×

กทม. เร่งสะสางสายไฟรกรุงรัง รับแก้ไม่ได้ทันทีเหตุคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน มีต้นทุนสูง ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่าย

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2023
  • LOADING...
สายไฟ

วานนี้ (13 มิถุนายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดการเรื่องสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าว ‘365 วัน ทำงาน ทำงาน ทำงาน กรุงเทพฯ’

 

ระบุว่า บนเสาไฟฟ้าจะประกอบด้วยสายไฟฟ้าแรงสูง สายไฟฟ้าแรงต่ำ และสายสื่อสาร ความรกรุงรังที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นเพราะสายสื่อสาร ซึ่งมากกว่า 50% เป็นสายเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ปกติค่าพาดสายการไฟฟ้าคิดราคาอยู่ที่ 150-200 บาท/กิโลเมตร/เดือน ในการดำเนินการ กทม. ไม่สามารถสั่งให้ตัดสายหรือสั่งให้นำลงดินในทันทีได้ เนื่องจากมีหลายหน่วยงานดูแล ได้แก่

 

  • กสทช. ซึ่งมี พ.ร.บ. ต่างหาก โดย กสทช. เป็นผู้จัดทำแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน รวมทั้งกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ
  • กทม. ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยสามารถเสนอเส้นทางได้
  • กฟน. ซึ่งอนุญาตให้พาดสายสื่อสารบนเสาและเป็นผู้ดำเนินการหักเสานำสายไฟฟ้าลงดิน
  • ผู้ให้บริการ ซึ่งจะต้องดำเนินการทำตามที่ กสทช. กำหนด
  • NT ผู้ให้บริการท่อร้อยสายสื่อสารและดำเนินการวางท่อร้อยสายสื่อสาร

 

ชัชชาติกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา กทม. มีการหารือกับหน่วยงานเหล่านี้อยู่หลายครั้งเพื่อประสานงานในการจัดเบียบสายสื่อสาร ซึ่งเบื้องต้นต้องเริ่มจากการตัดสายสื่อสารเก่าก่อน จะทำให้จำนวนสายสื่อสารน้อยลง เหลือเพียงสายที่ยังใช้งานอยู่ จากนั้นจึงเริ่มทยอยนำลงดิน

 

ส่วนโครงการเก่าของ กทม. ที่ให้ KT (บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด) ดำเนินการ คนเข้าใจว่าไม่ได้ใช้เงินลงทุน จริงๆ แล้วไม่ได้ฟรี เพราะโครงการ KT นำสายสื่อสารลงดิน 2,000 กิโลเมตร ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งค่าเช่าท่อที่ KT คิดกับผู้ประกอบการอยู่ที่ประมาณ 7,100 บาท/กิโลเมตร/เดือน ส่วนค่าเช่าท่อของ NT หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีท่ออยู่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 3,216 บาท/กิโลเมตร/เดือน

 

ทั้งนี้ KT ได้ดำเนินการนำสายสื่อสารลงดินไปแล้ว 9.9 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งทับซ้อนกับท่อของ NT แต่ KT หาลูกค้าไม่ได้ การจะนำโครงการมาทำต่อจึงต้องคิดให้ดี เพราะไม่จำเป็นต้องมีโอเปอเรเตอร์ที่ทำท่อหลายราย การดำเนินการต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะสุดท้ายค่าเช่าเหล่านี้ประชาชนเป็นคนจ่าย

 

ชัชชาติกล่าวว่า กทม. จึงมีแนวคิดยุติการดำเนินการ เนื่องด้วยต้นทุนสูง ไม่มีงบประมาณ ไม่มีอำนาจบังคับผู้ให้บริการมาใช้ท่อ ค่าเช่าท่อแพง แต่หากเป็นไปได้ก็ให้ NT ทำ เพราะ NT มีท่ออยู่แล้ว ต้องพยายามคุยกันหาทางออก ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกันกับหลายหน่วยงาน โดย กสทช. เป็นผู้วางแผนหลัก

 

สำหรับการดำเนินการที่ กสทช. ได้ร่วมกับผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงดินนั้นเสร็จไปแล้ว 30 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมีบางส่วนที่การไฟฟ้าดำเนินการหักเสาลงดิน ซึ่งยังไม่ได้เยอะ เนื่องจากการนำสายไฟฟ้าลงดินมีราคาแพงมาก ต้องใช้งบประมาณกว่าหลักพันถึงหมื่นล้านบาท ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่การไฟฟ้าหักเสาเพื่อนำสายไฟฟ้าลงดินก็จะนำสายสื่อสารลงดินด้วย แต่การจะนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมดเป็นพันกิโลเมตรการไฟฟ้าจะทำไม่ไหวเพราะราคาสูงมาก

 

อย่างไรก็ตาม กทม. ยังคงเดินหน้าจัดระเบียบสายสื่อสารต่อเนื่อง โดยบางส่วนใช้วิธีการจัดระเบียบ บางส่วนลงท่อของ NT และบางส่วนลงท่อที่ กทม. ปรับปรุงทางเท้า ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่เพียง กทม. ดูแลเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นการประสานงานร่วมกันของหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X