วันนี้ (18 มิถุนายน) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บรรดาผู้แทนระดับสูงของหลายชาติสมาชิกอาเซียนบอกปัด ไม่ร่วมเวทีการประชุมอาเซียนระดับรัฐมนตรีต่างประเทศแบบไม่เป็นทางการ หลังจากที่ได้เชิญผู้แทนรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมตามที่ทางรัฐบาลรักษาการของไทยเสนอและส่งจดหมายเชิญชาติสมาชิก เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้แทนจากประเทศประธานอาเซียน 2023 อย่างอินโดนีเซีย รวมถึง วิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนในครั้งนี้ โดยบาลากริชนันระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะสานสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารอีกครั้งในระดับการประชุมสุดยอด หรือแม้แต่ในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ
ขณะที่รัฐบาลมาเลเซียและเวียดนามเองก็เผยว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของพวกเขาจะไม่เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ เนื่องจากข้อผูกพันก่อนหน้านี้ที่เคยให้ไว้กับบรรดาประเทศสมาชิกในอาเซียน หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการก่อรัฐประหารถูกกันพื้นที่ในการแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในเวทีการประชุมอาเซียนมานานเกือบ 2 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่าง ‘ฉันทามติ 5 ข้อ’ เมื่อปี 2021 ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการสู้รบระหว่างกัน รวมถึงเปิดพื้นที่การเจรจาสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและอนุญาตให้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้อย่างเต็มที่
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลรักษาการของไทยในขณะนี้ รวมถึงนักวิชาการจำนวนหนึ่งเห็นว่า เราไม่ควรโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารเมียนมา แม้พวกเขาจะก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากการเปิดช่องทางสื่อสารกับรัฐบาลทหารเมียนมา รวมถึงผลักให้พวกเขาเข้าสู่โต๊ะเจรจาอาจเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดน
THE STANDARD ได้สอบถามไปยัง ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับการไม่มาร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนของหลายประเทศสมาชิกครั้งนี้ ซึ่งทางณัฐภาณุตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล แต่จะมีการแถลงรายละเอียดที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาในภายหลัง
ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศชี้แจงผ่านเว็บไซต์ว่า ถึงแม้การประชุมพบปะสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการประชุมในกรอบอาเซียน แต่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา ทั้งนี้ ไทยได้แจ้งอย่างเป็นทางการต่อที่ประชุม ASEAN Regional Forum (ARF) ของอาเซียนที่กรุงพนมเปญ เมื่อปี 2565 ว่าไทยจะดำเนินการให้มีการพูดคุยเพื่อหาวิธีซึ่งจะได้มาเพื่อการแก้ปัญหาในเมียนมาอย่างสันติในทุกกรอบ รวมทั้งในกรอบ 1.5 ซึ่งครอบคลุมการประชุมทั้งภาคราชการและวิชาการ โดยสมาชิกอาเซียนรับทราบและไม่มีผู้คัดค้าน
นอกจากนี้ยังชี้แจงเพิ่มว่า ที่ผ่านมาไทยเคยจัดการประชุมอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับเมียนมาแล้วหลายครั้ง ในหลากหลายรูปแบบและหลายระดับ ซึ่งได้จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งทุกครั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศอาเซียนทราบและเชิญเข้าร่วมการประชุมด้วย รวมทั้งเคยจัดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียด้วย
แฟ้มภาพ: Jack Taylor / AFP
อ้างอิง:
- https://www.straitstimes.com/asia/se-asia/myanmar-fm-than-shwe-to-attend-informal-crisis-talks-in-bangkok
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/key-asean-members-skip-thai-hosted-myanmar-talks-amid-criticism-2023-06-18/
- https://www.scmp.com/news/asia/southeast-asia/article/3224513/key-asean-members-skip-thai-hosted-myanmar-talks-amid-criticism