การพัฒนาและเตรียมระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม สามารถแก้ปัญหาการศึกษาด้านต่างๆ อย่างยั่งยืน สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง สร้างหลักประกันอนาคตของประเทศได้ ยังคงเป็นงานที่ท้าทายความสามารถซึ่งกำลังรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดูแล
ในสนามหาเสียงโค้งสุดท้ายพบความโดดเด่นทางนโยบายที่เกือบทุกพรรคให้ความสำคัญไปที่สวัสดิการสนับสนุนโอกาสเข้าถึงการศึกษา ทว่าความชัดเจนเรื่องความเสมอภาคยังมีอะไรบ้างที่ควรเสนอในวาระที่ประเทศไทยจะมีรัฐบาลชุดใหม่
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชวนเครือข่ายนักวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมจับกระแสข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษา เพื่อรับมือกับปัญหาในอนาคตเหล่านี้
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ใครที่อาสาเข้ามาดูแลด้านการศึกษาจำเป็นต้องทราบปัญหาด้านการศึกษาอย่างถ่องแท้ และศึกษาเรื่องนี้ลงไปถึงรากลึกของปัญหาที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาอื่นๆ มากมาย รวมถึงต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะปัญหาการศึกษาในหลายด้านเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
การดูแลเยาวชนทุกกลุ่มซึ่งเป็นอนาคตของชาติไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในสถานศึกษา แต่ต้องมองในมุมกว้างกว่านั้น ต้องมีนโยบายที่สามารถดูแลพวกเขาจากบ้านไปสู่เส้นทางการดำเนินชีวิต แต่ปัจจุบันสิ่งที่เห็นจากนโยบายส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ แจกเงิน ลดภาระครู แต่ยังไม่มีการส่งไม้ต่อว่าเด็กจะก้าวไปสู่ระดับการศึกษาขั้นสูงกว่าได้อย่างไร
“เราเป็นประเทศที่ประกาศใช้นวัตกรรมนำหน้า ใช้เทคโนโลยีนำหน้า แต่การศึกษายังไม่ได้ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของการผลิตกำลังคน ที่ต้องทำให้คนหลุดจากระบบการศึกษาให้น้อยที่สุด และส่งต่อไปสู่การศึกษาระดับอุดมศึกษาให้มากที่สุด แต่ก็ยังมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษานับแสนราย พรรคการเมืองอาจจะบอกว่าการแก้ปัญหาการศึกษาของทั้งประเทศให้เสร็จภายในช่วงอายุของรัฐบาลคือ 4 ปีเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยก็น่าจะได้เห็นคำมั่นสัญญาในการพยายามแก้ปัญหานี้อย่างเป็นระบบ หรือให้สำเร็จในบางพื้นที่ เพื่อถอดบทเรียน หรือสร้างเป็น Sandbox ขึ้น อาจจะเลือกพื้นที่หรือกลุ่มคนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาสูงก่อน ทำเต็มร้อยไม่ได้ แต่ถ้าทำสิบในร้อยได้ อย่างน้อยก็ช่วยคนได้สิบคนจากในร้อยคนก่อน”
ดร.เกียรติอนันต์มองว่าการแก้ปัญหาการศึกษาให้สอดรับกับปัจจุบันมากที่สุด รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตหรือกรอบความคิดหรือทัศนคติในการแก้ปัญหา เพราะโลกในปัจจุบันหมุนเร็วมาก
“โลกของการศึกษาต้องสอดรับกับโลกของตลาดแรงงาน ในเมื่อโลกของตลาดแรงงานมีระยะเวลาของการเตรียมการคือ 3-4 ปี โลกของการศึกษาก็ต้อง 3-4 ปี นั่นคือ 1 เทอมของพรรคการเมือง ดังนั้นอย่างแรกที่ต้องทำคือ ต้องรู้ว่าในโลกที่อาชีพเปลี่ยนเร็ว การศึกษาก็ต้องปรับตัวให้เร็วเท่าทันระยะเวลาในการจัดการคือ 1 สมัย เพราะถ้าอะไรที่ทำไม่ได้ใน 1 สมัยคือจะไม่ทันกับโลกแล้ว กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ตว่าไม่ใช่กระทรวงที่ทำเพื่อปัจจุบัน แต่ต้องเป็น Ministry of Future คือเป็นกระทรวงที่ทำเพื่ออนาคต เป็นกระทรวงที่ต้องมองไปตรงข้างหน้าว่าเด็กจบการศึกษาแล้วจะเจออะไรบ้าง แล้วย้อนกลับมาคิดให้ได้ว่าต้องเตรียมอะไรเพื่อพวกเขา จึงจะเห็นแผนการทำงานที่ชัดเจน ซึ่งการให้เงิน การลดหนี้ ไม่ใช่บทบาทของกระทรวงแห่งอนาคต ต้องคิดใหม่ตั้งแต่เริ่ม ต้องคิดผลิตเปลี่ยน Value Chain การผลิตกำลังคนตามช่วงชั้น และต้องคิดไปไกลว่ามันจำเป็นจะต้องเป็นช่วงชั้นหรือเปล่า
