ยากที่จะปฏิเสธว่าชื่อเสียงของกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งมาจากมรดกทางวัฒนธรรม โบราณสถานอันตระการตา ไม่ว่าจะเป็นพระบรมมหาราชวัง วัดอรุณราชวราราม และวัดสระเกศ ล้วนเป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้มาเยือนและเป็นความภูมิใจของคนไทย
อย่างไรก็ดี โบราณสถานเหล่านี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทั้งหมด ในปัจจุบันสังคมกรุงเทพฯ ได้เริ่มเล็งเห็นถึงคุณค่าของอัตลักษณ์และความหลากหลายของมรดกทางวัฒนธรรมในระดับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นย่านตึกแถวเก่า ตลาดสด และหาบเร่ วัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้เป็นพื้นที่ที่เรายังสามารถพบเห็นจิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ของคนกรุงเทพฯ ในยุคที่โลกาภิวัตน์แปลงสภาพโลกทั้งใบให้เหมือนกันและจืดชืด
ย่านเก่าแก่ต่างๆ ล้วนแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนยุคก่อน ในการสร้างเมืองให้เอื้อต่อการอยู่อาศัยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันสถานที่เหล่านี้ยังกลายเป็นเสาหลักของการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทุนนิยมในระดับรากหญ้า และพลังร่วมของสังคม
แต่แหล่งมรดกของชุมชนในกรุงเทพฯ นั้น กลับตั้งอยู่บนความไม่มั่นคงในหลายๆ ด้าน และพร้อมที่จะถูกทุบทำลายได้ทุกเมื่อ ต่างจากแหล่งมรดกระดับชาติซึ่งได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดโดยพระราชบัญญัติโบราณสถานฯ พ.ศ. 2504 เพราะในปัจจุบันยังไม่มีการสร้างกฎหมายขึ้นมาคุ้มครองทรัพย์สินอันมีค่าในระดับชุมชน นอกจากนี้ระเบียบข้อบังคับที่ไม่รัดกุมยังเอื้อให้ทุนใหญ่เป็นผู้ได้เปรียบ นำไปสู่การสูญเสียอาคารทรงคุณค่าโดยพลการ แม้บริษัทหรือประชาชนรายย่อยผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินบางรายจะได้ประโยชน์ แต่ชาวกรุงเทพฯ ที่เหลือย่อมเป็นผู้เสียผลประโยชน์อย่างแท้จริง
ถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้ อัตลักษณ์ของกรุงเทพฯ ก็จะค่อยๆ อันตรธานหายไป ผิดกับมหานครใหญ่ทั่วโลก ที่ต่างก็มีมรดกทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่พวกเขาล้วนมีวิธีคุ้มครองมรดกเหล่านั้น ต่างจากกรุงเทพฯ ที่นับวันเข้าก็ยิ่งสูญเสียชื่อเสียงในฐานะเมืองที่เต็มไปด้วยมรดกที่ยังมีชีวิต
หลายประเทศทั่วโลกต่างรับรู้ว่าการมีกฎหมายที่คุ้มครองเพียงแค่โบราณสถานระดับชาตินั้นไม่เพียงพอ แต่เพื่อให้ครอบคลุมแหล่งมรดกในระดับชุมชนที่มักจะมีเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าของ และมักจะตกอยู่ภายใต้กรอบการใช้งานอื่นๆ นอกจากในฐานะ ‘มรดก’ ตัวอย่างเช่น ตึกแถวหรือโกดังเก่าที่ปรับปรุงเป็นร้านอาหารหรือโรงแรม นักวางแผนที่ดีจะต้องรู้จักสร้างกฎหมายทางเลือกที่เอื้อให้เกิดการอนุรักษ์
เช่นในสหราชอาณาจักร มีกฎหมายสำหรับอนุรักษ์มรดกที่ไม่ใช่โบราณสถานหรือแหล่งโบราณคดีในรูปของกฎหมายผังเมือง (Town and Country Planning Act) ส่วนในสหรัฐอเมริกาและมาเลเซีย มีกฎหมายมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งสนับสนุนให้เกิดการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกท้องถิ่น
การอนุรักษ์มรดกท้องถิ่นในลักษณะดังกล่าวก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาที่สอดรับกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการพัฒนาสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน และขนส่งมวลชน ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า ในกรุงเทพฯ การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งมีความจำเป็นมาก กลับนำไปสู่การทำลายแหล่งมรดกโดยไม่จำเป็น เพราะเราขาดกฎหมายระดับท้องถิ่น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด 2 ตัวอย่างคือ
ระหว่างการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสามยอด มีการทุบทำลายอาคารตึกแถวอายุกว่าร้อยปี ถึงแม้จะได้รับการจำลองขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา แต่อาคารจำลองใหม่นี้กลับทำลายความดั้งเดิมและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของบริเวณดังกล่าว เพราะมันทำหน้าที่เป็นเพียงแค่หน้าฉากปลอมๆ เท่านั้น ห่างออกไปไม่ไกล ใกล้กับสถานีวัดมังกร ความงามของแนวตึกแถวสามคูหาบนถนนเจริญกรุงถูกทำลายลง เมื่อตึกแถวคูหากลางโดนทุบและแทนที่ด้วยอาคารใหม่ที่สูงกว่าเดิมมาก
เราต้องอย่าลืมว่าย่านเก่าอย่างเขตถนนเจริญกรุงนั้น นอกจากจะเป็นเขตประวัติศาสตร์ในตัวของมันเองแล้ว ยังเป็นเขตที่ทางการกำหนดให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์อีกด้วย นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะมรดกท้องถิ่นย่อมเป็นรากฐานสำคัญทางวัฒนธรรมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาวัฒนธรรมใหม่ๆ อย่างยั่งยืน พื้นที่เหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนสร้างศิลปะ สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ก้าวล้ำ จัดกิจกรรมและก่อตั้งธุรกิจสร้างสรรค์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมศิลปิน นักออกแบบ นักแสดง และผู้ประกอบการต่างๆ ถึงอยากให้เกิดการอนุรักษ์พื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนี้ การรักษามรดกท้องถิ่นยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวอีกด้วย การอนุรักษ์อาคารเก่าย่อมเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศกว่าการก่อสร้างใหม่ ซึ่งต้องใช้วัสดุใหม่จำนวนนับไม่ถ้วน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงการผลิตปูนซีเมนต์ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
ทั้งนี้ เราอาจจะยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้จาก 2 องค์กรที่ช่วยกำหนด ศึกษา และเผยแพร่กระบวนการอนุรักษ์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วหลายครั้ง องค์กรแรกคือองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ซึ่งในแต่ละปีเป็นผู้จัดกิจกรรมมอบรางวัลให้กับโครงการอนุรักษ์ดีเด่นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และองค์กรที่สอง คือสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมอบรางวัลประจำปีเพื่อเชิดชูโครงการอนุรักษ์มรดกดีเด่นในประเทศไทย
เมื่อปีที่แล้วยังมีข่าวดีเล็กน้อย เมื่อคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่าที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2521 มีมติขยายการกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ในเขตเมืองเก่าให้ครอบคลุมบริเวณระหว่างคลองโอ่งอ่างและคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเป็นการดึงพื้นที่เขตเยาวราชเข้ามาไว้ในกรอบการอนุรักษ์ด้วย นี่ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไทยเล็งเห็นความสำคัญทางวัฒนธรรมของเขตอาคารตึกแถวแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ เรายังต้องการกฎหมายอนุรักษ์ในระดับท้องถิ่นเพื่อให้ตึกแถวเหล่านี้สามารถขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและได้รับการคุ้มครอง แม้การขยายพื้นที่อนุรักษ์จะถือได้ว่ามาถูกทางแล้วก็ตาม
อีกความหวังหนึ่งคือโครงการจัดตั้งมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Rights: TDR) ซึ่งมาจากน้ำพักน้ำแรงของสำนักผังเมือง กทม. ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลดแรงปะทะระหว่างการอนุรักษ์แหล่งมรดกและการพัฒนา มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา เอื้อให้เจ้าของอาคารที่มีความสูงไม่มากในพื้นที่แหล่งมรดกมีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้น ควบคู่ไปกับความสามารถในการดูแลรักษาแหล่งมรดก โดยหลักการกำหนดให้เจ้าของอาคารทรงคุณค่าสามารถโอนสิทธิการพัฒนาพื้นที่บน ‘อากาศ’ เหนือเขตอาคารของตน ให้กับทุนใหญ่ที่ต้องการสร้างอาคารที่สูงกว่ากฎหมายกำหนดในเขตอื่นๆ ปัจจุบัน กทม. ยังทำรายละเอียดของโครงการนี้ไม่แล้วเสร็จ แต่โครงสร้างลักษณะเดียวกันนี้ในนานาประเทศทั่วโลกนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างเห็นผลมาแล้ว
และที่จะเป็นประโยชน์มากกว่าสิ่งอื่นใด คือการวิจัยเพื่อการสร้างและบังคับใช้กฎหมายทางเลือกเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งกำลังจะแล้วเสร็จในปีนี้และส่งไปยังการพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา เพื่อผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ประชาชนต้องรับรู้และสามารถแสดงความคิดเห็นได้ โดยข้าราชการและผู้นำทางการเมืองต้องรับฟัง กทม. และประชาชนชาวกรุงเทพฯ สามารถให้ความช่วยเหลือข้าราชการระดับประเทศด้วยการสร้างระเบียนรายชื่ออาคารทรงคุณค่าและแหล่งมรดก นี่จัดเป็นงานใหญ่ แต่ก็มีความจำเป็นอย่างมาก
นอกไปจากนี้ สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นประโยชน์คือ กทม. ควรสร้างคณะที่ปรึกษาอันประกอบไปด้วยบุคลากรหลากหลาย ทั้งประชาชนท้องถิ่นและผู้ถือประโยชน์กลุ่มต่างๆ เพื่อให้เกิดการระดมข้อชี้แนะจากสาธารณะเกี่ยวกับกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายที่มีความจำเป็นต่อการรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมในพื้นที่ กทม. ถ้าเราให้ประชาชนช่วยกันดูแลรักษาแหล่งมรดกของตน และให้การสนับสนุนด้วยกฎหมายที่ดี ทุกภาคส่วนก็จะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งยวดโดยเท่าเทียม
บทความโดย: รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร (ผู้เขียนบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ) ต้นฉบับของบทความนี้เป็นภาษาอังกฤษ แปลเป็นภาษาไทยโดย ดร.พีรพัฒน์ อ่วยสุข