ข้อมูลจาก Epiq Bankruptcy ผู้ให้บริการข้อมูลการยื่นฟ้องล้มละลายของสหรัฐฯ พบว่า การยื่นขอล้มละลายตามมาตรา 11 ของกฎหมายสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 68% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสาเหตุสืบเนื่องจากการที่บริษัทได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
รายงานระบุว่า ในบรรดาบริษัทที่ยื่นขอล้มละลายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ รวมถึงบริษัทชั้นนำที่เป็นที่รู้จักในตลาดอย่าง SVB Financial Group, Envision Healthcare Corp., Bed Bath & Beyond, Party City Holdco, Lordstown Motors และ Kidde-Fenwal
Amy Quackenboss ผู้อำนวยการบริหารของสถาบัน American Bankruptcy Institute กล่าวในแถลงการณ์ว่า การเติบโตของการยื่นคำร้องขอล้มละลาย สะท้อนให้เห็นถึงครอบครัวและธุรกิจจำนวนมากขึ้นที่กำลังเผชิญกับภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักสู่ช่วงเป้าหมายที่ 5% เป็น 5.25% หลังจากปรับขึ้น 10 ครั้งติดต่อกัน ทำให้การกู้ยืมมีราคาแพงขึ้นสำหรับบริษัทและบุคคลทั่วไป และแม้ว่าล่าสุดในเดือนมิถุนายน Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่ Fed ก็ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในสิ้นปี 2023
ทั้งนี้ รายงานของ Epiq พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีการยื่นฟ้องขอล้มละลายเชิงพาณิชย์ตามมาตรา 11 จำนวนทั้งสิ้น 2,973 คดีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ 1,766 คดี
นอกจากนี้การยื่นของล้มละลายตามมาตร 13 ของบุคคลธรรมดา ยังปรับตัวเพิ่มขึ้น 23% ในช่วงครึ่งปีแรกนี้เช่นกัน ส่วนการยื่นฟ้องล้มละลายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจัดอยู่ในประเภทกฎหมายย่อยบทที่ 5 ของมาตรา 11 ปรับเพิ่มขึ้น 55%
ขณะเดียวกันมีรายงานอธิบายภาวะ Inverted Yield Curve คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น ‘สูงกว่า’ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุยาว ซึ่งทำสถิติแตะระดับลึกที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 หรือในรอบกว่า 40 ปี ว่ากำลังสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ในตลาดที่บ่งชี้ว่า ในขณะที่นักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นจะสูงขึ้น พวกเขาอาจกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความสามารถของ Fed ในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพบว่า เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 2 ปี กับ 10 ปี 2/10 ปีได้จะ Inverted (พลิกกลับ) ภายในช่วง 6-24 เดือนก่อนเกิดภาวะถดถอยแต่ละครั้งตั้งแต่ปี 1955
Anu Gaggar นักยุทธศาสตร์การลงทุนระดับโลกของ Commonwealth Financial Network พบว่า นับตั้งแต่ปี 1900 มี Inverted Yield Curve เกิดขึ้นทั้งหมด 28 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้ 22 ครั้งเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมา อีกทั้งในภาวะถดถอย 6 ครั้งล่าสุดพบว่า ภาวะถดถอยโดยเฉลี่ยเริ่มขึ้นในช่วง 6-36 เดือนหลังจากเกิด Inverted Yield Curve
ด้านนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งอธิบายว่า สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้บรรดาธนาคารพาณิชย์ทั่วสหรัฐฯ เพิ่มอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคและสินเชื่อเพื่อการพาณิชย์ที่หลากหลาย รวมถึงสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดเล็กและบัตรเครดิต ทำให้การกู้ยืมมีต้นทุนสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค ขณะที่อัตราการจำนองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ Yield Curve หรือเส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ในแต่ละช่วงอายุ เป็นเหมือนเครื่องส่งสัญญาณชี้วัดวงจรเศรษฐกิจและบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดังนั้นการที่ Yield Curve ชันขึ้น ธนาคารก็จะสามารถกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยให้กู้ยืมจะสูงขึ้นหาก Yield Curve แบนลง ส่งผลให้การขอสินเชื่อลดลง ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวหรือหยุดชะงัก
อ้างอิง: