ความร้อนพื้นผิวมหาสมุทรพุ่งสูงทำลายสถิติ โดยอุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นในช่วงกลางเดือนมีนาคม และพุ่งขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องเร่งหาสาเหตุที่แน่ชัด
“เป็นเรื่องที่น่าสังเกต” เกรกอรี ซี. จอห์นสัน นักสมุทรศาสตร์จาก National Oceanic and Atmospheric Administration กล่าว ซึ่งทางหน่วยงานคำนวณอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรโดยใช้เรือ ดาวเทียม และทุ่นลอยน้ำ
แม้ว่าข้อมูลนี้ยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น แต่ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป “นี่จะเป็นอีกเหตุการณ์สำคัญ” จอห์นสันกล่าว พร้อมทั้งระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นยังไม่ชัดเจน นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีโอกาสไขปริศนาทั้งหมด
อุณหภูมิพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในเดือนเมษายน ก่อนที่จะเริ่มปรับตัวลดลง แต่ก็ยังคงสูงกว่าปีก่อนๆ และแม้ว่าอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่าสถิติก่อนหน้าในปี 2016 ราว 20% ซึ่งอาจดูเหมือนไม่มากนัก แต่จริงๆ แล้ว “มันเป็นพลังงานจำนวนมหาศาล”
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าต้องใช้ความร้อนมากขนาดไหนจึงจะทำให้น้ำปริมาณมหาศาลในมหาสมุทรร้อนขึ้นได้ แมทธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์ด้านพลศาสตร์มหาสมุทรและภูมิอากาศแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ออสเตรเลีย กล่าวกับ CNN
นักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งกังวลว่า สถิติใหม่เหล่านี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มน่าตกใจที่จะตามมา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งกล่าวว่า อุณหภูมิที่พุ่งทำลายสถิติเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็เป็นเรื่องที่คาดการณ์ไว้อยู่แล้ว อันเนื่องมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า อุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นอาจสร้างผลกระทบตามมามากมาย ยกตัวอย่างเช่น มหาสมุทรที่ร้อนขึ้นทำให้ปะการังฟอกขาว คร่าชีวิตสัตว์ทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และลดประสิทธิภาพของมหาสมุทรในการดูดซับมลพิษจากภาวะโลกร้อน กล่าวคือ ยิ่งมหาสมุทรร้อนขึ้นเท่าไร โลกก็จะยิ่งร้อนมากขึ้นเท่านั้น
การกลับมาของเอลนีโญ
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นคือ เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกอุ่นขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้โลกร้อนขึ้น
ก่อนหน้านี้โลกเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญามา 3 ปีติดต่อกัน ทำให้เกิดฝนตกหนักและอากาศหนาวเย็นในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม บรรดานักอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะเกิดสภาพภูมิอากาศแบบขั้วตรงข้ามติดตามมาในไม่ช้า ซึ่งก็คือปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงกว่าในอดีต
ลานีญาช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนลงได้บ้าง ซึ่งตั้งแต่ลานีญาสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิของมหาสมุทรก็ดูเหมือนจะดีดตัวขึ้น
จอห์นสันกล่าวว่า “มันเหมือนกับว่าเราเปิดประตูช่องฟรีซไว้สักพัก และมันช่วยให้โลกเย็นลง” ซึ่งแม้ในขณะที่เปิดช่องฟรีซทิ้งไว้ อุณหภูมิข้างนอกก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วยิ่งตอนนี้ช่องฟรีซถูกปิดลงแล้ว ทุกอย่างก็กลับมาร้อนยิ่งกว่าเดิม
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกกล่าวเมื่อวันพุธว่า มีโอกาสประมาณ 80% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ แต่สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์แปลกใจและกังวลก็คือ อุณหภูมิสูงขึ้นมากตั้งแต่ก่อนที่เอลนีญาจะมาถึงด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นอาจบ่งชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจดำเนินไปในรูปแบบที่ต่างออกไปจากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้
“ปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังก่อตัวขึ้น แต่อาจเร็วเกินไปที่จะบอกว่ามันเป็นต้นเหตุ” ศ.ไมค์ เมเรดิท หัวหน้านักวิทยาศาสตร์จาก British Antarctic Survey กล่าวกับ CNN “ถึงกระนั้นก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องค้นหาว่าอะไรเป็นสาเหตุของอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรที่พุ่งสูง และทำความเข้าใจว่า นี่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหรือเป็นจุดเริ่มต้นของแนวโน้มที่น่ากังวลยิ่งกว่า”
ความร้อนที่ลึกลงไปในมหาสมุทร
ผศ.ซาราห์ เพอร์คีย์ จากสถาบัน Scripps Institution of Oceanography กล่าวว่า อุณหภูมิพื้นผิวสามารถอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรของโลกได้ส่วนหนึ่ง แต่การที่จะทำความเข้าใจว่าโลกกำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางใดในระยะยาว สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาอุณหภูมิที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นผิวด้วย
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายนพบว่า ความร้อนในระบบภูมิอากาศกำลังเร่งตัวขึ้น ซึ่งถือเป็นข่าวร้ายสำหรับมหาสมุทร
คารีนา ฟอน ชักมันน์ นักสมุทรศาสตร์แห่งสถาบัน Mercator Ocean International ในฝรั่งเศส และผู้ร่วมเขียนรายงาน กล่าวว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพราะหากมันเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มระยะยาว เรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก”
สาเหตุหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ การลดลงของละอองลอย (Aerosol) ในชั้นบรรยากาศ โดยในปี 2020 มีการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อจำกัดปริมาณกำมะถันที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงของเรือ ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ
ฟอน ชัคมันน์ กล่าวว่า แม้กฎระเบียบดังกล่าวจะช่วยลดละอองลอย ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันละอองลอยเปรียบเสมือนครีมกันแดดที่สะท้อนแสงแดดออกจากโลก ดังนั้นหากไม่มีละอองลอย ก็อาจทำให้อุณหภูมิความร้อนสูงขึ้น
ผลกระทบที่น่ากังวลของอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้น
ไม่ว่าความร้อนในมหาสมุทรจะสูงขึ้นจากสาเหตุใด ผลกระทบนั้นอาจร้ายแรงหากอุณหภูมิยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
มหาสมุทรปกป้องเราจากผลกระทบทั้งหมดของวิกฤตสภาพอากาศ “เราควรขอบคุณมหาสมุทรที่ช่วยรับเอาผลกระทบส่วนใหญ่ที่เราสร้างขึ้นกับระบบภูมิอากาศ มิฉะนั้นเราจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่เรากำลังประสบอยู่ถึงร้อยเท่า” เพอร์คีย์กล่าว
แต่การทำหน้าที่เป็นกันชนนั้นมีราคาสูงลิ่ว กล่าวคือมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นทำให้เกิดการฟอกขาวของแนวปะการัง และเชื่อมโยงกับการบานของสาหร่ายที่เป็นพิษ ซึ่งดูดออกซิเจนจากน้ำ และทำให้สิ่งมีชีวิตในทะเลหายใจไม่ออก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการทำประมง
นอกจากนี้น้ำที่ร้อนขึ้นยังทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับคาร์บอนน้อยลง ซึ่งหมายความว่า มีคาร์บอนเหลืออยู่ในชั้นบรรยากาศมากขึ้น อันเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น
ขณะเดียวกันระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้พื้นผิวที่ร้อนขึ้นยังทำให้เกิดพายุไซโคลนและเฮอริเคนรุนแรงขึ้นด้วย
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังคงวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเข้าใจและเห็นตรงกันคือ สถิติจะยังคงถูกทำลายต่อไป เนื่องจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น
“นี่เป็นเพียงสัญญาณเตือน แต่วิถีแห่งภาวะโลกร้อนที่เราประสบอยู่นี้จะไม่หยุดจนกว่าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงจนเหลือศูนย์” อิงแลนด์กล่าว
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง: