×

จับตา หุ้น STARK ตั้งอดีต ผอ. กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน นั่งประธานกรรมการคนใหม่ หลังเลื่อนส่งงบปี 65

20.04.2023
  • LOADING...
หุ้น STARK

หนึ่งในหุ้นที่กำลังถูกจับตามองมากที่สุดในเวลานี้คือ หุ้น STARK หรือ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น ซึ่งมีธุรกิจหลักเป็นการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ขณะที่บริษัทย่อยเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิล รวมทั้งธุรกิจบริการด้านทรัพยากรบุคคล

 

ก่อนหน้านี้ STARK ไม่สามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนด และได้แจ้งเลื่อนการนำส่งงบการเงินเป็นวันที่ 21 เมษายน 2566 

 

หลังการพิจารณาร่วมกับบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ในฐานะผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และผู้จัดทำรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เห็นว่า STARK มีความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาเพิ่มเติมในการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 รวมถึงบริษัทมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนทีมผู้บริหารและแก้ไขระบบการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดทำงบการเงินดังกล่าว 

 

ดังนั้น เมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2566 คณะกรรมการของบริษัทจึงมีมติปรับลดจำนวนกรรมการจากเดิม 9 คน เหลือ 6 คน พร้อมแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนที่กรรมการที่ลาออกเป็นจำนวน 5 คน ดังต่อไปนี้ 1. พ.ต.ท. ปกรณ์ สุชีวกุล ประธานกรรมการ / กรรมการอิสระ 2. อภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการ / กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน 3. นพดล ธีระบุตรวงศ์กุล กรรมการอิสระ / ประธานกรรมการตรวจสอบ 4. เสนธิป ศรีไพพรรณ กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ / ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน และ 5. สุวัฒน์ เชวงโชติ กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ

 

โดยบริษัทจะมีคณะกรรมการจำนวนรวม 6 คน โดย วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ จะดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทในระหว่างการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสม 

 

สำหรับประธานกรรมการคนใหม่คือ พ.ต.ท. ปกรณ์ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ

 

ทั้งนี้ STARK คาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 และบริษัทจะเร่งรัดจัดทำและนำส่งงบการเงินประจำไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ให้ทันตามข้อกำหนดของกฎหมายต่อไป

ภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในขณะนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับ STARK คืออะไร จนกว่าจะมีการชี้แจงจากบริษัทหรือมีการนำส่งงบการเงิน 

 

แต่หากปัญหานำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเจ้าหนี้โดยตรง โดยหากพิจารณาจากงบการเงิน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 STARK มีภาระหนี้กับสถาบันการเงินราว 9.9 พันล้านบาท และหุ้นกู้อีกเกือบ 9.2 พันล้านบาท 

 

บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี ระบุว่า หลังจากที่กรรมการบริหารของ STARK ลาออก 7 คน และบริษัทเลื่อนส่งงบการเงินรอบที่สอง ทำให้เชื่อว่าจะเกิดการตั้งสำรองเพิ่มเติมต่อธนาคารขนาดใหญ่ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับ STARK อาทิ ไทยพาณิชย์และกสิกรไทย

 

ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ตอนนี้ตลาดเริ่มมองความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และการที่ STARK อาจประสบปัญหาการเงินจริง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ และธนาคารที่ปล่อยกู้

 

อย่างไรก็ตาม “ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยเฉพาะตัว ไม่ได้เป็นผลจากอุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะลุกลาม และก่อนหน้านี้หุ้น STARK ก็ถูกถอดออกจาก SET100 ทำให้กองทุนต่างๆ ไม่น่าจะถืออยู่มากนัก” 

 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ของ STARK มีทั้งหมด 5 รุ่น โดยมี 1 รุ่นที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 2 กันยายน 2566 มูลค่า 1,291.50 ล้านบาท ส่วนอีก 3 รุ่นครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 มูลค่ารวม 6,584.9 ล้านบาท และอีก 1 รุ่นครบกำหนดไถ่ถอนปี 2568 มูลค่า 1,322 ล้านบาท 

 

ขณะที่แหล่งข่าวนักวิเคราะห์กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งจากงบการเงินของ STARK ก่อนหน้านี้คือ ฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่ไม่ได้มีกระแสเงินสดเข้ามา โดยการเพิ่มขึ้นของรายได้ไปอยู่ในส่วนของลูกหนี้การค้า นอกจากนี้คือส่วนของสินค้าคงคลังที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องติดตามจากงบการเงินว่าจะมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นหรือไม่

 

“เชื่อว่าปัญหาของ STARK จะเป็นเรื่องเฉพาะตัว ส่วนผู้ที่อาจโชคร้ายและได้รับผลกระทบจากกรณีนี้แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ แบงก์ที่ปล่อยกู้ ผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้ และเจ้าหนี้การค้า” 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X