“เมื่อก่อนเราผลิตกำลังคนตามช่วงชั้นเพราะว่าความสามารถของคนไม่เท่ากัน และความสามารถของการติดตามประเมินผลดูแลของครูก็ไม่เท่ากัน แต่ความจริงแล้วเด็กมีพัฒนาการที่ต่างกัน บางคนเรียนแค่ครึ่งเทอมก็เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างได้ง่าย มีความรู้ทางวิชาการแล้ว แต่อาจจะต้องพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ ความสามารถในการรับรู้ของตนเอง ประเมินและควบคุมอารมณ์ของตนเอง ในขณะที่บางคน EQ ดี แต่เรียนไม่ทัน เด็กทั้งสองกลุ่มจะผ่านชั้น กลับต้องรอผ่านพร้อมกัน
“แต่ปัจจุบันถึงยุคที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถจะทำให้ความสามารถของเด็กเติบโตตามปัจจัยที่แท้จริง เพราะฉะนั้นเรื่องการผ่านชั้นมันอาจจะมีการยืดหยุ่น คือต้องมองพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และวิชาการไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเมื่อก่อนแนวคิดนี้เป็นเรื่องยาก แต่สมัยนี้มีเทคโนโลยีในการติดตามเรื่องพวกนี้ โดยการใช้ AI มาเป็นผู้ช่วย ซึ่งAI ทางด้านการศึกษากำลังถูกนำมาใช้มากขึ้นในต่างประเทศ ทั้งมาช่วยในเรื่องการติดตาม Learning Style ของเด็กแต่ละคน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาไปสู่จุดที่สามารถออกแบบข้อสอบในเรื่องเดียวกันที่สร้างขึ้นมาเฉพาะสำหรับเด็กแต่ละคน มันจะหมดยุคที่ว่าไปประเมินปลาด้วยการวิ่งแข่ง ประเมินลิงด้วยการว่ายน้ำ”
ดร.เกียรติอนันต์ระบุอีกว่า ปัจจุบันไม่สามารถจัดการศึกษาให้เตรียมคนเพื่ออาชีพได้เหมือนในอดีต แต่ต้องเตรียมสกิลหรือความสามารถเพื่อรับกับสถานการณ์ด้านอาชีพที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“วิธีการจัดทรัพยากรบุคคลจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด การเรียนเพื่ออาชีพนั้นไม่เพียงพอแล้ว ต้องเป็นการเรียนเพื่อให้มีทักษะ และถ้าเรามีทักษะมากพอ เราก็สามารถไปหาอาชีพได้เอง เพราะฉะนั้นการเรียนโดยใช้สมรรถนะ การใช้ทักษะเป็นหลักจะสำคัญมาก พอเป็นแบบนี้ก็จะสอนแบบเดิมไม่ได้แล้ว ไม่ได้เป็นการเตรียมกำลังคนเฉพาะในสถานศึกษา ระบบการพัฒนาคนจะต้องมองว่าทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดเวลา ดังนั้นโมดูลในการดูแลคนจะต้องทำให้เขาเข้า-ออกในการเรียนรู้โลกของการทำงานได้อย่างรวดเร็ว ย่อยจากการเรียนรู้ของเขาในส่วนที่ย่อยที่สุดและง่ายที่สุด ทำให้คนทุกช่วงวัยเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น”
รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) และคณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า รัฐต้องมีนโยบายใช้ระบบฐานข้อมูลซึ่งเก็บและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบทางอิเล็กทรอนิกส์มาดูแลเด็กอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงการจัดการศึกษาได้ว่าหากมีมาตรการที่มีทิศทางที่ถูกต้องชัดเจน จะสามารถดูแลเด็กที่ขาดแคลนตั้งแต่เขายังเล็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีความรู้ความสามารถที่จำเป็นต่ออนาคต และต้องไม่ลืมว่าการลดความเหลื่อมล้ำลงได้ การช่วยพวกเขาคือการช่วยให้ประเทศมี GDP สูงขึ้น
รศ.ดร.วีระชาติระบุว่า หากยกตัวอย่างปัญหาสำคัญในรอบปีที่ผ่านมาก็คือ กรณีที่การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างรุนแรง มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษานับแสนคน การแก้เรื่องนี้ นโยบายแจกเงินเพียงอย่างเดียวคงจะไม่พอ เพราะมีปัญหาเรื่องกำลังทรัพย์ของครอบครัวซ้อนอยู่ ต่อให้เรียนฟรีก็ฟรีแค่ค่าหน่วยกิต ไม่ได้ฟรีแบบครบวงจรหรือครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง หากประเมินแล้วแต่ละครอบครัวอาจจะต้องใช้ทุนการศึกษาประมาณ 40,000-70,000 บาท จึงจะครอบคลุมการแก้ปัญหาได้จริง ก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลและเป็นไปได้ยากที่จะได้เรียน
นโยบายเร่งด่วนที่อยากเห็นรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญคือ มาตรการชดเชยภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ในเด็กปฐมวัยไทยช่วงโควิด-19 ระบาด และในระยะยาวคือการให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ และวางแนวทางในการกระจายอำนาจทางด้านการศึกษา หรือแนวทางในการสร้างแรงจูงใจให้การศึกษาพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาเด็ก นโยบายที่จะถูกประกาศขึ้นต้องสามารถนำมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในห้องเรียน โดยสามารถจำแนกโรงเรียนที่พร้อมกับไม่พร้อมรับมือกับความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแต่ละโรงเรียนแตกต่างกันได้ มีกระบวนการที่ชัดเจนว่าโรงเรียนใดจะใช้แผนเชิงปฏิบัติแบบไหนที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างทางการศึกษาแคบลง ใช้เครื่องมืออะไรเพื่อยกระดับความพร้อมของเด็กผ่านทักษะทางปัญญา ทักษะทางพฤติกรรม เข้าไปดูแลด้านความพร้อมของครอบครัว ความพร้อมของโรงเรียน
“รัฐบาลใหม่ควรจะใส่ใจเรื่องการทำงานโดยใช้ฐานข้อมูลและงานวิจัยมาทำงานด้านการศึกษาและทุนมนุษย์มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเรามีนโยบายด้านการศึกษาที่ซ้ำซ้อน หรือเป็นนโยบายที่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กจริงๆ หรือไม่ได้มีการใช้ฐานข้อมูลติดตามการแก้ปัญหาและพิจารณาแนวทางในการจัดการศึกษาอย่างรอบด้าน
“ปัจจุบันหลายประเทศใช้ระบบฐานข้อมูลติดตามตัวเด็ก เพื่อจะเห็นการพัฒนาทางการศึกษาของเด็ก โดยสามารถเข้าถึงปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ และทำให้ทราบว่านโยบายต่างๆ ซึ่งถูกนำไปใช้สามารถพัฒนาการศึกษาของเด็กได้มากแค่ไหน รวมถึงทราบว่านโยบายไหนที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุดหรือเป็นนโยบายซ้ำซ้อน”
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษายุคใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงศักยภาพของชุมชน ด้วยการสร้างกลไกให้ชุมชนแต่ละแห่งสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตจนสามารถดูแลตนเองได้ รัฐบาลใหม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาข้อมูลด้าน ‘การส่งเสริมการเรียนรู้เชิงระบบ’ ซึ่งข้อมูลเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วอย่างละเอียด
“หากเข้ามาดูเรื่องนี้จะทำให้ทราบว่าการเตรียมการสำหรับการเรียนรู้ยุคใหม่ในระดับชุมชนคือ รัฐจะต้องเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ของแต่ละชุมชนให้เข้าใจปัจจัยแวดล้อมของแต่ละแห่ง สร้างความเข้าใจในทักษะที่เป็นรากฐานของแต่ละแห่ง จนสามารถยกระดับชีวิตและคุณภาพการศึกษา สังคม วัฒนธรรม อย่างเป็นระบบระเบียบ ยกระดับทักษะให้กลุ่มแรงงานสามารถประกอบอาชีพ มีรายได้หาเลี้ยงตนเองและครอบครัว ปัจจุบันเรามีชุมชนต้นแบบการพัฒนาที่สามารถถ่ายทอดทักษะ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่มากมาย”
ดร.สมคิดกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการทดลองพัฒนาทักษะแรงงานโดยเริ่มจากปัญหาของกลุ่มประชากรวัยแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จนเกิดเครื่องมือและงานวิจัยที่สามารถสร้างนวัตกรรมชุมชนในรูปแบบต่างๆ อยู่มากมาย เช่น เทคโนโลยีในการประกอบการ การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสร้างแหล่งเรียนรู้ และการกำหนดบทบาทผู้นำชุมชนรุ่นใหม่ให้สามารถพัฒนารูปแบบการส่งเสริมทักษะและอาชีพที่สามารถนำเสนอและแลกเปลี่ยนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเกิดระบบฐานข้อมูลอาชีพในท้องถิ่นและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ เกิดโมเดลทางธุรกิจที่ช่วยให้คนในชุมชนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้น สามารถขับเคลื่อนเชิงรุก และเสนอเป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้วมากมาย
“ชุมชนหรือท้องถิ่นสามารถเป็นระบบนิเวศของการศึกษาที่ดีและมีบทบาทสำคัญในการดูแลเยาวชนในพื้นที่ได้ เช่น บางพื้นที่มีโครงการผลิตอาหาร โครงการที่มีการเลี้ยงปลา ปลูกผัก แล้วให้เด็กนำไปกินที่บ้านเป็นมื้อเช้า แล้วถ้าเด็กเข้าโรงเรียนช่วงใกล้เวลาเรียนจะมีโอกาสได้กินอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน มีอาหารกล่องหรือปิ่นโตกลับบ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดี”
ดร.ศุภโชค ปิยะสันติ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อนุกรรมการกำกับทิศทางของทุนครูรัก(ษ์)ถิ่น กสศ. กล่าวว่า นโยบายด้านการศึกษายุคใหม่จำเป็นต้องนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้กับการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้จริง โดยเฉพาะเรื่องของการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลโรงเรียนต่างๆ อย่างเข้าใจปัญหาที่มีอยู่จริง
“ปัจจุบันมีระบบการเก็บข้อมูลของโรงเรียนแต่ละแห่งที่มากพอจะนำมาออกแบบการช่วยเหลือด้านงบประมาณให้แตกต่างไปจากในอดีต ซึ่งเคยช่วยแบบเรตเดียวกันทั้งประเทศ โรงเรียนที่มีศักยภาพสูง อยู่ในเมือง รัฐก็ให้เงินสนับสนุนเท่ากับโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รูปแบบการจัดสรรงบประมาณดังกล่าวส่งผลให้โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนน้อย ขาดงบประมาณในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้อย่างเพียงพอ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราไม่สามารถใช้วิธีการเดียวแก้ปัญหาที่มีอยู่หลากหลายรูปแบบได้
“จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบวิธีการช่วยเหลือเฉพาะทางที่ลงลึกในรายละเอียด เข้าใจถึงปัญหาจริงๆ เช่น เมื่อทราบว่าบางโรงเรียนขาดครูแต่ละช่วงชั้น ต้องมีวิธีการไหนที่เข้าไปช่วยโรงเรียนเหล่านี้ให้ใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่อย่างจำกัด มีระบบการช่วยเหลือ ระบบการระดมทรัพยากรที่จำเป็น ระบบเก็บแลกเปลี่ยนความรู้จากบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ระบบความช่วยเหลือที่ช่วยพัฒนาศักยภาพครูในพื้นที่ห่างไกล หรือระบบที่ดึงความสามารถของผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่มาช่วยประคองให้โรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนกลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ที่ดูแลเด็กๆ ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด”
รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความโดดเด่นของนโยบายการศึกษาในสนามเลือกตั้งครั้งนี้คือ เกือบทุกพรรคเสนอนโยบายการศึกษาในเชิงสวัสดิการ สนับสนุนการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือการศึกษาตามระดับวุฒิฯ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่ากังวลคือ พรรคการเมืองยังติดอยู่กับนโยบายการศึกษาในมิติเดิมที่ให้มุ่งสนับสนุนการศึกษาในระบบ เช่น นโยบายเรียนฟรีถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่ไม่เอ่ยถึงการศึกษาในรูปแบบอื่น โดยเฉพาะนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ตอนนี้ถูกพูดถึงจากเพียงไม่กี่พรรค รศ.ดร.วีระเทพตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของหลายพรรคอาจปรากฏในรูปแบบนโยบายแรงงานที่มีการยกระดับทักษะให้ดีกว่าเดิม (Upskill) และสร้างทักษะที่จำเป็นขึ้นมาใหม่ (Reskill) แต่นโยบายเหล่านี้ก็ยังไม่เห็นภาพการส่งเสริมการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงวัย
“แม้จะได้ยินนโยบายที่แสดงความห่วงใยต่อเยาวชนกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเด็กพิเศษที่บกพร่องทางพัฒนาการ กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กแรงงานข้ามชาติ เยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษา รวมถึงกลุ่มเด็กเปราะบาง แต่ก็ยังไม่เห็นแนวคิดที่ชัดเจนในการลงไปแก้ปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะแนวคิดที่เข้าไปจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบ หรือมีแนวทางการจัดการเชิงพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับจังหวัดและชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหานี้ที่เข้มแข็ง”
รศ.ดร.วีระเทพระบุอีกว่า นอกเหนือจากที่ยังไม่เห็นนโยบายทางการเมืองที่พูดถึงการจัดการปัญหานี้จากรากฐานของคนพื้นที่หรือชุมชนแล้ว ยังไม่เห็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับครูนอกระบบ หรือครูพี่เลี้ยง ทั้งที่คนกลุ่มนี้ถือเป็นกลไกสำคัญสำหรับการทำงานเชิงพื้นที่ ที่สามารถลงไปดูแลได้ถึงรากฐานประเด็นปัญหาด้านต่างๆ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชน ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต การสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ฯลฯ และช่วยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือเด็กแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด จนสามารถปรับตัวได้
“ที่ผ่านมาเราออกแบบวิธีเก็บข้อมูลให้เป็นระบบ และมีครูนอกระบบหรือครูพี่เลี้ยงเป็นเสมือนหน่วยหน้าคอยทำงานสอนหนังสือ สอนอาชีพ สอนทักษะชีวิต และช่วยแก้ปัญหาให้เด็กกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่พวกเขากลับยังไม่มีแนวคิดหรือนโยบายเข้าไปดูแลมากนัก และต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาเด็กนอกระบบจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องวางแนวทางให้แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน มาช่วยกันออกแบบระบบการช่วยเหลือที่ยั่งยืน แต่ก็ยังไม่พบนโยบายที่ดูแลเรื่องนี้จากพรรคการเมือง”
เมื่อพิจารณานโยบายการศึกษาในหมวดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต หลายพรรคการเมืองชูการติดตั้งอินเทอร์เน็ต การแจกแท็บเล็ต และการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการเรียนรู้ รศ.ดร.วีระเทพมองว่านโยบายเหล่านี้เป็นเครื่องมือจำเป็นในการเข้าถึงความรู้ในยุคสมัยนี้ แต่การนำมาบูรณาการกับการเรียนรู้ของเด็กจะเกิดประโยชน์สูงสุดได้เมื่อมีการปรับหลักสูตรให้ตอบความสนใจและความถนัดของผู้เรียนเสียก่อน ดังนั้นสิ่งที่ต้องพูดถึงควบคู่กันคือการออกแบบหลักสูตรที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในอนาคตข้างหน้าควรผลักดันไปมากกว่าแค่ในโรงเรียน ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถออกแบบการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนสนใจได้ โดยมีรัฐให้การสนับสนุน
“โจทย์แรกคือจะทำอย่างไรให้ทั้ง 8 กลุ่มสาระสามารถบูรณาการกัน ทุกวันนี้เราสอนแยกแต่ละกลุ่มสาระจนเหมือนจะฝึกเด็กให้เป็นนักวิชาการ เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีให้เด็กได้เรียนสิ่งที่เขาสนใจ แล้วสามารถเชื่อมโยงกับ 8 กลุ่มสาระได้ เราเห็นโมเดลที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อมีหลักสูตรที่เป็นตัวตั้งแล้ว แท็บเล็ตและอินเทอร์เน็ตจะสามารถสร้างประโยชน์ได้มากขึ้น และมากกว่าเอาไว้เรียนในสิ่งที่โรงเรียนอยากสอนเพียงอย่างเดียว”
รศ.ดร.วีระเทพเสริมว่า นโยบาย ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ เป็นหมุดหมายอันดีในการจัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิต แต่สิ่งสำคัญกว่าการมีนโยบายคือต้องมีการติดตามผลเมื่อนำไปปฏิบัติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามว่าการ ‘เพิ่มเวลารู้’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดหรือครูเป็นผู้กำหนด ส่วนบทบาทของครู นอกเหนือจากด้านวิชาการ ควรปรับเปลี่ยนให้เป็น ‘โค้ช’ ร่วมกันออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของผู้เรียน
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งใหญ่นี้ รศ.ดร.วีระเทพอยากเห็นการนำพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ไปปฏิบัติให้ได้ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. ที่ต้องตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ คาดหวังให้มีการเทียบโอน เชื่อมต่อการศึกษาทุกรูปแบบเข้ากันได้ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเพื่อคุณวุฒิ หรือการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเอง รัฐควรมีฐานข้อมูล Big Data ที่เก็บข้อมูลการเรียนรู้ของประชาชนในทุกรูปแบบไว้ สามารถดึงเอาข้อมูลนั้นไปเทียบคุณวุฒิได้ เรื่องที่ต้องเน้นย้ำคือ รัฐควรสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนทุกช่วงวัย มิใช่แค่เด็กและเยาวชน
ด้านวาระเร่งด่วน รศ.ดร.วีระเทพอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สะสางสิ่งที่ค้างคาในรัฐบาลชุดก่อน ทั้ง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับใหม่ และหลักสูตรฐานสมรรถนะที่ติดหล่มความช้าของระบบราชการมาหลายปี เขาอยากเห็นพิมพ์เขียวที่ทันต่อยุคสมัย เพื่อที่ผู้ปฏิบัติสามารถนำไปใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุดได้