ท่ามกลางการลงทุนทั่วโลกยังต้องเจอกับปัจจัยกดดันสารพัด ตั้งแต่เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยระดับสูง โดยเฉพาะการขาดสภาพคล่องของสถาบันการเงินชั้นนำของโลก แต่มีอยู่อย่างหนึ่งที่มาเงียบๆ และมาเรื่อยๆ จนเป็นสิ่งที่ควรจับตามองกับเทรนด์นี้คือ การลงทุนผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG)
ไตรมาส 1/66 กองทุนยั่งยืนไทยยังโต
จากการเปิดเผยรายงานของ Morningstar Thailand พบว่า ไตรมาส 1/66 มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนยั่งยืนในประเทศไทยได้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากสิ้นปี 2565 แต่กองทุนยั่งยืนในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘6 ประเด็น’ สำคัญต้องจับตาในธีมการลงทุน ESG
- ‘ผลตอบแทนดัชนีความยั่งยืน’ กับอีกหนึ่งบทพิสูจน์การลงทุนอย่างยั่งยืน
ในไตรมาสนี้ผลตอบแทนการลงทุนอย่างยั่งยืน Morningstar Global Sustainability Leaders Index อยู่ที่ 14.4% ซึ่งสูงกว่า Morningstar Global Markets Large-Mid Index ถึงเท่าตัว เนื่องจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีฟื้นตัวได้ดี โดยดัชนี Morningstar Global Sustainability Leaders Index มีสัดส่วนในกลุ่ม Technology ถึง 38%
อย่างไรก็ตาม พบว่าเม็ดเงินลงทุนกองทุนยั่งยืนทั่วโลกชะลอลง โดยเงินไหลเข้าสุทธิตลาดยุโรปกว่า 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่เงินกลับไหลออกจากตลาดสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ทำให้โดยรวมเป็นเงินไหลเข้าสุทธิ 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าไตรมาส 4/64 ซึ่งอยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านดอลลาร์
แม้ว่ามูลค่าเงินไหลเข้าสุทธิกองทุนยั่งยืนจะชะลอตัวลง แต่มูลค่าทรัพย์สินสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นมาที่ 2.74 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเติบโต 7.5% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าภาพรวมกองทุนทั่วโลกที่ 4% โดยกองทุนในยุโรปยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่สุดของการลงทุนอย่างยั่งยืน หรือคิดเป็น 84% ของมูลค่ากองทุนยั่งยืนทั่วโลก ตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่ 11%
จากข้อมูลทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการลงทุนยั่งยืนทั่วโลกมีลักษณะของเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิน้อยลง ซึ่งมีส่วนสำคัญมาจากแรงกดดันจากการขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เริ่มส่อเค้า อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นที่ฟื้นตัวขึ้นมายังทำให้มูลค่าทรัพย์สินเติบโตขึ้นได้ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งยังคงต้องติดตามต่อไปว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจจะกระทบการลงทุนกองทุนยั่งยืนอย่างไรในปีนี้
หลากเหตุผลทำไมหุ้นยั่งยืนน่าสนใจ
-
เม็ดเงินยังไหลเข้าตลอดเวลา
เพราะผลิตภัณฑ์เรื่องความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) เป็นเทรนด์การลงทุนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจต่อเนื่อง และนับวันเม็ดเงินยิ่งไหลเข้ากองทุนที่เกี่ยวกับ ESG เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
-
