พาณิชย์เผย ส่งออกไทยเดือนเมษายนติดลบหนัก 7.6% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กดดันอุปสงค์ประเทศคู่ค้า ขณะที่ส่งออก 4 เดือนแรกติดลบ 5.2% ขาดดุลการค้า 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เร่งเจรจาภาคเอกชนทำแผนกระตุ้นการเติบโตครึ่งปีหลัง
กีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การส่งออกไทยมีมูลค่ารวมที่ 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (737,788 ล้านบาท) หดตัว 7.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน โดยหากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ส่งออกไทยจะหดตัว 6.8% ด้านการนำเข้าของไทยมีมูลค่า 23,195 ดอลลาร์สหรัฐ (797,373 ล้านบาท) หดตัว 5.4% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,471.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (59,584 ล้านบาท)
สำหรับในภาพรวม 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 92,003.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,110,977 ล้านบาท) หดตัว 5.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 96,519.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,305,763 ล้านบาท) ขยายตัว 0.8% ดุลการค้า 4 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 4,516 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (194,786 ล้านบาท)
เมื่อแยกดูเป็นรายสินค้าพบว่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนเมษายนขยายตัว 8.2% แบ่งเป็นการขยายตัวของสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งขยายตัวถึง 23.8% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือนที่ 12% โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 44.1%, ยางพารา หดตัว 40.2%, อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป หดตัว 17.1%, ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 34.3% และอาหารสัตว์เลี้ยง หดตัว 33.6% ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 3.7%
สำหรับการส่งออกหมวดสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน หดตัว 11.2% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 23.5%, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ หดตัว 19.0%, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หดตัว 11.5%, อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) หดตัว 27.0%, เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หดตัว 27.1% ทั้งนี้ 4 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 7.1%
ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญในเดือนที่ผ่านมา พบว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่กลับมาหดตัว โดยตลาดสหรัฐฯ หดตัว 9.6%, ญี่ปุ่น หดตัว 8.1%, อาเซียน (5) หดตัว 17.7%, CLMV หดตัว 17.0% และสหภาพยุโรป (27) หดตัว 8.2% อย่างไรก็ตาม ยังพบสัญญาณบวกจากการที่ตลาดจีนกลับมาขยายตัวได้ 23.0%
ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ทำให้การส่งออกในเดือนเมษายนหดตัวดังกล่าว ได้แก่ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่กดดันต่ออุปสงค์ด้านการส่งออก โดยหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงเผชิญกับการส่งออกที่ชะลอตัว แม้ว่าปัจจัยด้านเงินเฟ้อจะชะลอลงก็ตาม อีกทั้งความเปราะบางของภาคธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น ขณะที่ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงตามความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาพลังงาน
ส่วนปัจจัยบวกที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าในเดือนเมษายน เช่น ความต้องการนำเข้าสินเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภค และนโยบายการพัฒนาพลังงานสะอาดในเชิงรุกของประเทศคู่ค้า ซึ่งส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำที่นำไปประกอบในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ยังประเมินแนวโน้มการส่งออกไทยในระยะถัดไปว่า ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างเข้มงวด ขณะที่มีความเสี่ยงจากปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปัญหาวิกฤตการเงินของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ และยุโรป และปัญหาเพดานหนี้ของสหรัฐฯ สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของตลาดจีนที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณบวกต่อการส่งออกไทย ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศที่ประสบปัญหาภัยแล้งจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในปีนี้
“กระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) เพื่อจัดทำแผนส่งเสริมการส่งออกในช่วง 6 เดือนหลังของปีนี้ ซึ่งแผนดังกล่าวน่าจะทำให้การส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีหลังปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้กระทรวงฯ จะมีการหารือกับเอกชนเป็นรายเซ็กเตอร์ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้การส่งออกมีความคล่องตัวขึ้น” กีรติกล่าว