วานนี้ (26 พฤษภาคม) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และคณะ ร่วมกันแถลงผลปฏิบัติการกรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ตรวจยึดของกลาง 112 รายการ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท
พฤติการณ์กล่าวคือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค’ ว่าได้ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม, ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร และยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม ตราสมุนไพรไทยสยาม จากพื้นที่เขตห้วยขวาง และพบว่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์คนละแบบ แต่มีเลขทะเบียนยาเดียวกัน จึงสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม หากใช้แล้วเกรงว่าจะได้รับอันตรายต่อร่างกาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่ามีการแอบอ้างนำเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการปลอมผลิตภัณฑ์ จึงได้สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต โกดังเก็บสินค้า และแหล่งจัดจำหน่าย จนนำมาสู่การตรวจค้นในครั้งนี้
ต่อมาในวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิต โกดังเก็บสินค้า และสถานที่จำหน่าย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปทุมธานี จำนวน 4 จุด ดังนี้
- สถานที่จำหน่ายย่านซอยเกษมสุข ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ 15 เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 36 รายการ รวมกว่า 4,579 ชิ้น
- สถานที่จำหน่ายย่านซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 12,807 ชิ้น
- สถานที่ผลิตและโกดังเก็บสินค้า ภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่หมู่ 3 ตำบลลำลูกกา อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562, เอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย, เครื่องซีลพลาสติก จำนวน 1 เครื่อง, เครื่องบรรจุ จำนวน 1 เครื่อง, ฉลากผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบในการผลิต เช่น ขี้ผึ้ง สารสกัดต่างๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม จำนวน 14 รายการ รวมกว่า 64,900 ชิ้น
- สถานที่ผลิตในบ้านพักอาศัยย่านถนนบางบอน แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตและบรรจุ รวม 4 รายการ จำนวน 853 ชิ้น และอายัดวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผสมแล้วรอการบรรจุ เครื่องบรรจุ และหม้อต้ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิต จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 8,652 ชิ้น
โดยจากการตรวจค้นทั้ง 4 จุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นความผิดรวม 27 ยี่ห้อ ดังนี้
- ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
- ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราหาญตำรับ (ปลอม)
- ยาหม่องผสมเสลดพังพอน ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
- ยาหม่องสมุนไพรไทยสยาม ตราเสือสยาม 5 เศียร (ปลอม)
- ยาหม่องสมุนไพรไทย ตราเสือสยาม 5 ดาว (ปลอม)
- ยาหม่องเสือสยาม ตราสมุนไพรบัวทอง (ปลอม)
- ยาหม่องเสือสยาม ตราหาญตำรับ (ปลอม)
- ยาหม่องเสือสยาม PURE สมุนไพรธรรมชาติ (ปลอม)
- ยาหม่องสมุนไพร 100 ปี แซ่วู (ปลอม)
- ยาหม่องสมุนไพร รวม 5 ดาว สูตรร้อน (ปลอม)
- ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม (ปลอม)
- ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)
- น้ำมันนวด กฤษณา ทิพย์มาตย์ ไม้หอมไทย
- น้ำมันนวด สมุนไพรสยาม ตราหนุมานหาว 5 ดาว (ปลอม)
- น้ำมันนวดผา (ปลอม)
- น้ำมันนวดสมุนไพร Herb
- น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรไทยสยาม (ปลอม)
- น้ำมันนวดสมุนไพร สมุนไพรธรรมชาติ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
- น้ำมันนวดสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
- น้ำมันนวดสมุนไพร ตราหาญตำรับ สกัดจากสมุนไพร 18 ชนิด
- หัวน้ำมันสมุนไพรสกัดเย็น
- น้ำมันสมุนไพร ตราสมุนไพรบัวทอง
- ขี้ผึ้งสมุนไพรรวม ตราเสือ (ปลอม)
- ยานวดผ่อนคลาย คร๊อกโคไดล์เฮิร์บบาล์ม (ปลอม)
- ยาสอดกระชับช่องคลอด บริสุทธิ์ (ปลอม)
- THONG TIGER Massage Palm ยานวดผ่อนคลาย (ปลอม)
- ยาหอมชนะลม ตราเรือใบ (ปลอม)
รวมตรวจค้น 4 จุด ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม 38 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 จำนวน 42 รายการ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิตสมุนไพรปลอม และพยานหลักฐานอื่น 32 รายการ รวมทั้งสิ้น 112 รายการ มูลค่าความเสียหายกว่า 4 ล้านบาท
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมดังกล่าว มีกลุ่มทุนชาวจีนร่วมลงทุน โดยจ้างให้คนไทยเป็นผู้ผลิตเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งจะใช้เลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคที่ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้
โดยจะผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรขึ้นให้มีคุณลักษณะตามที่นิยมในท้องตลาด โดยผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน จากนั้นบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์โดยใช้กำลังคน ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน และไม่ผ่านการรับรองจาก อย. จากนั้นส่งสินค้าไปยังร้านค้าที่เจ้าของเป็นคนจีนในพื้นที่เขตห้วยขวางและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย
โดยจะมีมัคคุเทศก์มารับสินค้าไปหลอกลวงขายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีนต่ออีกทอดหนึ่ง ซึ่งผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวจะไม่มีการวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ และการตรวจพบจากผู้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาที่แท้จริง โดยจะขายส่งราคาชิ้นละ 20-30 บาท และมีการขายทำกำไรต่อในราคาหลักร้อยถึงหลักพันบาท โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายมาแล้วประมาณ 1 ปี
การกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
- ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมตามมาตรา 58 (1) ระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ตามมาตรา 58 (4) ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