×

แบงก์ชาติจีนยัน ‘ไร้ภาวะเงินฝืด’ แม้เพิ่งประกาศอัดฉีดเงินจำนวน 1.7 แสนล้านหยวนผ่าน และตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว

21.04.2023
  • LOADING...
จีน เงินฝืด

ธนาคารกลางจีน หรือ PBOC ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคการเงินของจีนขณะนี้ ไม่มีสัญญาณพื้นฐานใดๆ ของภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อในระยะยาว และสภาพคล่องในไตรมาสแรกก็เพียงพอตามสมควร โดยความเห็นนี้มีขึ้นเพื่อตอบสนองต่อสื่อตะวันตกบางฉบับที่ระบุว่า จีนกำลังเข้าสู่วงจรภาวะเงินฝืด 

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวยังมีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่ธนาคารกลางจีน ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีไว้ที่ระดับ 3.65% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีที่ 4.30% เมื่อวันที่ 20 เมษายน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวไม่ได้ผิดไปจากการคาดการณ์ของบรรดานักวิเคราะห์ 

 

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นดัชนีวัดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของภาคเอกชน ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นดัชนีวัดทิศทางอัตราดอกเบี้ยของภาคครัวเรือน ซึ่งรวมถึงอัตราดอกเบี้ยเพื่อการกู้จำนอง

 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า PBOC จะตรึงอัตราดอกเบี้ย LPR ทั้งสองประเภทในวันที่ 20 เมษายน หลังจากเมื่อวันที่ 17 เมษายน PBOC ประกาศอัดฉีดเงินจำนวน 1.7 แสนล้านหยวนผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 2.75% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนที่แล้ว และเป็นการคงอัตราดอกเบี้ย MLF ติดต่อกันเดือนที่ 8

 

ก่อนหน้านี้ PBOC ได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกของปีนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคาร และลดต้นทุนในการระดมทุนของภาคธุรกิจ รวมทั้งกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีนปรับลด RRR ในอัตรา 0.25% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม ยกเว้นสถาบันการเงินที่มีการกันสำรองอยู่ที่ระดับ 5% อยู่แล้ว

 

Zou Lan อธิบดีกรมนโยบายการเงินแห่งธนาคารกลางจีน ระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง ปริมาณเงินในวงกว้างเติบโตค่อนข้างเร็วและเศรษฐกิจยังคงดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ให้ภาพที่แตกต่างจากภาวะเงินฝืด พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าในระยะกลางและระยะยาว อุปสงค์และอุปทานทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนมีความสมดุลโดยพื้นฐานแล้ว สภาวะทางการเงินมีความสมเหตุสมผลและปานกลาง ความคาดหวังของผู้คนมีเสถียรภาพ และไม่มีปัจจัยพื้นฐานสำหรับภาวะเงินฝืดหรือเงินเฟ้อในระยะยาว

 

นอกจากนี้ ตัวเลขทางสถิติล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสามเดือนแรกของปี 2023 โดยข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ระบุว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นปีด้วยการเติบโตของ GDP ที่ดีเกินคาดที่ 4.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีในไตรมาสแรก

 

ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก กิจกรรมการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้น และตัวบ่งชี้หลายตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในเดือนมีนาคม 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ลดลง 0.3% จากเดือนกุมภาพันธ์

 

Zou กล่าวว่า อุปสงค์ของผู้บริโภคคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก และราคาที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอาจค่อยๆ กลับสู่ระดับเฉลี่ยของปีก่อนๆ และ CPI ประจำปีจะแสดงแนวโน้มเป็นรูปตัว ‘U’

 

ขณะเดียวกัน Ruan Jianhong โฆษกธนาคารกลางจีน กล่าวว่า การดำเนินงานทางการเงินโดยรวมในจีนโดยทั่วไปมีเสถียรภาพในไตรมาสแรก และมีสภาพคล่องเพียงพอพอสมควร และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงสภาพคล่องที่สมเหตุสมผลและเพียงพอ จีนคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐานไว้ไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกันในเดือนเมษายน โดยเศรษฐกิจได้รับประโยชน์จากการดำเนินนโยบายล่วงหน้าแล้ว


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 


อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X