โควิดและภัยธรรมชาติเป็นตัวเร่งให้คนตื่นตัว ESG
เกือบ 3 ปีที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงยังมีเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เร่งให้หลายคนตื่นตัวกับเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นโดยไม่มีใครได้ตั้งตัวอยู่เสมอ
-
คนรุ่นใหม่สนใจเรื่อง ESG มาก
มีหลายงานวิจัยบอกชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่อง ESG มากกว่ารุ่นก่อน ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ ส่วนหนึ่งเพราะเขาเกิดมาก็เจอสารพัดปัญหาที่เกี่ยวกับโลกร้อน และยังต้องใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ในระยะเวลานานกว่าคนรุ่นก่อน
-
ผลตอบแทนมีแนวโน้มดีขึ้น
ปกติช่วงแรกของการลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนที่ไม่ได้สูง แต่เมื่อกระแสเรื่องนี้มา กองทุนเริ่มให้ความสนใจ แต่ละประเทศเริ่มเข้มข้นกับการออกกฎหมายและคำนึงถึง ESG เข้าไปเกี่ยวข้องตลอดเวลา เท่ากับว่าในอนาคตจะมีความต้องการลงทุนประเภทนี้มากขึ้น สะท้อนว่าเมื่อแต่ละบริษัทสนใจ ESG ก็มีเหตุผลพอที่จะทำให้ความเสี่ยงของบริษัทนั้นลดลง เพราะได้ปรับและบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีพอ จนทำให้บริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
พรเทพ ชูพันธุ์ Executive Director กลุ่มวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ มีมุมมองว่า ความนิยมการลงทุนในธีม ESG จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเป็นที่นิยมมากขึ้นเงินก็จะไหลเข้าธีมนี้ การที่ราคาสินทรัพย์เริ่มได้รับการตอบรับที่ดีเพราะเป็นที่ต้องการมากขึ้น ในระยะยาวย่อมมีแนวโน้มที่ดี เพราะวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ออกมาให้นักลงทุนได้เลือกลงทุน ทั้งหุ้น กองทุน ตราสารหนี้ (แบบกรีนบอนด์ โซเชียลบอนด์ พันธบัตรสีเขียว)
10 ธีมที่น่าลงทุน
พรเทพยังได้จัดกลุ่มธีมการลงทุนไว้ 10 ธีม ได้แก่
- รายได้ที่จะเติบโตจากการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงาน เพราะอนาคตจะมีความต้องการจากสินค้าและบริการของบริษัทนี้มากขึ้น (Energy Efficiency)
- อาคารรักษ์โลกที่ประหยัดพลังงาน และมีพลังงานใช้ (Green Buildings)
- พลังงานทดแทน อย่างโซลาร์ แบตเตอรี่ ลม (Renewable Energy)
- การปลูกพืชที่คำนึงความยั่งยืนและผสมผสาน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืนได้โดยสามารถผลิตเป็นสินค้าและบริการ (Sustainable Agriculture)
- การปลูกป่าอย่างยั่งยืน (Sustainable Forestry)
- ธุรกิจเกี่ยวกับการบริโภคและอุปโภคน้ำ (Water)
- การที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง (Affordable Housing)
- การศึกษา (Education)
- สุขภาพ (Health)
- การเข้าถึงผลิตภัณฑ์และการบริการทางการเงิน (Inclusive Finance)
วิธีลงทุนหุ้นยั่งยืนง่ายๆ ด้วยตัวเอง
- ปรับมุมมองว่าการลงทุนต้องมีผลตอบแทน ไม่ใช่แค่รักษ์โลกอย่างเดียว แต่จะทำอย่างไรที่ลงทุนด้วยแล้วต้องได้รับผลตอบแทนด้วย นั่นคือต้องมีมุมมองและความสัมพันธ์เชิงบวกเรื่อง ESG ก่อนเป็นลำดับแรก เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนจะไม่ได้หวือหวา แต่มันจะค่อยๆ ได้รับความสนใจ
