×

บอยคอตฟุตบอลโลก บทลงโทษสุดท้ายที่จะส่งแรงกดดันไปถึงวลาดิเมียร์ ปูติน

29.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • ชาติมหาอำนาจจากทั่วโลกเริ่มเดินหน้าขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตของรัสเซียออกจากประเทศ หลังจากที่มีข้อกล่าวหาว่ารัสเซียพยายามสังหารอดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซียที่เมืองซาลิสบิวรี ประเทศอังกฤษ
  • แรงกดดันเริ่มส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจไปฟุตบอลโลกของทีมชาติต่างๆ เนื่องจากหลายฝ่ายต้องการสร้างแรงกดดันให้รัสเซีย เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อข้อกล่าวหา
  • จากบทเรียนทางการเมืองและกีฬา แสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจบอยคอตการแข่งขันมหกรรมกีฬาไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ จากตัวอย่างของโอลิมปิกฤดูร้อนที่รัสเซียเมื่อปี 1980

เมื่อคืนวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย ฟุตบอลอุ่นเครื่องระหว่างชาติมหาอำนาจในวงการฟุตบอลได้จบลงไปเป็นที่เรียบร้อย บราซิลได้ล้างแค้นเยอรมนีด้วยการเอาชนะไป 1-0 เช่นเดียวกับสเปนที่เอาชนะ อาร์เจนตินาไป 6-1 และฝรั่งเศสที่เอาชนะเจ้าภาพรัสเซียไปได้ 3-1

 

 

เวทีการเมืองโลกก็ร้อนระอุไม่แพ้กับการแข่งขันในสนามฟุตบอล เมื่อหลายชาติทั่วโลกทั้งสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย รวมถึงสมาชิกสหภาพยุโรป 17 ชาติ ตัดสินใจขับเจ้าหน้าที่ทูตออกจากประเทศ หลังจากที่สหราชอาณาจักรกล่าวหารัสเซียว่าพยายามสังหาร เซอร์เกย์ สกรีปอล อดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซียกับลูกสาวที่เมืองซาลิสบิวรีในอังกฤษด้วยสารเคมีทำลายประสาท ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือฝรั่งเศส ชาติที่เพิ่งส่งนักเตะลงสนามแข่งขันกับเจ้าภาพเมื่อคืนที่ผ่านมา โดย CNN รายงานว่าเตรียมขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตรัสเซีย 4 คน จำนวนเท่ากับประตูที่ทั้งสองทีมยิงได้ในแมตช์อุ่นเครื่องเมื่อคืนที่ผ่านมา

 

แต่อย่างไรก็ตาม แม้บรรยากาศในสนามการเมืองจะมีการพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะไม่ส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซีย แต่กลับมาในสนามฟุตบอล บรรยากาศกลับมีเพียงการแข่งขันและฟอร์มการเล่นของพอล ป็อกบา นักเตะทีมชาติฝรั่งเศสที่เป็นที่พูดถึง เพราะบรรยากาศการอุ่นเครื่องทำให้ผู้คนเริ่มตื่นเต้นกับฟอร์มการเล่นของทีมเหล่านี้ที่เตรียมพร้อมไปวาดลวดลายกันในรัสเซีย แม้ว่าตัวแทนทูตของพวกเขาจะไม่เดินทางไปด้วยก็ตาม

 

โอลิมปิกฤดูร้อน 1980 วันที่การเมืองมีอิทธิพลเหนือกีฬา

การเมืองกับกีฬาโคจรมาพบกันในเวลาใกล้เคียงเสียงนกหวีดแรกของมหกรรมกีฬาระดับโลกอีกครั้ง นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาติมหาอำนาจใช้กีฬาเป็นเหมือนเครื่องมือกดดันประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยเฉพาะรัสเซีย ในวันที่พวกเขาเรียกตัวเองว่าสหภาพโซเวียตก็เคยผ่านความกดดันรูปแบบนี้มาแล้ว

 

 

ปี 1980 เป็นครั้งแรกที่มหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิกฤดูร้อนได้ถูกจัดขึ้นที่กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ในวันนั้นสนามลุจนีกียังถูกเรียกว่าสนามกลางเลนิน และถูกใช้เป็นสนามสำหรับเกมนัดเปิดสนามของศึกฟุตบอลโลก 2018

 

แต่โอลิมปิกครั้งนั้นกลับขึ้นชื่อว่าเป็นมหกรรมกีฬาที่มีการบอยคอตครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน โดยเมื่อวันที่ 20 มกราคม 1980 จิมมี คาร์เตอร์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นคำขาดต่อสหภาพโซเวียตว่า ทางสหรัฐฯ จะไม่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก 1980 ที่มอสโก หากทหารโซเวียตไม่ถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถานภายในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งเมื่อเลยวันที่กำหนด โซเวียตก็ไม่ถอนกำลัง ทำให้สหรัฐอเมริกาพร้อมกับ 65 ชาติตัดสินใจไม่เข้าร่วมมหกรรมการแข่งขันโอลิมปิก 1980 ขณะที่ชาติที่เข้าร่วมแข่งขันมีทั้งหมด 80 ชาติ จากทั้งหมด 147 ประเทศสมาชิก

 

โดยชาติที่ไม่เข้าร่วมได้เดินทางไปแข่งขันมหกรรมกีฬาที่มีชื่อว่า Liberty Bell Classic ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งการแข่งขันครั้งนั้นได้ฉายาว่า ‘โอลิมปิก บอยคอตเกมส์’

 

 

“โอลิมปิกจัดขึ้นเพื่อสันติภาพ”

โอลิมปิกครั้งต่อมาที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 1984 ทางฝั่งรัสเซียก็ได้ตอบโต้ด้วยการไม่ส่งทีมชาติเข้าร่วมแข่งขัน พร้อมกับ 13 ประเทศที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเช่นกัน ซึ่งทาง โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเวลานั้นก็ได้กล่าวถึงจิตวิญญาณของการแข่งขันโอลิมปิกที่แท้จริงไว้ว่า

 

“เราต้องนึกถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของการแข่งขันโอลิมปิกที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 2,000 ปีก่อน ซึ่งจุดเริ่มต้นของเกมนี้คือความต้องการที่จะนำสันติภาพมาสู่กรีก และการแข่งขันโอลิมปิกในช่วงเวลานั้น แม้จะมีสงครามระหว่างรัฐ พวกเขาต้องยุติสงคราม เพื่อที่จะสามารถจัดการแข่งขันโอลิมปิกได้ น่าเสียดายที่เราไม่มีความศิวิไลซ์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

 

 

ฟุตบอลโลก 1930 กับการบอยคอตเพราะระยะทาง

ฟุตบอลโลกกับการบอยคอต เรียกได้ว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกัน เพราะในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกที่อุรุกวัย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกฟุตบอลชายเมื่อปี 1928 เนื่องจากเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก ทุกชาติที่เป็นสมาชิกของฟีฟ่าจึงได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ชาติต่างๆ ในยุโรป ทั้งอิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน และสวีเดน ต่างตัดสินใจไม่เดินทางมาเข้าร่วม เนื่องจากไม่ต้องการเดินทางไปอเมริกาใต้ เช่นเดียวกับออสเตรีย เยอรมนี เชโกสโลวาเกีย และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ต่างถอนตัวเพราะต้องใช้เวลาเดินทางโดยเรือถึง 3 สัปดาห์

 

 

การบอยคอตมหกรรมกีฬาได้ผลทางการเมืองจริงหรือ

หากเปรียบเทียบจากโอลิมปิกในปี 1980 จะเห็นว่าการตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกเพื่อสร้างแรงกดดันให้สหภาพโซเวียตถอนทัพออกจากอัฟกานิสถานไม่ได้ผลแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายรัฐบาลโซเวียตไม่ได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่ จนกระทั่งในปี 1989 หลังจากใช้เวลาอยู่ในอัฟกานิสถานเป็นเวลา 9 ปี (ตั้งแต่ปี 1979) ซึ่งหลังจากการถอนทัพของโซเวียตในปีนั้นก็ส่งผลกระทบแบบโดมิโนที่นำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991

 

การตัดสินใจของชาติมหาอำนาจกับการไม่ไปฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงมีแต่จะทำให้ทุกอย่างแย่ลง เพราะเนื่องจากจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อนักฟุตบอลที่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อสิทธิ์ในการร่วมแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

 

นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาฟุตบอลโลก ปี 2014 เต็มไปด้วยเรื่องราวนอกสนามที่ทำให้แฟนกีฬาหลายคนลังเลว่าเขาควรเดินทางไปร่วมเชียร์ที่สนามหรือไม่

 

