เกิดอะไรขึ้น:
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามเป้า จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยต่อวันในสัปดาห์ล่าสุด (17-23 เมษายน) อยู่ที่ 71,812 คน (~67% ของระดับก่อนเกิดโควิด) โดยได้แรงหนุนจากนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย (21% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย), จีน (14%), อินเดีย (6%), อินโดนีเซีย (5%) และรัสเซีย (4%)
จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่เร่งตัวขึ้นได้รับการสนับสนุนจากการที่จีนกลับมาเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม และคาดว่าแนวโน้มเช่นนี้จะดำเนินต่อไป
ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 23 เมษายน 2566 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 8 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน ~32% ของประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในปี 2566 ที่ 25 ล้านคน
พรีวิวผลประกอบการ 1Q66 InnovestX Research คาดว่า ผู้ประกอบการโรงแรมทุกรายภายใต้การวิเคราะห์จะรายงานผลประกอบการปกติ 1Q66 ปรับตัวดีขึ้น YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่ผลประกอบการปกติจะปรับตัวขึ้นลงคละเคล้ากัน QoQ
AWC, CENTEL และ ERW จะรายงานผลประกอบการปกติเติบโต QoQ แต่ผลประกอบการปกติของ MINT จะลดลง QoQ โดยมีสาเหตุมาจากช่วง Low Season ของธุรกิจโรงแรมในยุโรป ผู้ประกอบการโรงแรมที่น่าจะรายงานผลประกอบการปกติเติบโตอย่างแข็งแกร่ง QoQ คือ AWC (เพิ่มขึ้น 28%QoQ จากรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ที่แข็งแกร่งของกลุ่มลักชัวรีรีสอร์ตในประเทศไทย) และ CENTEL (เพิ่มขึ้น 28%QoQ จากรายได้เฉลี่ยต่อห้อง (RevPar) ที่แข็งแกร่งของโรงแรมในมัลดีฟส์)
กระทบอย่างไร:
ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ราคาหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว (SET TOURISM) ปรับเพิ่มขึ้น 5.77% และราคาหุ้น ERW ปรับเพิ่มขึ้น 9.37% ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 8.36%
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566 และกลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research ประมาณการกำไรของผู้ประกอบการโรงแรมจะเติบโตก้าวกระโดดในปี 2566 โดยได้รับการสนับสนุนจากอัตราค่าห้องพักเฉลี่ย (ARR) ที่ปรับตัวดีขึ้น และอัตราการเข้าพักที่สูงขึ้นตามการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย
โดยคาดว่ากำไรปกติปี 2566 ของ AWC และ ERW จะสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิด ขณะที่ผลประกอบการของ CENTEL และ MINT จะฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2567
อย่างไรก็ดี ยังคงมุมมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และหุ้นเด่นคือ ERW (ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ที่ 5.5 บาทต่อหุ้น) ในฐานะที่ประกอบธุรกิจโรงแรมเพียงอย่างเดียว โดยเน้นที่ประเทศไทยเป็นหลัก ERW จึงน่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมากที่สุด
และหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง อันเป็นผลมาจากการดำเนินงานและผลประกอบการที่แข็งแกร่งขึ้น จะช่วยให้ความกังวลทางการเงินผ่อนคลายลง
ปัจจุบันหุ้น ERW เทรดสูงกว่าระดับก่อนเกิดโควิดอยู่ 27% บ่งชี้ว่า มุมมองเชิงบวกที่ตลาดมีต่อการเปิดประเทศของไทยสะท้อนในราคาหุ้นแล้ว อย่างไรก็ดี หุ้น ERW เทรดที่ EV/EBITDA ปี 2566 ระดับ 14 เท่า ต่ำกว่าระดับ 16 เท่า (+1SD) ซึ่งเป็นระดับการซื้อ-ขายในอดีต
ท่ามกลางภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เป็นบวก จะส่งผลดีต่อเนื่องมาถึงการดำเนินงานและผลประกอบการของ ERW ซึ่งเชื่อว่าความเชื่อมั่นสูงต่อผลประกอบการที่ฟื้นตัว โดยได้แรงหนุนจากภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่เป็นบวกจะหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อไปได้อีก
ปัจจัยเสี่ยงและความกังวลที่ต้องติดตามคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ความต้องการเดินทาง และการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมไม่สามารถตอบสนองความต้องการเดินทางได้อย่างทันท่วงที และต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ นำตลาดผันผวน หลัง IMF มองว่าความเสี่ยง Recession น้อยลง
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
- ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด