DSI เผยผลสอบสวนหุ้น ‘สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น’ รับเป็นคดีพิเศษแล้ว หลังพบหลักฐานคนใน-อดีตผู้บริหาร เข้าข่ายทำความผิดอาญา ฉ้อโกงเงินสร้างความเสียหาย 5 หมื่นล้านบาท พร้อมรับเป็นคดีพิเศษ ลุยออกหมายเรียกคนที่เกี่ยวข้องมาสอบเพิ่ม คาดภายใน 1 เดือนได้ข้อสรุปทางคดีส่งอัยการฟ้อง
พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ความคืบหน้าในการสอบสวนคดีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น หรือ STARK ที่มีตัวแทนเข้ามาดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ DSI และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อให้สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตภายในและการฉ้อโกงเงินของบริษัทนั้น โดยใช้ระยะเวลาสอบสวนมาประมาณ 1 เดือน ปัจจุบันทีมงานสืบสวนของ DSI ตรวจสอบข้อมูลสอบสวนพยานทั้งผู้เสียหายและบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 3 ราย จาก บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทั้งนี้ คณะพนักงานสืบสวน DSI พบข้อมูลหลักฐานว่ามีการกระทำผิดทางอาญาแล้ว ซึ่งเข้าข่ายลักษณะเป็นคดีพิเศษ จึงสรุปมีมติได้รับเรื่องกรณีของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น เข้าเป็นคดีพิเศษของ DSI แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยพบว่า ข้อมูลหลักฐานมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีนี้เป็นกรณีที่มีคนในบริษัท STARK มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการฉ้อโกงด้วยแน่นอน รวมถึงผู้บริหารชุดเดิมที่เข้าข่ายมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ถือเป็นคดีที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศ
“ขณะนี้อยู่ระหว่างทำเรื่องขั้นตอนทางธุรการเพื่อส่งเรื่องต่อมาที่ผม (อธิบดี DSI) เพื่อให้อนุมัติเป็นคดีพิเศษของ DSI ตามขั้นตอน ซึ่งกลางสัปดาห์นี้การรับเรื่องจะเสร็จเรียบร้อย คดีนี้มีการร่วมมือกันทำงานกับหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงาน ก.ล.ต., สำนักงาน ปปง. และ บก.ปอศ.”
สำหรับขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปหลังรับเรื่อง บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น เป็นคดีแล้ว DSI จะใช้อำนาจของการสอบสวนที่มีเพิ่มขึ้นแบบเต็มรูปแบบ เพราะ DSI จะมีอำนาจในการสอบสวนเพิ่มขึ้น โดยจะมีการเร่งงานขยายการสอบสวนออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหมายเรียกเอกสารต่างๆ มาดำเนินการเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี นำไปสู่การฟ้องร้องกล่าวโทษกับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 1 เดือนที่การสอบสวนจะมีผลสรุปความชัดเจนในทางคดีออกมา ซึ่งนำไปสู่การมีคำสั่งฟ้องของพนักงานอัยการ
“ในชั้นการสืบสวนที่ทำมา 1 เดือน พบรายละเอียดและพยานหลักฐานค่อนข้างมาก คิดว่าเอาผิดกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ไม่ยาก ส่วนจำนวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดเราขอสงวนข้อมูลไว้ก่อน คงจะมีการชี้แจงข้อมูลต่อไปอีกครั้ง เพราะตอนนี้เราเห็นตัวละครที่มีส่วนเกี่ยวข้องแล้วว่าใครบ้างที่มีส่วนเกี่ยวกับปัญหาของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น”
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากตำรวจให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ประสานขอความร่วมมือจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้เข้ามาช่วยตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินของ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการทำงานซึ่งต้องมีการตรวจข้อมูลของงบดุลบัญชีย้อนหลังในช่วงปี 2563-2565 ที่เกิดปัญหา เพื่อรวบรวมเก็บหลักฐานให้ชัดเจนว่ามีผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดบ้าง
โดยช่วงวันที่ 18-19 เมษายน 2566 บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) แจ้งว่า บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและกรรมการชุดย่อยของบริษัท จากกรรมการทั้งสิ้น 7 คน ติดภารกิจส่วนตัวจึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าได้ มีรายชื่อดังนี้
- ชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการบริษัท
- ศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ กรรมการ
- กุศล สังขนันท์ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- ประกรณ์ เมฆจำเริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ
- นิรุทธ เจียกวธัญญู กรรมการ
- ทรงภพ พลจันทร์ กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
- นิติ จึงนิจนิรันดร์ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
พร้อมทั้งแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการที่ลาออก 5 คน ได้แก่
- พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ประธานกรรมการบริษัท และกรรมการอิสระ
- อภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- เสนธิป ศรีไพพรรณ กรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- สุวัฒน์ เชวงโชติ กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
- นพดล ธีระบุตรวงศ์กุล กรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
หลังจากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ ในวันที่ 24 เมษายน 2566 บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการของบริษัท จากกรรมการทั้งสิ้น 3 คนที่เพิ่งแต่งตั้งมารับตำแหน่งใหม่เพียงไม่กี่วัน เนื่องจากกรณีที่บริษัทจัดทำงบการเงิน ปี 2565 ล่าช้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ของบริษัท จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งกรรมการเข้ามาเพื่อปฏิบัติงานแทนกรรมการชุดเก่าเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สามารถดำเนินการจัดทำงบการเงินในระหว่างการสรรหากรรมการที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของบริษัท
รายชื่อกรรมการที่ลาออก 3 คนมีดังนี้
- นพดล ธีระบุตรวงศ์กุล ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
- สุวัฒน์ เชวงโชติ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
- เสนธิป ศรีไพพรรณ ลาออกจากตำแหน่งกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ และประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
ต่อมาในวันที่ 24 เมษายน 2566 ได้แต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการเดิมที่ลาออก 3 คน ดังนี้
- อภิวุฒิ ทองคำ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
- อรรถพล วัชระไพโรจน์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2566 เป็นต้นไป