ก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 ที่ประเทศบราซิลจะเริ่มต้นขึ้น ได้มีการรายงานข่าวถึงความอันตรายต่อแฟนบอลที่ต้องการเดินทางไปชมการแข่งขัน ซึ่งแม้ว่าระหว่างการแข่งขันจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นมากเท่าที่หลายฝ่ายกังวล แต่ภาพลักษณ์ของฟุตบอลโลกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความอันตรายมากขึ้น

 

 

เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ขององค์กรสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ที่มีทั้งข่าวการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการเตรียมใช้ระบบช่วยการตัดสินด้วยวิดีโอ หรือเทคโนโลยี VAR ระบบที่หลายคนยังไม่มั่นใจว่าจะเข้ามาช่วยให้การตัดสินแม่นยำขึ้น หรือทำลายความลื่นไหลของเกมเข้ามาใช้ในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีสงครามการเมืองที่กำลังแผ่รังสีเข้าใกล้สนามฟุตบอลมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนเริ่มไม่มั่นใจว่าเขาสามารถคาดหวังอะไรได้จากฟุตบอลโลกครั้งนี้

 

 

เจ้าภาพหวังจะได้อะไรจากฟุตบอลโลกครั้งนี้

สุดท้ายนี้ก็คงเหลือแค่คำถามเดียวว่า วลาดิเมียร์ ปูติน คาดหวังอะไรจากฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพราะจากประวัติศาสตร์ของกีฬาที่เหมือนดาบสองคมที่สามารถนำพามาซึ่งชื่อเสียง เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ หรือสามารถใช้เป็นเครื่องมือแสดงความไม่พอใจต่อความขัดแย้งในเวทีการเมืองโลก แล้วฟุตบอลโลกครั้งนี้ล่ะ จะถูกใช้เป็นอะไรสำหรับรัสเซีย

 

บทความ Russia’s World Cup: a Putin own goal? ของ Financial Times เชื่อว่า กลุ่มคนที่ปูตินต้องการสร้างความประทับใจมากที่สุดคือคนรัสเซียเองมากกว่านักท่องเที่ยว แฟนบอล หรือแม้กระทั่งผู้สื่อข่าวที่เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขัน

 

“ฟุตบอลโลกครั้งนี้เป็นการบอกประชาชนชาวรัสเซียว่า ดูสิว่าพวกเรายอดเยี่ยมขนาดไหน” มานูเอล เวท บรรณาธิการของ Futbolgrad สื่อกีฬาที่รายงานเกี่ยวกับประเทศรัสเซียหลังยุคโซเวียตผ่านมุมมองของกีฬาฟุตบอล  

 

เช่นเดียวกับ คอนสแตนติน กัวด์เจียฟ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยชื่อดังจากไอร์แลนด์ ที่มองว่าปูตินต้องการใช้กีฬาผลักดันให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยการออกกำลังกาย เนื่องจากคนรุ่นก่อนที่นิยมการดื่มแอลกอฮอล์กำลังมีจำนวนลดลง นอกจากนี้ยังเป็นการดึงคนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มแรงงานเยาวชนที่มักสนใจฟุตบอลท้องถิ่น และเยาวชนที่มีการศึกษาซึ่งมักนิยมทีมฟุตบอลในต่างแดนกลับมาร่วมสนุกในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้

 

แต่ด้วยผลงานทีมชาติรัสเซียที่อยู่ในช่วงเวลาที่ตกต่ำ ปัจจุบันพวกเขาอยู่ในอันดับที่ 65 ของโลก ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดใน 32 ทีมที่เข้าร่วมศึกฟุตบอลโลกในครั้งนี้ นอกจากนี้ผลงานอุ่นเครื่อง 5 นัดหลังสุด พวกเขาไม่สามารถชนะใครได้ และยังเสียประตูรวมกันถึง 9 ประตูใน 3 เกมที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าผลงานในสนามคงไม่ใช่เป้าหมายหลักที่รัสเซียสามารถคาดหวังได้มากนัก

 

แม้ว่าในช่วงเวลานี้หลายฝ่ายจะมีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลรัสเซียที่สร้างชื่อเสียงด้านลบไว้ในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2016 รวมถึงความตึงเครียดระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างรัสเซีย อเมริกา และอังกฤษ แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายเชื่อว่าฟุตบอลโลกที่รัสเซียจะมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากทางรัสเซียต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศในระหว่างการแข่งขันผ่านการบริหารจัดการที่มีความปลอดภัย เหมือนกับที่วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย ได้พูดกับทางตำรวจของรัสเซียเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า

 

“ความปลอดภัยของนักฟุตบอลและแฟนบอลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และพวกคุณมีส่วนสำคัญในการดำเนินการให้สำเร็จตามแผน

 

“การแข่งขันรายการนี้และภาพลักษณ์ของประเทศเราขึ้นอยู่กับการทำงานที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพของพวกคุณ”

 

การเดินเข้าสนามกีฬาที่มีการแข่งขันระหว่างสองชาติ สิ่งที่เรามักจะเห็นหรือได้ยินคือเสียงคำรามของนักกีฬาที่ลงแข่งขัน การจูบตราสัญลักษณ์หรือธงชาติบนหน้าอกหลายครั้งที่สามารถทำคะแนนได้ หรือเสียงของแฟนบอลที่ตะโกนส่งเสียงเชียร์โดยมีชื่อของประเทศนั้นๆ อยู่ในเพลงที่ขับร้องเพื่อเป็นการส่งกำลังใจลงสู่สนาม เพื่อตัวแทนของพวกเขาจะได้ทำผลงานได้อย่างเต็มที่และเอาชนะคู่แข่งจากชาติฝั่งตรงข้าม

 

ความคล้ายคลึงจุดนี้เองที่ทำให้กีฬาถูกเปรียบว่าเป็นสนามรบจำลองที่นำเอานักสู้หรือนักกีฬาที่ดีที่สุดจากประเทศนั้นๆ มาลงแข่งขันกันในสนาม

 

จุดนี้เองที่การเมืองในแต่ละประเทศเข้ามามีบทบาทในกีฬา เพราะพลังของความสำเร็จในสนามเปรียบเสมือนชัยชนะเหนือศัตรูคู่อริในสมรภูมิการต่อสู้ในสมัยก่อน เหมือนที่ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงานอย่าง Animal Farm และ 1984 ได้เคยพูดถึงด้านมืดของกีฬาไว้ว่า กีฬาที่ลงแข่งขันกันโดยมีศักดิ์ศรีเป็นเดิมพันคือ ‘สงครามที่ไม่มีการยิงกัน’ หรือ War Minus the Shooting เพราะความจริงแล้วสิ่งที่ซ้อนอยู่ในความรู้สึกของคนดูคือความเกลียดชัง ริษยา และพร้อมที่จะโอ้อวดผลการแข่งขันใส่กัน และสำคัญที่สุดคือการปลุกความรักชาติขึ้นมา

 

จากการสำรวจประวัติศาสตร์และบทเรียนจากกาลเวลาจะเห็นได้ว่ากีฬากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกันมาโดยตลอด เพียงแต่บริบทของการเมืองมักจะถูกซ้อนอยู่ใต้ความรู้สึกของความสำเร็จหรือล้มเหลวของนักกีฬา และไม่ว่าจะมีความพยายามมากขนาดไหนที่จะนำการเมืองออกจากกีฬา ความยากลำบากของมันคือความรู้สึกที่อยู่ในจิตใต้สำนึกที่เราได้จากการรับชมการแข่งขันในทุกครั้ง

 

ขณะที่การใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสร้างแรงกดดันทางการเมืองไม่เคยส่งผลดีต่อความขัดแย้งที่มีในโลก เพราะนอกจากจะสร้างความบาดหมางและ ‘การเอาคืน’ จากชาติที่โดนบอยคอตแล้ว ยังเป็นการตัดโอกาสสู่ความสำเร็จของนักกีฬาที่ฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อโอกาสลงแข่งขันในระดับสูงที่สุด

 

ในขณะเดียวกันก็มีหลายครั้งที่ฝ่ายการเมืองใช้กีฬาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสันติภาพบนโลก เช่น การทูตปิงปองเมื่อปี 1971 ที่นักกีฬาปิงปองระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มต้นพูดคุยแลกเปลี่ยนของที่ระลึกระหว่างการแข่งขันปิงปองที่ประเทศญี่ปุ่น จนนำไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการใช้กีฬาเป็นเวทีเรียกร้องสิทธิทางการเมือง ซึ่งเปิดประเด็นทางสังคมให้คนถกเถียงกันเพื่อนิยามความยุติธรรมและความถูกต้อง

 

ประวัติศาสตร์ได้บอกเราแล้วว่าการใช้กีฬาเพื่อส่งเสริมสันติภาพต้องทำอย่างไร แต่ “น่าเสียดายดายที่เราไม่มีความศิวิไลซ์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X