ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ มาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้ภาครัฐกำลังหวังที่จะใช้ศักยภาพในการช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคโควิด
ก่อนเกิดโรคระบาด การท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทย คิดเป็นประมาณ 20% ของ GDP ในขณะที่โลกค่อยๆ ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด เศรษฐกิจไทยก็มีสัญญาณการเติบโต โดยเพิ่มขึ้น 2.7% ในไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับการเติบโตนี้ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะขยายตัว 3.6% ตลอดทั้งปี พร้อมเชื่อว่าการท่องเที่ยวจะมีบทบาทสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้
เหตุผลที่ภาครัฐของไทยกำลังสนใจนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ มากขึ้น เพราะพลังในการจับจ่ายของพวกเขา จากการวิจัยที่จัดทำโดย Out Now Consulting เอเจนซีการตลาดที่เชี่ยวชาญในตลาดเกย์เผยว่า กลุ่ม LGBTQIA+ ใช้จ่ายประมาณ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.9 ล้านล้านบาทไปกับการท่องเที่ยว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บทเรียนสำหรับธุรกิจ! เมื่อ ‘จุดยืนทางสังคม’ กลายเป็นพายุที่ถาโถมจนต้องระมัดระวังให้ดี หากจะมีส่วนร่วมในหัวข้อที่ละเอียดอ่อนทางการเมือง
- ‘กฎหมายเปิดให้เราไปต่อกับชีวิตคู่ในแบบที่ธรรมดา’ รวมคำพูด ลูกกอล์ฟ คณาธิป ใน THE INTERVIEW Pride Month
- “นี่คือพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับคุณ” Taylor Swift กล่าวต้อนรับ Pride Month บนเวทีคอนเสิร์ต The Eras Tour
ไม่แปลกหากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล็งเห็นถึงศักยภาพการใช้จ่ายที่มหาศาลนี้ จึงตัดสินใจที่จะให้ความสำคัญกับการดึงดูดนักท่องเที่ยว LGBTQIA+ มากขึ้น ผ่านการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดที่กำหนดเป้าหมายกลุ่มประชากรนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น ททท. ได้จัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อกลุ่ม LGBTQIA+ ในยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา
ที่น่าสังเกตคือแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางที่รู้จักกันดีสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ มาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้เองที่หน่วยงานด้านการท่องเที่ยวเพิ่งคิดจะจับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อย่างจริงจัง
ในปีนี้ ททท. กำลังขยายการสนับสนุนงานไพรด์ในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว พวกเขายังเป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ เช่น ภูเก็ตและพัทยา เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจในเดือนมิถุนายน
สิ่งที่น่าสังเกตคือผู้เข้าชมจำนวนมากเหล่านี้ไม่ได้มาเพียงเพื่อเข้าชมขบวนพาเหรดแบบไปเช้าเย็นกลับเท่านั้น จากการวิจัยของ ททท. พบว่าหลายคนเป็นนักเดินทางระยะไกลที่ขยายเวลาการพำนักเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขาสนใจ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากขึ้น
ภาคการแพทย์ของไทยก็มีส่วนในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ มากขึ้น ด้วยไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เนื่องจากมาตรฐานทางการแพทย์ประกอบกับราคาที่แข่งขันได้ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทางการแพทย์กลุ่ม LGBTQIA+ จากเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะ
ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเปิด Pride Clinic ที่ให้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่ครบวงจรซึ่งออกแบบมาสำหรับชุมชน LGBTQIA+ โดยเฉพาะ แม้ว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของคลินิกจะเป็นคนไทย แต่ก็มีลูกค้าต่างชาติจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา บังกลาเทศ ออสเตรเลีย จีน เวียดนาม และสิงคโปร์
นอกจากบริการทางการแพทย์แล้ว ไทยยังได้ประโยชน์จากความสำเร็จของ ‘ซีรีส์วาย’ ซึ่งปีที่แล้วเพียงปีเดียวการส่งออกคอนเทนต์ประเภทนี้ทำรายได้กว่า 1.5 พันล้านบาท
จุดนี้เองทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้จัดงานธุรกิจที่กรุงเทพฯ เพื่อนำผู้ผลิตซีรีส์วายมาพบปะกับลูกค้าจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยการสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจกว่า 158 รายที่คาดว่าจะสร้างมูลค่าการส่งออกเนื้อหาเกี่ยวกับ LGBTQIA+ ได้มากกว่า 3,600 ล้านบาท
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าไทยใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ในประเทศเพื่อนำเสนอตัวเองว่าเป็นจุดหมายปลายทางที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQIA+ ท่ามกลางคำถามของกลุ่ม LGBTQIA+ ในประเทศว่า ในขณะที่ภาครัฐกำลังใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่เหตุใดกฎหมายที่เอื้อเช่น ‘สมรสเท่าเทียม’ กลับไม่ได้รับการผลักดันให้ถูกต้องเสียที?
ภาพ: Lauren DeCicca / Getty Images
อ้างอิง: