×

ก้าวครั้งใหม่และใหญ่ของ EV ไทย-อาเซียน สู่เวทีโลก พร้อมรอรับ ‘ติมอร์-เลสเต’ สมาชิกใหม่

02.05.2023
  • LOADING...
EV ติมอร์-เลสเต

ก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV ไทยและอาเซียน พร้อมขึ้นแท่นศูนย์กลางฐานผลิตระดับโลก พัฒนาระบบนิเวศระดับภูมิภาคผ่านการกระจายการลงทุน รอรับ ‘ติมอร์-เลสเต’ เป็นสมาชิกใหม่รายที่ 11 หนุนเศรษฐกิจอาเซียน

 

ภายหลังจากผู้นำชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน เห็นชอบหลักการรับติมอร์-เลสเต เป็นประเทศสมาชิกชาติที่ 11 ในการประชุมสุดยอดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยขณะนั้นตามหลักการจะมีการวางโรดแมปเป้าหมายเพื่อรับเป็นสมาชิกเต็มตัว ล่าสุดวันนี้ (2 พฤษภาคม) คณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่า ครม. เห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับ คือ ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค และร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศติมอร์-เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

 

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. ว่า ครม. เห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค และร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศติมอร์-เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการเห็นชอบเอกสารทั้ง 2 ฉบับร่วมกันในการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 22 วันที่ 6-7 พฤษภาคม 2023 และการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 42 วันที่ 10-11 พฤษภาคม 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซีย

 

โดยมีสาระสำคัญของร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค เป็นเอกสารการแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน โดยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค ผ่านการกระจายการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน

 

รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกันทั้งจากภายในประเทศสมาชิกเอง จากภาคีภายนอกและภาคเอกชน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสถานีอัดประจุไฟฟ้า การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและบรรยากาศเพื่อดึงดูดการลงทุน ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก และเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

 

“อนาคตอาเซียนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นคือติมอร์-เลสเต ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศติมอร์-เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเอกสารที่กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีตามความตกลงของเสาเศรษฐกิจอาเซียนที่ติมอร์-เลสเตต้องดำเนินการให้สำเร็จก่อนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์”

 

โดยติมอร์-เลสเตจะต้องมีความพร้อมในการดำเนินการตามความตกลงและตราสารสำหรับเสาประชาคมเศรษฐกิจภายในร่างภาคผนวกรวมทั้งสิ้น 220 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ความตกลงและตราสารที่ติมอร์-เลสเตต้องมีความพร้อมในการเข้าร่วมทันที จำนวน 66 ฉบับ 2. ความตกลงและตราสารที่ติมอร์-เลสเตจะต้องเข้าร่วมภายใน 2 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 48 ฉบับ 3. ความตกลงและตราสารที่ติมอร์-เลสเต จะต้องเข้าร่วมภายใน 5 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 106 ฉบับ

 

ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งสองฉบับจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

สำหรับติมอร์-เลสเตเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากมีทรัพยากรประเภทน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ซึ่งถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค อีกทั้งประชากรอยู่ในวัยแรงงานในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 56 เมื่อเทียบกับประชากรทั้งหมด ประกอบกับมีความสามารถในการสื่อสารหลายภาษา ทั้งภาษาท้องถิ่น (เตตุน) โปรตุเกส อินโดนีเซีย และอังกฤษ ทั้งนี้ คู่ค้าสำคัญของติมอร์-เลสเตในอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X