อินเดอร์มิต กิลล์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ออกมาเรียกร้องให้มีแนวทางใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤตหนี้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นซึ่งหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาปัจจัยการกู้ยืมในประเทศในการประเมินความยั่งยืนของหนี้ของประเทศนั้นๆ
ขณะเดียวกัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank ยังระบุอีกว่า กรอบความร่วมมือที่ทางกลุ่ม G20 เห็นชอบให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนที่สุด กลับเป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผินเท่านั้น เนื่องจากไม่ได้ครอบคลุม 61% ของหนี้ต่างประเทศของประเทศกำลังพัฒนาที่ถือครองโดยเจ้าหนี้เอกชน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่า
ปัจจุบัน มีเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ แซมเบีย ชาด เอธิโอเปีย และกานา ที่ยื่นขอผ่อนปรนภายใต้กลไก G20 ที่ตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2020 ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิดมากที่สุด แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะประเมินว่ายังมีอีกมาก หรือราว 60% ของประเทศที่มีรายได้ต่ำที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหนี้สิน โดยมีเพียง 4 ชาติเท่านั้นที่บรรลุข้อตกลงปลดหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งไม่รวมถึงการลดหนี้จริง
กิลล์อธิบายว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในสหรัฐอเมริกาและประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าอื่นๆ จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ได้ระยะหนึ่ง เช่นเดียวกับในช่วงปี 1980 โดยมีหลายประเทศในขณะนี้เริ่มอยู่ในภาวะหนี้ท่วมแล้ว และระดับหนี้มหาศาลกำลังเริ่มทำร้ายบรรดาลูกหนี้ให้เข้าสู่วงจรผิดๆ
ในมุมมองของกิลล์ กรอบการทำงานทั่วไปควรมีการปรับเปลี่ยน เนื่องจากกรอบการทำงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตัวอย่างเช่น ประมาณ 2 ใน 3 ของหนี้ต่างประเทศของกานาเป็นของเอกชน แต่กรอบการทำงานมุ่งเน้นไปที่เจ้าหนี้ภาครัฐและเจ้าหนี้ต่างประเทศอย่าง Paris Club ของฝรั่งเศส และผู้ให้กู้รายใหม่ที่เข้ามาในตลาดอย่างจีน ซึ่งขณะนี้เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก
นอกจากนี้ยังขาดกฎเกณฑ์ทั่วไปในการจัดการกับหนี้ของประเทศต่างๆ
ขณะเดียวกัน กิลล์ยังกล่าวอีกว่า การประชุมโต๊ะกลมเกี่ยวกับหนี้สาธารณะชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับความท้าทายในกระบวนการบรรเทาหนี้ที่นำเข้าประเทศที่เป็นลูกหนี้และผู้เล่นในภาคเอกชน แต่ได้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า จีนและผู้เข้าร่วมรายอื่นๆ มีความเข้าใจร่วมกันว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาพหุภาคีสามารถให้กระแสสินเชื่อและเงินช่วยเหลือสุทธิในเชิงบวกแก่ประเทศที่ต้องการ แทนที่จะยอมรับการ Hair Cut
กิลล์กล่าวว่า เนื่องจากการประชุมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นกลไกในการตัดสินใจ ดังนั้น หลายประเทศรวมถึงจีนจึงไม่รู้สึกถึงแรงกดดันใดๆ ดังนั้น การประชุมโต๊ะกลมเกี่ยวกับหนี้สาธารณะชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับความท้าทายในกระบวนการบรรเทาหนี้ระหว่างประเทศที่เป็นลูกหนี้กับผู้ให้กู้ในภาคเอกชนจะได้ผลลัพธ์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากการหารือเรื่องดังกล่าวแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งยังคงอยู่ที่การที่ IMF และธนาคารโลกจะประเมินความยั่งยืนของหนี้ของประเทศต่างๆ โดยไม่รวมปัญหาหนี้สินภายใน ที่ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างภาคการเงินในประเทศของตน แต่ไม่มีกรอบการคลังที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: