×

ฟื้นฟูขนบวัฒนธรรมเพื่อการปกป้องภูมิอากาศ

โดย Heritage Matters
07.07.2023
  • LOADING...
การปกป้องภูมิอากาศ

HIGHLIGHTS

  • หลักการสากลในหมู่ชุมชนเก่าแก่ไม่ว่าจะใช้ภาษาไหนหรือนับถือศาสนาใด คือความสําคัญของสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และอำนาจของภูตผี ในหมู่ชาวมุสลิมของอินโดนีเซีย คําว่า มีซัน (Mizan) ไม่เพียงแต่หมายถึง ‘ความสมดุล’ เท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้วยังหมายถึงระเบียบอันเหมาะสมแห่งจักรวาลอีกด้วย
  • สำหรับชาวไทยพุทธ คําว่า ธรรมชาติ มีสองความหมาย คือหมายถึงสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และหมายถึงสิ่งถูกต้องและดีงามในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่สิ้นสุด
  • ในอดีตผู้คนสร้างบ้านให้เข้ากับสภาพอากาศ คือสร้างบ้านบนเสาสูงหนีน้ำท่วม มุงหลังคากว้างกันแสงแดด และหันตัวเรือนเข้าหาทางลม ตึกแถวในเมืองน้อยใหญ่ก็ใช้หลักการเดียวกัน อีกทั้งเพิ่มการใช้วัสดุและอุปกรณ์พิเศษเพื่อจัดการความร้อนและแสงในสภาพแวดล้อมเมืองซึ่งแออัดกว่า
  • ทุกวันนี้ชุมชนดั้งเดิมหลายชุมชนที่ธำรงความเชื่อเหล่านี้ไว้กลับกลายเป็นชุมชนชายขอบ ถูกมองว่าล้าหลัง ถูกผลักดันและชักนำให้ยอมรับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยี

มรดกวัฒนธรรมมีบทบาทอะไรในการต่อสู้เพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน? เราจะวางใจให้เทคโนโลยีช่วยแก้ไขสภาพเสื่อมโทรมของโลกหรือ? หรือเราควรมองย้อนไปหาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเพื่อหาคําตอบ?

 

วิทยากรจาก 10 ประเทศในอาเซียนได้ร่วมครุ่นคิดถึงคําถามเหล่านี้ในการประชุม ‘ภูมิปัญญาวัฒนธรรมเพื่อการจัดการภูมิอากาศ: บทบาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ซึ่งจัดโดยสยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEACHA หรือ ซีชา) ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12-14 มกราคมที่ผ่านมา

 

มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักกิจกรรม นักวิชาการ ผู้นําทางศาสนา สถาปนิก นักเขียน และศิลปิน แต่เสียงที่ทรงพลังที่สุดเป็นของผู้นําเยาวชนรุ่นใหม่ 16 คน หลายคนมาจากกลุ่มชนพื้นเมืองและชนชาติพันธุ์ ดังที่ตัวแทนเยาวชนไทยคนหนึ่งประกาศในการอภิปรายว่า “เรื่องนี้มันใหญ่มากค่ะ!”

 

ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอดีตเห็นคุณค่าของระบบนิเวศอันรุ่มรวย พวกเขาจึงตั้งใจดูแลรักษา กลุ่มคนล่าสัตว์หาของป่าใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ แต่พวกเขาปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความเคารพและเอาใจใส่ เกษตรกรที่ทำไร่หมุนเวียน เช่น ชาวกะเหรี่ยงในเมียนมาและไทยอาจหมุนเวียนที่ดินทุกๆ 20-30 ปี เพื่ออภิบาลความอุดมสมบูรณ์ของดิน ชาวประมงและเกษตรกรทํางานตามปฏิทินที่ธรรมชาติกําหนด

 

กิจกรรมเหล่านี้เชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่ามนุษย์ แผ่นดิน ธรรมชาติ เทพเจ้า และภูตผี ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวกันที่มีความสมดุลในตัว แนวคิดเดียวกันนี้พบได้ในชุมชนต่างๆ มากมาย เห็นได้ในศาสนาและความเชื่อทางจิตวิญญาณของหลายชุมชน

 

กลุ่มชาวไทขาวในแถบเทือกเขาทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามมีคติการนับถือผี ในประเทศอินโดนีเซีย ชาวชวานับถือศาสนาอิสลาม แต่ชาวนาในบาหลีเคร่งในหลักไตรหิตครณะของศาสนาฮินดู ที่ผูกมัดชีวิตของบุคคลกับชุมชน การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และภูตในเทวาลัยนับไม่ถ้วนที่กระจายอยู่ตามชนบทของเกาะ ส่วนคนไทยนับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็เชื่อเรื่องภูตผี

 

พิธีกรรมการบวงสรวงเซ่นขอฝน (xên xo phôn) ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในเวียดนาม

ภาพ: Hoàng Cầm

 

หลักการสากลในหมู่ชุมชนเก่าแก่เหล่านี้ไม่ว่าจะใช้ภาษาไหนหรือนับถือศาสนาใด คือความสําคัญของสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และอำนาจของภูตผี ในหมู่ชาวมุสลิมของอินโดนีเซีย คําว่า มีซัน (Mizan) ไม่เพียงแต่หมายถึง ‘ความสมดุล’ เท่านั้น แต่โดยทั่วไปแล้วยังหมายถึงระเบียบอันเหมาะสมแห่งจักรวาลอีกด้วย สำหรับชาวไทยพุทธ คําว่า ธรรมชาติ มีสองความหมาย คือหมายถึงสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และหมายถึงสิ่งถูกต้องและดีงามในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไม่สิ้นสุด

 

ความเชื่อเหล่านี้ไม่ได้จํากัดอยู่เฉพาะในหมู่คนภูเขาและชาวนา ชาวเมืองและเจ้าเมืองก็มีความเชื่ออย่างเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ธรรมชาติแสดงพลังอันน่าสะพรึงกลัว เมื่อ 200 ปีก่อน หลังภูเขาไฟปะทุหลายครั้งและไต้ฝุ่นโหมกระหน่ำ เจ้าผู้ครองชวาองค์หนึ่งได้เขียนธรรมนูญขึ้นเพื่อรักษาดุลยภาพระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทพเจ้า

 

ในอดีตผู้คนสร้างบ้านให้เข้ากับสภาพอากาศ คือสร้างบ้านบนเสาสูงหนีน้ำท่วม มุงหลังคากว้างกันแสงแดด และหันตัวเรือนเข้าหาทางลม ตึกแถวในเมืองน้อยใหญ่ก็ใช้หลักการเดียวกัน อีกทั้งเพิ่มการใช้วัสดุและอุปกรณ์พิเศษเพื่อจัดการความร้อนและแสงในสภาพแวดล้อมเมืองซึ่งแออัดกว่า

 

ทุกวันนี้ชุมชนดั้งเดิมหลายชุมชนที่ธำรงความเชื่อเหล่านี้ไว้กลับกลายเป็นชุมชนชายขอบ พวกเขาถูกมองว่าล้าหลัง ถูกผลักดันและชักนำให้ยอมรับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่พึ่งพาเทคโนโลยี เมื่อคอนกรีตและเครื่องปรับอากาศเข้ามา สถาปนิกและช่างก่อสร้างก็ละทิ้งวิธีการแบบเก่า เมืองจึงกลายเป็นแหล่งสวาปามพลังงานพร้อมความร้อนที่แผ่พุ่ง

 

แต่วิธีการดั้งเดิมยังเอามาฟื้นฟูใช้ใหม่ได้ อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ปรับปรุงใหม่ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้ประยุกต์หลักการดั้งเดิมมาสร้างอาคารหลายชั้นที่ไร้เครื่องปรับอากาศ

 

ในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมา แนวคิดตะวันตกที่เชิดชู ‘ความทันสมัยทางวิทยาศาสตร์’ ได้ผลักมรดกท้องถิ่นไปจนตกขอบ วาทกรรมระดับโลกเพื่อต่อกรกับภาวะโลกร้อนซึ่งชาติตะวันตกเป็นผู้ครอบงํา เป็นวาทกรรมที่เน้นเทคโนโลยีใหม่ๆ วิทยากรหลายท่านในการประชุมที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งของการมองหาวิธีแก้ด้วยเทคโนโลยีสําหรับปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีตั้งแต่แรก และเรียกร้องให้เกิดการผนวกความเชื่อ แนวปฏิบัติ และเทคนิค ที่มีในขนบดั้งเดิมเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์ภูมิอากาศของชาติ

 

การประชุม ‘ภูมิปัญญาวัฒนธรรมเพื่อการจัดการภูมิอากาศ: บทบาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม 2566 ที่สยามสมาคมฯ

 

การประชุม COP27 ซึ่งเป็นการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จัดขึ้นในประเทศอียิปต์ปีที่แล้วได้กล่าวถึง ‘มิติทางวัฒนธรรม’ ของสาเหตุการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเรียกร้องให้ใช้วัฒนธรรมช่วยแก้ไข จากผลการประชุมมรดกทางวัฒนธรรมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สยามสมาคมฯ และสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะร่วมกับ Petra National Trust ประเทศจอร์แดน ผลักดันมิติทางวัฒนธรรมให้เข้าไปเป็นวาระหนึ่งของการประชุม COP28 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีนี้ที่ดูไบ

 

ประเทศไทยและประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเป็นผู้นําโลกในการใช้มรดกทางวัฒนธรรมเป็นส่วนสําคัญเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระดับสากล แต่มรดกของภูมิภาคนี้เองยังคงถูกคุกคาม รัฐบาลของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงจําเป็นต้องมีนโยบายปกป้องมรดกวัฒนธรรมที่เข้มแข็งขึ้น เพื่อช่วยปกป้องโลกของเรา

 

เจมส์ สเต็นท์ กรรมการสยามสมาคมฯ และที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคมมรดกวัฒนธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ‘บทความนี้ได้รับการดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566’

 

บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์

แปลเป็นภาษาไทย: วิษณุ เอื้อชูเกียรติ

 

คำอธิบายภาพเปิด: โบราณสถานปรัมบานันและภูเขาไฟเมราปี เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X