก็มีชื่อเสียงทั่วโลกมายาวนานในเรื่องมิตรไมตรีและการต้อนรับของผู้คน โดยชาวต่างชาติ 8 ใน 10 บอกว่าพวกเขารู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรที่คนไทยมีให้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้คือ ‘คุณภาพชีวิต’ (อันดับ 37 จากทั้งหมด 53 ประเทศ) โดยชาวต่างชาติส่วนใหญ่มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องของมลพิษทางอากาศที่เราได้คะแนนความพึงพอใจในคุณภาพอากาศที่ 35% เมื่อเทียบกับ 66% ของค่าเฉลี่ยโลก อีกทั้ง 43% ของชาวต่างชาติยังคิดว่าภาครัฐไม่ค่อยให้การสนับสนุนนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับโลกที่แค่ 17%
อีกด้านที่ไทยต้องเร่งพัฒนาหากจะดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาทำงานคือ ‘สภาพการทำงานในต่างแดน’ (อันดับ 39 จากทั้งหมด 53 ประเทศ) ที่แม้ว่าพวกเขาจะพอใจในเรื่องความสมดุลระหว่างงานกับชีวิต แต่ว่าต่างชาติที่มาทำงานในบ้านเราบอกว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่สามารถพูดในสิ่งที่ตนคิดได้อย่างตรงไปตรงมาถึง 33% เทียบกับทั่วโลกที่ 15% รวมถึงการส่งเสริมการคิดนอกกรอบที่พวกเขายังคงมองว่าองค์กรในไทยที่พวกเขาทำงานมีข้อจำกัดเรื่องนี้อยู่ โดยสัดส่วนคือ 42% เทียบ 26% ที่เป็นค่าเฉลี่ยทั่วโลก
อินไซต์เบื้องต้นในต่างประเทศสำหรับคนที่มองหาโอกาสย้ายถิ่นฐาน
สำหรับคนที่มีเป้าหมายจะย้ายประเทศเพื่อโอกาสการเติบโตในงานที่ดีกว่า ไต้หวันเป็นจุดหมายที่ชาวต่างชาติหลายคนที่มีประสบการณ์อาศัยอยู่ที่นั่นให้ความเห็นคล้ายกันว่าพวกเขาชอบตรงที่งานมีความมั่นคง รายได้สมน้ำสมเนื้อ และเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแรง
ทางด้านของประเทศที่เป็นจุดหมายหลักอันดับ 2 อย่างสเปนได้ออกวีซ่า 1 ปีให้กับต่างชาติเพื่อให้เข้าไปทำงานได้เป็นระยะเวลา 1 ปี และสามารถต่ออายุได้สูงสุดถึง 5 ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีรายได้ต่อเดือนที่ 2,160 ยูโร (83,164 บาท) เพื่อสร้างแรงจูงใจและเข้ามาสนับสนุนให้ชาวต่างชาติเดินทางมาทำงานในประเทศของตนมากขึ้น
ปานามาก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต่างชาติถูกใจเป็นอันดับ 3 ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเขารู้สึกเข้ากับคนได้ง่ายและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เรื่องความมั่นคงทางการเงินก็ค่อนข้างดี อีกทั้งปานามายังมีอากาศที่สะอาด ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของหลายคน อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้อาจไม่เหมาะสำหรับคนที่อยากไปทำงาน เนื่องจากต่างชาติที่ทำงานที่นั่นให้คะแนนในเรื่องของการขยับขยายในหน้าที่และความมั่นคงทางการงานอยู่ในกลุ่มบ๊วย 10 ประเทศสุดท้ายในแง่มุมนี้ ซึ่งดูแล้วจะเหมาะกับคนวัยเกษียณที่ไปเพื่อพักผ่อนมากกว่า
สุดท้าย กลุ่มประเทศที่ไม่ค่อยมีคนต่างชาติอยากไปใช้ชีวิตคือ คูเวต นอร์เวย์ ตุรกี และอีกประเทศที่เป็นประเทศในดวงใจคนไทยหลายคนนั่นก็คือเกาหลีใต้ โดยคนต่างชาติส่วนใหญ่ที่ไปรู้สึกว่าเมื่อพวกเขาได้ลองใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นจริงๆ แล้วมันยากที่จะสร้างสังคมใหม่ โดยเฉพาะที่นอร์เวย์และเกาหลีใต้ อีกทั้งยังวัฒนธรรมการทำงานยังหนักเกินไปอีกด้วยในตุรกีและเกาหลีใต้
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: