เย็นวันนี้ (12 กรกฎาคม) ตามเวลาประเทศไทย NASA และ ESA ได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพถ่ายของกลุ่มก๊าซกำเนิดดาวฤกษ์ ‘โร โอฟิวคี’ (Rho Ophiuchi) ที่อยู่ห่างจากระบบสุริยะไปประมาณ 390 ปีแสง ในโอกาสฉลองครบรอบ 1 ปี การปฏิบัติภารกิจสำรวจจักรวาลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์
ในภาพถ่ายนี้ นักดาราศาสตร์ได้พบดาวฤกษ์เกิดใหม่มากกว่า 50 ดวง ที่มีมวลคล้ายดวงอาทิตย์ของเรา พร้อมกับรายละเอียดแบบใกล้ชิดจากอุปกรณ์ NIRCam ที่สำรวจในช่วงอินฟราเรดใกล้ ที่เผยให้เห็นฝุ่นก๊าซของไฮโดรเจนจากดาวฤกษ์เกิดใหม่เหล่านี้พุ่งออกมาไขว้กันในมุมขวาบน (ฝุ่นสีแดงในภาพ) ส่วนฝุ่นก๊าซเรืองสว่างในมุมล่างนั้นมาจากดาวฤกษ์ S1 ซึ่งเป็นดาวเพียงดวงเดียวในรูปนี้ที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์
นอกจากฝุ่นก๊าซในแหล่งให้กำเนิดดาวฤกษ์ที่ใกล้เคียงกับระบบสุริยะของเราที่สุดแล้ว กล้องเจมส์ เว็บบ์ ยังเผยให้เห็นสัญญาณการก่อตัวของจานกำเนิดดาวเคราะห์ หรือ Protoplanetary Disks จากดาวฤกษ์บางดวงในกลุ่มก๊าซดังกล่าว ซึ่งอาจคล้ายคลึงกับการกำเนิดของระบบสุริยะในช่วงแรกได้
คลอว์ส พอนโทปพิดัน หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ของ STScI ที่ดูแลการปฏิบัติการของกล้องเจมส์ เว็บบ์ เปิดเผยว่า “ภาพถ่ายโร โอฟิวคีของเจมส์ เว็บบ์ ทำให้เราได้เห็นช่วงเวลาสั้นๆ ในวัฏจักรดาวฤกษ์ได้อย่างคมชัด ดวงอาทิตย์เราก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนี้เมื่อนานมาแล้ว และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีที่มากพอให้เราได้เห็นจุดเริ่มต้นของดาวฤกษ์ดวงอื่นได้”
ทั้งนี้ ภาพถ่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลองช่วงเวลา 1 ปี การปฏิบัติงานด้านสำรวจจักรวาลของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ที่ได้ส่องย้อนเวลาไปยังกาแล็กซียุคแรก บันทึกภาพดาวเคราะห์ทั้งในและนอกระบบสุริยะ เช่นกันกับการศึกษาทำความเข้าใจเอกภพแห่งนี้เพื่อขยายขอบเขตองค์ความรู้ของนักดาราศาสตร์แขนงต่างๆ
บิล เนลสัน ผู้อำนวยการ NASA เปิดเผยว่า “ในเวลาเพียง 1 ปี กล้องเจมส์ เว็บบ์ ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของมนุษยชาติต่อเอกภพ ทำให้เรามองผ่านฝุ่นก๊าซเข้าไปเห็นแสงจากมุมไกลสุดของจักรวาลได้เป็นครั้งแรก ทุกๆ ภาพถ่ายใหม่นั้นเป็นการค้นพบครั้งใหม่ ที่ส่งเสริมให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกตั้งคำถามและหาคำตอบในสิ่งที่พวกเขาเคยได้แต่ฝันถึงเท่านั้น”
ภาพ: NASA, ESA, CSA, STScI, Klaus Pontoppidan (STScI)
อ้างอิง: