“มหาสมุทรคือรากฐานของชีวิต ให้อากาศเราหายใจและอาหารที่เรากิน มหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บความหลากหลายทางชีวภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก เราควรเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมหาสมุทร แต่ตอนนี้มนุษยชาติเป็นศัตรูที่เลวร้ายที่สุด”
– António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ
เรารู้ว่าบทความนี้คนจะไม่สนใจอ่านเท่ากับบทความร้านอาหารเปิดใหม่ แหล่งแฮงเอาต์ใหม่ๆ น่าไปเยือน แต่เนื่องจากวันที่ 8 มิถุนายน 2023 เป็นวัน World Ocean Day เราจึงอยากใช้โอกาสนี้กระตุ้นความสนใจ และอยากให้คนหันมารักษ์ทะเลกันมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง:
คุณเชื่อไหมว่า ‘ถ้าระบบนิเวศของมหาสมุทรพังทลาย มนุษย์จะตาย’ ประโยคนี้ไม่เกินจริงเลยสักนิด ถ้าคุณรู้ว่าเราพึ่งพาอะไรจากท้องทะเลบ้าง
- 3 ใน 4 ของพื้นผิวโลกเป็นมหาสมุทร ส่วนหนึ่งของวัฏจักรคาร์บอน ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตเจริญเติบโต
- มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศ
- เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากกว่า 230,000 สปีชีส์ และคาดว่ามีอีกกว่า 2 ล้านสายพันธุ์ที่ยังไม่ถูกค้นพบ
- ช่วยลดภาวะโลกร้อน แพลงก์ตอนพืชใช้คาร์บอน 30-50% ในอากาศสังเคราะห์แสง
- ออกซิเจนในอากาศที่เราหายใจมากกว่า 70% มาจากสาหร่ายเซลล์เดียวหรือแพลงก์ตอนในมหาสมุทร
- 94% ของปริมาณน้ำทั้งโลกอยู่ในมหาสมุทร
- แหล่งกำเนิดเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ
- แหล่งเกลือและแร่ธาตุต่างๆ
ฉะนั้นการรักษ์และดูแลท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตใต้น้ำย่อมหมายถึงความยั่งยืนของสิ่งมีชีวิตและเหล่ามวลมนุษย์ด้วย
จากรายงานในเว็บไซต์ข้อมูลสภาพอากาศ ClimateReanalyzer.org เผยว่า ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นจนทำลายสถิติเดิมจากเฉลี่ย 21.00 องศาเซลเซียส มาเป็น 21.10 องศาเซลเซียส ถึงแม้จะแค่ 0.10 แต่นั่นหมายความว่าโลกกำลังร้อนขึ้นหลายองศาเซลเซียส ปะการังฟอกขาวมากขึ้น และน้ำทะเลกำลังสูงขึ้น
อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของสำนักข่าว Thai PBS Online อาจารย์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้ข้อมูลว่า ปีนี้อุณหภูมิน้ำทะเลช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ฝั่งอ่าวไทยสูงเกิน 32 องศาเซลเซียส จากการสำรวจปะการังที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง ที่เคยฟอกขาวเริ่มซีดและตายลง คาดว่าอัตรารอดแค่ 5-10 เปอร์เซ็นต์
ทะเลไทยกำลังจะตายหรือเปล่า?
มหาสมุทรร้อนขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของแนวปะการัง และเชื่อมโยงกับการเติบโตของสาหร่ายทะเลบางชนิดที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ เนื่องจากแย่งออกซิเจนในน้ำและทำให้สัตว์ทะเลหายใจลำบาก การประมงต้องปิดตัว นอกจากนี้น้ำทะเลอุ่นขึ้นยังส่งผลต่อการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ นั่นหมายความว่าคาร์บอนในโลกเหลือมากขึ้น และกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น
ทุกวันนี้มนุษย์เราทำลายมหาสมุทรโดยไม่รู้ตัว เราใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทั้งงานด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การดำรงชีพ ไปจนถึงที่พักผ่อนหย่อนใจ เรากินสัตว์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในทะเล เราทำลายบ้านของสัตว์น้ำโดยพลั้งเผลอและเจตนา เพราะคิดว่าแค่สวยงามและไม่น่ามีผลอะไรต่อระบบนิเวศ นอกจากนี้เรายังสร้างปัญหาขยะจากการดำรงชีพที่ถูกน้ำกวาดต้อนและชะล้างให้ไหลรวมลงไปกองอยู่ในทะเล
THE STANDARD LIFE ไม่อยากให้วันนี้มีไว้อย่างไร้ประโยชน์ เราหวังว่าทุกคนจะตระหนักถึงความสำคัญของมหาสมุทร และช่วยรักษาไว้ให้คงอยู่ตราบเท่าที่เราทำได้
ภาพ: Shuttetstock
อ้างอิง:
- https://news.un.org/en/story/2023/06/1137442
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/328577
- https://edition.cnn.com/2023/05/05/world/ocean-surface-temperature-heat-record-climate-intl/index.html