เว็บไซต์ข่าว CNN รายงานว่า คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับกรณีการเดินหน้าขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับทางรายการ Face the Nation ของสถานี CBS เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 เมษายนที่ผ่านมาว่า ส่วนตัวแล้วเธอมี ‘ความมั่นใจอย่างมาก’ ว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้
ทั้งนี้ ลาการ์ดกล่าวอย่างชัดเจนว่าตนเองไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าสหรัฐฯ จะยอมปล่อยให้หายนะครั้งใหญ่อย่างการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น เพราะการผิดนัดชำระหนี้ก็จะมี ‘ผลกระทบในทางลบอย่างมาก’ ทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
ลาการ์ดย้ำว่า การที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำหลักในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกและเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลก ดังนั้น สหรัฐฯ ไม่สามารถปล่อยให้การผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลสหรัฐฯ กำลังตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งภายในสภาคองเกรสในการเจรจาเพื่อจัดการขยายเพดานหนี้ ซึ่งหากสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการขยายเพดานหนี้ร่วมกันได้ สหรัฐฯ อาจเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรกอย่างเร็วที่สุดในฤดูร้อนนี้หรืออย่างช้าที่สุดในฤดูใบไม้ร่วง
ลาการ์ดกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยทางการเมืองที่สามารถเข้าใจได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ของประเทศจะต้องได้รับชัยชนะ โดยอดีตกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายนี้ ยังคงมีมุมมองทางบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะระบุชัดว่าเศรษฐกิจถดถอยเล็กน้อยในปลายปีนี้
โดยลาการ์ดชี้ถึงแนวโน้มการคาดการณ์ของหลายสำนักในขณะนี้ว่าเป็นไปทิศทางบวกทั้งหมดคือ โดยรวมแล้วมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี แม้จะมีปัจจัยที่ต้องรับมืออย่างระมัดระวัง อย่างสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ความไม่แน่นอนของภาคการธนาคารในสหรัฐฯ และสวิตเซอร์แลนด์ และภาวะเงินเฟ้อ เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่้รัฐบาลและธนาคารกลางทั้งหลายต้องนำนโยบายที่ถูกต้องมาใช้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทาง IMF เพิ่งจะปรับประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปี 2023 นี้ว่าจะลดลงจากปี 2022 ก่อนหน้า จาก 3.4% มาอยู่ที่ 2.8% และลดลงจากการประมาณการในเดือนมกราคม ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะอยู่ที่ 2.9% โดย IMF ให้เหตุผลในการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกว่าเป็นเพราะความไม่แน่นอนอยู่ในระดับสูง และเสถียรภาพในภาคการเงินการธนาคารทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงขาลงเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ บรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารต่างๆ จะมีความระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงิน หลังจากการล่มสลายของ Silicon Valley Bank ในเดือนมีนาคม จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้เกิดวิกฤตสินเชื่อ
ทั้งนี้ ลาการ์ดระบุว่า ECB จะเฝ้าจับตามองและประเมินผลกระทบของกิจกรรมธนาคารในสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Signature Bank ตลอดจนธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิสอย่าง Credit Suisse ที่ถูกบังคับให้ควบรวมกิจการกับ UBS ทำให้เกิดความวุ่นวายในภาคการธนาคาร อย่างใกล้ชิด
ลาการ์ดอธิบายว่า ถ้าธนาคารไม่ให้สินเชื่อมากเกินไปและจัดการกับความเสี่ยงได้ก็อาจจะช่วยลดภาระงานของ ECB ในการจัดการลดอัตราเงินเฟ้อได้ อย่างไรก็ตาม หากจำกัดการปล่อยสินเชื่อมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวและขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจได้เช่นกัน
ส่วนในกรณีที่เกี่ยวกับจีน ลาการ์ดกล่าวว่าตนเข้าใจการแข่งขันระหว่างสองประเทศ แต่หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถหันหน้าเจรจากันได้ ก่อนย้ำว่าการค้าไม่ควรเป็นการเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ
ลาการ์ดกล่าวชัดเจนว่า ตนเองเห็นด้วยกับ เฮนรี คิสซิงเจอร์ หรือ เควิด รัดด์ ที่ระบุว่าความขัดแย้งไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการบีบให้โลกต้องเลือกระหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ กับเศรษฐกิจจีน จะทำให้เศรษฐกิจโลกก้าวสู่ภาวะขาลงและความไม่แน่นอนมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ซีอีโอ JPMorgan เตือน เศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายใน 6-9 เดือน
- หุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาปิดบวกถึง 800 จุด จากที่ร่วงหนักกว่า 500 จุด หลังการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.ย.
- สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐฯ อ่วม! แบกรับต้นทุนแบงก์ล้ม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เตรียมดึงแบงก์ใหญ่ช่วยรับภาระ
อ้างอิง: