เกิดอะไรขึ้น:
InnovestX Research ได้จัดทำบทวิเคราะห์พรีวิวผลประกอบการ 1Q66 ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) ซึ่งคาดว่าจะประกาศผลประกอบการวันที่ 10 พฤษภาคม 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น CPALL ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง MoM อยู่ที่ระดับ 61.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.44%MoM อยู่ที่ระดับ 1,592.67 จุด
พรีวิวผลประกอบการ 1Q66:
ผลประกอบการ 1Q66 คาดการณ์กำไรสุทธิ 1Q66 ที่ 3.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7%YoY และ 17%QoQ หากไม่รวมขาดทุนพิเศษจำนวน 129 ล้านบาท จากค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้คืนก่อนกำหนดของ MAKRO (ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ CPALL) ประเมินกำไรปกติได้ที่ 3.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10%YoY และ 26%QoQ โดยกำไรปกติที่เพิ่มขึ้น YoY เกิดจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) และ MAKRO ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่กำไรปกติที่เพิ่มขึ้น QoQ เกิดจากค่าใช้จ่ายโบนัสในธุรกิจ CVS ที่ลดลงตามฤดูกาล
ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายสาขา (SSS) จะเติบโต 7.5%YoY โดยเกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการกลับมาของนักท่องเที่ยว และคาดว่า CPALL จะเปิดร้านสะดวกซื้อใหม่ 180 สาขา ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีสาขาสุทธิ 14,018 สาขา ณ สิ้น 1Q66 (เพิ่มขึ้น 6%YoY และ 1%QoQ)
อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น YoY จากการมียอดขายสินค้ากลุ่มของใช้ส่วนตัวและสินค้ากลุ่ม Ready-to-Eat & Drink ที่ให้มาร์จิ้นสูงเพิ่มมากขึ้น อันเป็นผลมาจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวและการตัดสินใจซื้อแบบฉับพลันที่เพิ่มขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A / ยอดขาย มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น YoY หลักๆ เกิดจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น
ส่วนแบ่งกำไรจาก MAKRO (CPALL ถือหุ้น 60%) คาดว่าดีขึ้น YoY โดย MAKRO น่าจะรายงานกำไรปกติ 1Q66 ที่ดีขึ้นที่ 2.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%YoY เนื่องจากยอดขายที่ดีขึ้นจะมากเกินพอชดเชยค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากเงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ แต่ลดลง 12%YoY จากปัจจัยฤดูกาล
กำไรปกติจากธุรกิจ B2B จะอยู่ที่ 2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 15%YoY แต่ลดลง 16%QoQ โดยการเพิ่มขึ้น YoY เกิดจากยอดขายที่สูงขึ้น (SSS เติบโต 12%YoY) ซึ่งจะมากเกินพอชดเชย EBIT Margin ที่ลดลง เนื่องจากอัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A / ยอดขาย สูงขึ้น ส่วนกำไรปกติจากธุรกิจ B2C จะอยู่ที่ 350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13%YoY และ 19%QoQ โดยการเพิ่มขึ้น YoY เกิดจากยอดขาย (SSS เติบโต 2%YoY) และ EBIT Margin (ธุรกิจให้เช่าฟื้นตัว) ที่สูงขึ้น
ด้านต้นทุนทางการเงินจาก MAKRO มีแนวโน้มลดลงในเดือนเมษายน 2566 ใน 1H66 MAKRO วางแผนรีไฟแนนซ์เงินกู้ส่วนที่เหลืออีก 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ 490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.7 หมื่นล้านบาท) ต้นทุนทางการเงิน ~7.0% ต่อปี (LIBOR+1.95%) และเงินกู้ 1.75 หมื่นล้านบาท ต้นทุนทางการเงิน ~4.7% ต่อปี (MLR-2.25%) ให้แล้วเสร็จ
เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (MAKRO ถือหุ้น 99.9%) ได้ยื่นไฟลิ่งต่อ ก.ล.ต. เพื่อออกหุ้นกู้ 5 ชุด อัตราดอกเบี้ย 2.8-4.15% ต่อปี และอายุ 1.5-10 ปี โดยจะทราบยอดการออกหุ้นกู้ซึ่งประเมินอย่างคร่าวๆ ได้ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท (ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด)
และต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่เป็นตัวเลขสุดท้ายหลังสิ้นสุดระยะเวลาการจองซื้อในวันที่ 17-19 เมษายน 2566 เมื่อใช้สมมติฐานว่า ต้นทุนทางการเงินของหุ้นกู้ชุดใหม่อยู่ที่ 3.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย (ในกรณีที่หุ้นกู้มีน้ำหนักเท่ากันในแต่ละชุด) การประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย (หลังภาษี) ได้ จะหนุนให้กำไรของ CPALL ปรับขึ้นได้อีก ~360 ล้านบาทต่อปี (ช่วยหนุนให้กำไรเติบโต 3% จากฐานกำไรปี 2565)
แนวโน้มผลประกอบการปี 2566:
สำหรับแนวโน้มกำไร 2Q66 คาดว่ากำไรปกติจะเติบโต YoY หลักๆ เกิดจากยอดขายที่ดีขึ้นทั้งจากธุรกิจ CVS และ MAKRO แต่จะลดลง QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
ขณะที่กำไรปี 2566 คาดว่า CPALL จะรายงานกำไรปกติเติบโต 25%YoY สู่ 1.7 หมื่นล้านบาท โดยการเติบโต 11% จะเกิดจากส่วนแบ่งกำไรที่ดีขึ้นจาก MAKRO และ Lotus’s เพราะยอดขายและมาร์จิ้นปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการผนึกกำลังทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น และที่เหลือเกิดจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ (CVS) ที่ฟื้นตัวดีขึ้น เพราะ SSS ดีขึ้นจากเศรษฐกิจฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อีกทั้งมาร์จิ้นฟื้นตัวจากการมีสัดส่วนการขายที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นในระยะถัดไปคือ การรีไฟแนนซ์หนี้สกุลดอลลาร์สหรัฐของ MAKRO เสร็จผ่านทางการออกหุ้นกู้สกุลบาท (คาดว่าในเดือนเมษายน) ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับลดลงจาก 4.7-7.0% ต่อปี สู่ 2.8-4.15% ต่อปี และจะช่วยขจัดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ที่สูงขึ้น โดยจะช่วยหนุนให้กำไรของ CPALL ปรับขึ้นได้อีก ~360 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ InnovestX Research ยังคงเรตติ้ง Outperform สำหรับ CPALL ด้วยราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF (WACC 7% และอัตราการเติบโตระยะยาวที่ 2.5%) ที่ 78 บาทต่อหุ้น
ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ส่องผลงาน 4 หุ้นในเครือเจ้าสัว ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’
- เจ้าสัวธนินท์ ฟันธง เศรษฐกิจไทยปีหน้าดีกว่าปีนี้แน่นอน! แต่มาก-น้อยขึ้นอยู่กับรัฐบาล
- ลิซ่า BLACKPINK ไม่ได้เป็นพรีเซนเตอร์แค่ TrueID แต่เป็นการดีลระดับเครือ CP ที่เตรียมปรากฏตัวในอีกหลายแบรนด์