×

SCB CIO มองความไม่แน่นอนทางการเมืองกระทบลงทุนระยะสั้น แนะลุยสะสม RMF-SSF ที่เน้นลงทุนในหุ้นท่องเที่ยวและอุปโภคบริโภคของไทย

23.05.2023
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO ประเมินความไม่แน่นอนของการเมืองไทยในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เป็นความเสี่ยงระยะสั้น มองเป็นโอกาสลงทุนระยะยาว แนะสะสมกองทุน RMF-SSF หุ้นไทยกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล ส่วนการจัดการเพดานหนี้สหรัฐฯ มีแนวโน้มเจรจายืดเยื้อ เนื่องจากคะแนนเสียงของสองพรรคใหญ่ค่อนข้างใกล้เคียงกันและคุมเสียงพรรคละสภา (Narrow Majorities and Divided Government) ชี้หุ้นสหรัฐฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานน่าสนใจรอรองรับปันผล มีความผันผวนน้อย และกลุ่มเทคยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ ส่วนหุ้นญี่ปุ่นแนะทยอยขาย หลังปรับขึ้นกว่า 14% จากอานิสงส์เงินเยนอ่อนค่า และการเปิดเมือง คาด ECB ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% พร้อมคงดอกเบี้ยที่ 3.75% ถึงปลายปี 2566

 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง 2 ประเด็นที่นักลงทุนต้องจับตา ได้แก่ การจัดตั้งรัฐบาลของไทย และการจัดการเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงระยะสั้นต่อตลาด แต่มาพร้อมโอกาสการลงทุนระยะยาว

 

สำหรับประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจใช้เวลานานกว่าปกติ ด้วยเงื่อนไขการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องมีเสียงสนับสนุน 376 เสียงขึ้นไป จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งกรอบกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการประชุมสภาครั้งแรกภายในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

 

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีนี้ ไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เติบโตได้ 2.7% (โดยฟื้นจากไตรมาส 4/2565 ที่เติบโตได้ 1.4%) และหากพิจารณาการเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (หลังหักผลของฤดูกาลแล้ว) เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกกลับมาขยายตัวได้ 1.9% (เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่หดตัว -1.1%) โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยว ทำให้ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคลดลงอย่างมาก

 

ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ที่จะออกมายังมีรายละเอียดไม่มากนัก ซึ่งอาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่ามาตรการกระตุ้นครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากภาครัฐมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงอยู่แล้ว (Smaller Fiscal Space) รวมถึงหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 87% ของ GDP ซึ่งน่าจะเป็นข้อจำกัดทำให้ภาคการเงินยังมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้อีกด้วย

 

SCB CIO มองว่าตลาดหุ้นไทยหลุดพ้นภาวะ Earning Recession หรือภาวะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ได้เรียบร้อยแล้ว โดยเชื่อว่าดัชนีในระดับปัจจุบันรับรู้ความเสี่ยงจากประเด็นการเมืองไปบ้างแล้ว จึงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ประเภทกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) รวมทั้งแนะนำให้สะสมหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว บริโภคอุปโภค และโรงพยาบาล เนื่องจากผลประกอบการมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้แนวโน้มราคาต่อกำไรต่อหุ้น Forward P/E Ratio ของหุ้นไทยลดลง (Derate) จากระดับ 15.4 เท่า ก่อนการเลือกตั้ง ลงมาที่ 15.0 เท่า (มีค่าความผันผวน -0.5 SD)

 

สำหรับประเด็นปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกได้ โดยคาดว่าปัญหานี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังแข็งแกร่ง ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะ Earning Recession ไปแล้ว เมื่อมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้เข้ามาก็อาจทำให้ตลาดผันผวนได้

 

ทั้งนี้ จากฝ่ายบริหารที่ครองโดยพรรคเดโมแครต ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติครองโดยพรรคเดโมแครตในสภาสูง แต่พรรคริพับลิกันครองสภาล่าง (Divided Government) และจำนวนคะแนนเสียงในแต่ละสภาที่เสียงส่วนใหญ่ห่างจากเสียงส่วนน้อยไม่มาก (Narrow Majorities) ทำให้การผ่านร่างกฎหมายมีแนวโน้มการต่อรองที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบทางลบเกิดขึ้นได้หากมีการผิดนัดชำระหนี้ผูกพัน โดย SCB CIO เชื่อว่าน่าจะมีการตกลงกันและผ่านร่างกฎหมายได้ในนาทีสุดท้าย (Last Minute Deal) และมาควบคู่กับการปรับลดงบประมาณใช้จ่ายบางส่วน

 

ดร.กำพลกล่าวต่อไปว่า เราได้ประเมินทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเพดานหนี้สหรัฐฯ ดังนี้

  1. การเพิ่มเพดานหนี้ แต่เราคาดว่าร่างกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ที่จะผ่านสภาคองเกรสจะมาควบคู่กับแผนการปรับลดรายจ่ายด้านงบประมาณ
  2. กรณีที่ยังไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ก่อนเข้าใกล้ X-date ซึ่งเป็นวันที่มาตรการพิเศษและกระแสเงินสดของรัฐบาลสหรัฐฯ จะหมดลง เราคาดว่าทางการอาจเลือกผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้เล็กน้อย หรือผ่านกฎหมายเลื่อนเพดานหนี้ออกไปชั่วคราวจนถึงวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยต้องพยายามผ่านกฎหมายการเพิ่มเพดานหนี้ควบคู่กับแผนการใช้จ่ายสำหรับปีงบประมาณ 2567

 

นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบการจัดการวิกฤตเพดานหนี้ในปี 2554 ที่ยกเพดานหนี้ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเส้นตาย กับปี 2556 ที่ใช้วิธีเลื่อนเพดานหนี้ 1 วันก่อนเส้นตาย พบว่า การจัดการในปี 2554 สร้างความผันผวนต่อตลาดสูงมาก และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เนื่องจากการเจรจามีความไม่แน่นอนสูงมาก รวมถึง S&P Global Ratings ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง (จาก AAA เป็น AA+) โดย 1 เดือนก่อนและหลังการยกเพดานหนี้ S&P 500 Index ปรับลดลงถึง -12% ส่วนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี (10y UST Yield) ปรับลง 1.13 ppt. แต่ผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีไม่มากนัก ขณะที่ปี 2556 S&P 500 Index ปรับขึ้น +5% และผลต่อ 10y UST Yield และเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่อนข้างจำกัด

 

ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการลงทุน ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อในยุโรปที่ยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปยังฟื้นตัวได้ดี ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว โดยคาดว่า ECB จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% จนกระทั่งดอกเบี้ยแตะระดับ 3.75% และคงดอกเบี้ยไว้ถึงปลายปี 2566 ส่วนอัตราดอกเบี้ยของ Fed เราคงมุมมองว่าน่าจะอยู่ที่ 5.0-5.25% จนถึงปลายปี 2566 เนื่องจากความตึงเครียดในภาคการเงินของสหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้โอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยต่อมีน้อยลง แต่อัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลงช้าและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง เป็นปัจจัยหลักท่ีทำให้ Fed ไม่น่าจะลดดอกเบี้ยในปีนี้

 

SCB CIO มองว่าช่วงเวลาเช่นนี้เป็นโอกาสจับจังหวะสะสมหุ้นกลุ่มเชิงรับ (Defensive) ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน (Utilities) ซึ่งมีคุณสมบัติผันผวนน้อย (Low Volatility) มีเงินปันผลรองรับ ขณะที่มูลค่าหุ้น (Valuation) และการเติบโตของกำไรในปัจจุบันจัดอยู่ในกลุ่มที่มีลักษณะเติบโตและมีราคาสมเหตุสมผล (Growth at Reasonable Price) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (Mega Tech) ที่ได้อานิสงส์จากผลประกอบการที่ยังแข็งแกร่ง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ลดลง และได้รับผลกระทบน้อยจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย

 

ดร.กำพลกล่าวว่า SCB CIO ยังมีการปรับมุมมองหุ้นญี่ปุ่นเป็นทยอยขาย (Slightly Negative from Neutral) เนื่องจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2566 ปรับตัวขึ้นมาแล้วกว่า 14% โดยได้อานิสงส์หลักจากค่าเงินเยนที่อ่อนค่ากว่า 4% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และการเปิดเมือง แต่ในระยะข้างหน้าความเสี่ยงเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับค่าจ้างที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการปรับนโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับขึ้น สวนทางกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะลดลงจากการหยุดขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X