รัฐบาลบราซิลได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างกระทรวงขึ้นเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) เพื่อพัฒนาแผนงานการออกพันธบัตรอธิปไตยเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Sovereign Bonds) หรือ ‘พันธบัตรสีเขียว’ ในช่วงปลายปี 2023
ทางการบราซิลชี้แจงว่า พันธบัตรใหม่เหล่านี้จะเป็นตราสารหนี้สาธารณะที่ได้รับการสนับสนุนจากการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลกลางบราซิล เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงใช้ในการดำเนินการโครงการต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ราว 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.75 พันล้านบาท)
บราซิลหวังใช้พันธบัตรสีเขียวนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับบรรดานักลงทุน หลังผู้นำคนปัจจุบันของบราซิลอย่างประธานาธิบดีลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา พยายามจะผลักดันให้บราซิลเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมในประชาคมโลก
โดย โรเจริโอ เซรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังบราซิล จะนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการระหว่างกระทรวง พร้อมเป็นผู้นำในการพัฒนาแผนและกรอบกลยุทธ์ในการออกพันธบัตรตราสารหนี้เหล่านี้ โดยใช้ประโยชน์จากโอกาสและความเป็นไปได้ในตลาดระหว่างประเทศ
ในปัจจุบันการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนเป็นหนึ่งในแหล่งระดมทุนที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในหลายประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงมุ่งหาวิธีการแก้ไขและรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆ ที่ได้ตั้งไว้นั้น จำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก จนนำไปสู่แนวทางต่างๆ ในการเปิดระดมทุนในท้ายที่สุด
ภาพ: Sergio Lima / AFP
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/sustainability/brazils-government-establishes-committee-sustainable-sovereign-bond-issuance-2023-05-17/
- https://www.reuters.com/business/environment/brazil-looks-forward-environmental-bond-sale-debt-head-2023-01-26/
- https://www.ft.com/content/b0985574-3342-41ca-a27e-5db9d0459069