- ไม่เลือกธุรกิจที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม อะไรไม่ชอบก็เอาออก อะไรที่ชอบก็เอาเข้า เช่น กำหนดเป้าหมายเลยว่าไม่เอาธุรกิจแอลกอฮอล์ ยาสูบ อาวุธสงคราม สุรา การพนัน สื่อลามก เพราะสิ่งเหล่านี้ในอนาคตถ้ายิ่งเกี่ยวข้องก็ยิ่งเสียโอกาส เพราะมีแต่จะบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และมีกระแสต่อต้านจากสังคมมากขึ้น
- นำเรื่อง ESG ผสมผสานกับวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานและทางการเงิน เพื่อดูภาพรวมและเปรียบเทียบได้ในอุตสาหกรรม เช่น อัตราการทำกำไร การแข่งขันทางธุรกิจ มีความได้เปรียบในการต่อรองกับคู่ค้าเพื่อบริหารต้นทุน อย่างงบการเงินต้องดู เพราะสามารถเห็นเรื่องราวหรือสตอรีการดำเนินธุรกิจของบริษัทได้ ตั้งแต่การเห็นว่าบริษัทสามารถเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นยอดขาย แล้วเปลี่ยนยอดขายเป็นกำไร จนกระทั่งเปลี่ยนกำไรเป็นความสามารถในการเก็บเงินและรักษากระแสเงินสดได้จริง จนเห็นตัวเลขเปรียบเทียบปีต่อปี ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความสามารถทำกำไรเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใส่เข้าไป
- วิเคราะห์มูลค่าที่เหมาะสม อย่างตัวเลขกำไรของบริษัทที่สามารถดูจากอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E) ถ้าบริษัทนั้นมีคะแนนทางด้าน ESG ดี ก็เป็นเหตุผลเหมาะสมพอที่จะได้รับพรีเมียมหรือมีระดับ P/E ที่สูงกว่าบริษัทอื่น ขณะเดียวกันไม่ต้องรอเข้าซื้อในราคาเป้าหมายที่วางไว้เพื่อหวังได้อัตราผลตอบแทนที่สูงสุดเสมอไป เนื่องจากการที่บริษัทนั้นมี ESG ดีเท่ากับบริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีแล้วระดับหนึ่ง
- ต้องยืดหยุ่นและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะปัจจุบันธุรกิจเก่าอย่างการผลิตน้ำมันจากฟอสซิลยังมีอยู่ แต่การขายหุ้นบริษัทน้ำมันหรือผลิตปิโตรเคมีไปอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะถึงเราขายเขา บริษัทยังต้องดำเนินธุรกิจอยู่ แต่เราสามารถเปลี่ยนไปลงทุนในบริษัทที่มีเทคโนโลยีทดแทนน้ำมัน อย่างแบตเตอรี่ พลังงานทดแทน หรือพลังงานสะอาดอย่างอื่นแทน
นอกจากจะเป็นการศึกษาหาข้อมูลเองมากที่สุดแล้ว การพาตัวเองเข้าถึงผู้บริหารตามวาระและโอกาสในงานวันบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (Opp Day) และประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพื่อสอบถามถึงนโยบายและการดำเนินงาน และปิดความเสี่ยงเรื่องความยั่งยืนในด้านต่างๆ แม้จะไม่ได้มีส่วนช่วยในทันที แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผู้บริหารเห็นว่าผู้ลงทุนให้ความสนใจกับเรื่องนี้อยู่ และยิ่งปัจจุบันมีการเข้าร่วมประชุมระบบออนไลน์ ยิ่งทำให้เข้าถึงง่าย ก็ไม่ควรเสียโอกาสนี้ไป
โดยนักลงทุนปัจจุบันสามารถหาข้อมูลด้าน ESG ได้จากหลากหลายแหล่ง เช่น
- มาจากบริษัท One Report ที่ต้องส่งให้กับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- หน่วยงานหรือ NGO ที่มีการทำบทวิจัย บทความ และการสำรวจ
- บริษัทให้บริการทางด้านข้อมูล โดยจะนำข้อมูลจากข้อ 1 และ 2 มาจากการวิเคราะห์เพื่อให้คะแนน ตัวคะแนนจึงเป็นทางเลือกสำเร็จรูปให้กับผู้ลงทุน
- ข้อมูลจากข่าวและโซเชียลมีเดีย
แม้การลงทุนเกี่ยวกับ ESG อาจจะไม่ได้สร้างความหวือหวาให้พอร์ตการลงทุนมากนัก แต่ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งท่ามกลางภาวะการลงทุนที่มีหลายปัจจัยกำลังกดดันอยู่
อ้างอิง: