วันนี้ (13 มิถุนายน) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อกรณีการถือครองหุ้น ITV ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในประเด็นที่ กกต. ตั้งคณะสืบสวนสอบสวนพิธาตามกฎหมายมาตรา 151 โดยเห็นว่าควรนำเอกสารส่งเพิ่ม แม้เข้าใจว่าคำร้องที่ได้ยื่นถูกตีตกไป
โดยในประเด็นมาตรา 151 ที่รู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติแต่ยังลงสมัคร เมื่อ กกต. แถลงต่อประชาชนไปแล้ว มีข้อมูล 4 ประเด็นที่จะมามอบให้ คือ 1. รายละเอียดกรณีที่พิธาโพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเอง 2. เรื่องการโอนหุ้นของพิธาที่มีการโอนในวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 3. รายงานการประชุมวาระท้ายที่เกี่ยวกับการซักถามของการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 ที่มีการถามคำถามเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของ ITV รวมถึงไม่ตรงกันกับคลิปภาพที่ออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับคำร้อง และไม่ทำให้ข้อกฎหมายของรัฐธรรมนูญและข้อเท็จจริงที่มาร้องเปลี่ยนไป เพราะกฎหมายบอกว่าผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้น
เรืองไกรกล่าวว่า และ 4. วัตถุประสงค์ของบริษัท ITV หลังจากถูกบอกเลิกสัญญาจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) วัตถุประสงค์หลักยังอยู่คือ การดำเนินธุรกิจสื่อ แต่งบการเงินในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีการระบุไว้ว่า มีการทำธุรกิจสื่อตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 และจะรับรู้รายได้จากการทำสื่อดังกล่าวในไตรมาสที่ 2 พร้อมแนบหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้นบริษัท ITV บางส่วน ปี 2561 และ 2562 โดยมีแผนธุรกิจอย่างละเอียด
เรืองไกรยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลยอมรับว่าพิธาถือหุ้นสื่อจริงว่า เหตุใดไม่แจ้งการถือหุ้น 42,000 หุ้นของ ITV ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ส.ส. และมีการยื่นเพิ่มเติมภายหลังนั้น เพื่อต้องการที่จะปกปิดหรือไม่ และยังมีการเลื่อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินหลังจากพ้นตำแหน่ง ส.ส. อีก จึงขอเรียกร้องให้พิธาเปิดบัญชีทรัพย์สินทั้งหมดต่อสาธารณะทันที หลังจากที่ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หมดแล้ว โดยไม่ต้องรอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน เพื่อแสดงความรับผิดชอบ และไม่เชื่อว่าทรัพย์มรดกจะมีแค่หุ้นนี้เท่านั้น
เรืองไกรยืนยันด้วยว่า การยื่นตรวจสอบการถือครองหุ้นสื่อของพิธาไม่ใช่เป็นกระบวนการปลุกผี เพราะตนเองไม่ใช่พ่อมดหรือหมอผี ทำคนเดียวไม่คิดอะไรเกินเลย มีหน้าที่ร้องก็ร้อง แต่จะไม่ชี้นำสังคมก่อนกระบวนการและเจ้าหน้าที่พิจารณาตัดสิน เพราะทุกวันนี้กระบวนการสังคมมีการชี้นำกัน จะมีเจ้าหน้าที่มีศาลไว้ทำไม
เรืองไกรกล่าวว่า ไม่กังวลกรณีที่ถูกยื่นร้องว่าใช้เอกสารเท็จในการยื่นตรวจสอบตามมาตรา 143 พร้อมยืนยันว่า ทันทีที่ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งแล้ว จะมายื่นร้องตรวจสอบสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีของพิธา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 อีกครั้ง โดยย้ำว่า ถ้ามาตามระบบก็ควรสู้ตามระบบ มาจากการเลือกตั้งก็ควรสู้ตามระบบ มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดที่บัญญัติว่าผู้ชนะการเลือกตั้งห้ามตรวจสอบหรือไม่ เราเลือกตัวแทน ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ขอให้เข้าใจข้อกฎหมายให้ชัดด้วย
ทั้งนี้ เรืองไกรยังยืนยันว่าตัวเองมีฐานะ หลังถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องที่มาของรายได้ 25 ล้านบาท และรถหรู