×

นักทำสกอร์หนัง ฮีโร่ในภาพยนตร์ที่เราไม่อาจชื่นชมด้วยสายตา

16.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:05 นุ่น-ภราดร เวศอุรัย นักตัดต่อที่ชอบทำเพลง

04:28 การทำงานเพลงสกอร์หนังครั้งแรก

12:10 เพลงธีมหลักของภาพยนตร์

17:28 ดนตรีประกอบเรื่อง Red Wine in The Dark Night

24:40 ดนตรีสกอร์หนังคืออะไร

25:38 สกอร์หนังที่นุ่น ภราดร ประทับใจ

34:01 นุ่น ภราดร บรรเลงสกอร์ประกอบสถานการณ์แบบสดๆ

สกอร์หนัง เปรียบเสมือนฮีโร่ที่เรามองไม่เห็น เคยมีคนบอกว่า ถ้าเราปิดหูดูหนัง จะทำให้อรรถรสของภาพยนตร์ลดลงไปกว่าครึ่ง นั่นคือความสำคัญของเสียงและดนตรีประกอบหนัง แขกรับเชิญของเราวันนี้ แม้จะไม่ได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เป็นอาชีพหลัก แต่ในชีวิตนักตัดต่อหนังของ นุ่น-ภราดร เวศอุรัย ก็ต้องจับงานทำเพลงประกอบ หรือ สกอร์หนัง อยู่หลายหน เช่น ภาพยนตร์ It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก ของผู้กำกับ กอล์ฟ ธัญญ์วาริน

 

เราจะมาพูดคุยเรื่องการทำเพลงประกอบหนัง การสร้างอารมณ์ให้ภาพยนตร์โดยใช้เสียง ปิดท้ายด้วยการให้คุณนุ่น เล่นดนตรีประกอบสถานการณ์สดๆ แบบไม่มีเตี๊ยม

 

ภราดร เวศอุรัย นักตัดต่อที่ชอบทำเพลง

นุ่น-ภราดร เวศอุรัย มีอาชีพคือเปิดบริษัททำโปรดักชันเฮาส์ ตัดต่อ ใส่เสียงให้กับโฆษณาและภาพยนตร์ ชื่อว่า Fool House

 

แต่รายการ Eargasm: Deep Talk จะพูดคุยเกี่ยวกับเพลง ดังนั้นจึงเชิญคุณนุ่น ภราดร มาพูดคุยในฐานะของคนทำสกอร์หนัง และการเลือกเพลงเพื่อใส่ในภาพยนตร์ นุ่นเคยศึกษาเรื่อง Recording Engineer ที่ต่างประเทศ อีกทั้งยังเล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก เคยอยู่ TU Band ในตำแหน่งมือคีย์บอร์ด

 

นุ่นทำสกอร์หนังใหญ่มาแล้ว 2 เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว พอได้โอกาสก็คว้าไว้ เรื่องแรกคือภาพยนตร์ของกอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ชื่อเรื่อง It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก นำแสดงโดยต่าย เพ็ญพักตร์ ซึ่งแรกเริ่ม บริษัทนุ่นได้มาทำงานตัดต่อให้หนังเรื่องนี้ และได้โอกาสในการทำสกอร์หนังในที่สุด

 

การทำงานเพลงสกอร์หนังครั้งแรก

ก่อนหน้านุ่นเคยทำดนตรีประกอบอยู่บ้าง แต่ทำให้กับหนังสั้นหรือไม่ก็สปอตจิงเกิลรายการทีวี ซึ่งเป็นงานสั้นๆ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ทำดนตรีประกอบหนังทั้งเรื่อง ยาว 90 นาที คือตอนรับทำหนังเรื่อง It Gets Better กับคุณกอล์ฟ ธัญญ์วารินทร์ ที่หลังจากคุยขอทำดนตรีประกอบแล้ว นุ่นก็โยนงานตัดต่อให้คนอื่นในทีม แล้วทุ่มกำลังกับการทำสกอร์อย่างเดียว

 

สรุปแล้ว นุ่นใช้เวลาทำสกอร์หนังเรื่องนี้กว่า 3 เดือน กระบวนการทำคือต้องรอให้หนังมีดราฟต์แรกออกมาก่อน ซึ่งจะส่งดราฟต์นี้ให้ทุกคนในทีมไปดู นักทำสกอร์หนังก็ต้องนั่งดูทีละซีน เพื่อคิดเพลงเพื่อส่งอารมณ์ให้หนัง

 

วิธีทำงานก็คือ ทำไล่ไปเป็นฉากๆ เพลงก็ส่งขึ้นเรื่อยๆ ตามองค์ของหนัง แต่ที่ควรระวังคือต้องให้มู้ดของเพลงมันคล้ายกัน ไม่แตกต่างกันมากเกินไป

 

อุปสรรคของงานคือ บางครั้งดนตรีที่ทำมันไม่พอดีกับซีน ซีนอาจจะจบแล้ว แต่ดนตรียังจบไม่ได้ ยังไม่ลงห้อง ยังไม่ครบจังหวะ แต่คนทำดนตรีก็ไม่อาจไปเปลี่ยนคัตติ้งของผู้กำกับได้ เพราะนี่คือจังหวะที่ทีมงานพอใจแล้ว ก็ต้องโกงโน้ตโกงห้องดนตรีกันไป ให้จบพอดีเปลี่ยนคัต

 

เพลงธีมหลักของภาพยนตร์

ปกติแล้ว ดนตรีประกอบหนังมักจะมีเพลงธีม พูดง่ายๆ คือเป็นเมโลดี้หลักที่คุ้นหู แล้วบิดไปเป็นหลายแนว หลายอารมณ์เพลง ที่ติดหูก็เช่น เพลงธีมของ Forrest Gump

 

แต่ในหนัง It Gets Better ไม่มีเพลงธีม เพราะด้วยความที่เป็นหนังเรื่องแรกที่นุ่นได้ทำเพลง เลยลืมคิดว่าต้องมีเพลงธีมด้วย

 

ส่วนตัวนุ่นมองว่าดนตรีประกอบเป็นส่วนที่สำคัญน้อยที่สุดในหนัง เพราะแม้จะมีหน้าที่ชูอารมณ์ของภาพยนตร์ แต่ก็ไม่ควรใส่มาจนรกเกินหนัง ดนตรีประกอบที่ดีมีหน้าที่แค่ประคองอารมณ์ของหนัง ไม่ใช่ชี้นำ

 

มีคอมโพเซอร์หนังคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า ดนตรีประกอบที่ดี ควรทำให้เรารู้สึกกับหนังแล้วค่อยมีฉุกคิดว่าเมื่อกี้มีดนตรีด้วยเหรอ (Vangelis – ฟิล์มคอมโพเซอร์ที่มีผลงานเพลงประกอบหนัง เช่น Chariots of Fire, Blade Runner ฯลฯ) เพราะหนังคือการเล่าเรื่องด้วยภาพและบท ดนตรีแค่เสริมให้ได้อารมณ์ขึ้น คล้ายกับงานบริการ ที่ต้องทำงานให้บรรยากาศดี บริกรในร้านอาหารต้องเปลี่ยนจานเปลี่ยนช้อนโดยไม่รบกวนแขกที่นั่งกินอาหารอยู่ ดนตรีก็เช่นเดียวกัน

 

ซึ่งจากงานเพลงของเรื่อง It Gets Better ก็ทำให้นุ่นได้เข้าชิงรางวัลสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมของ STARPICS Thai Film Awards ครั้งที่ 10

 

บางครั้งดนตรีประกอบหนังก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลง เป็นเมโลดี้เยอะๆ อาจจะเป็นโน้ตตัวเดียวเล่นค้างไว้ก็เป็นได้

 

ดนตรีประกอบเรื่อง Red Wine in The Dark Night

เรื่องนี้ท้าทายตรงที่เป็น genre ที่เฉพาะตัวมาก คือเป็นหนังรัก แวมไพร์ เกย์ ซึ่งนุ่นควบหน้าที่ทำเพลงประกอบและซาวด์ดีไซน์ สองตำแหน่งเลย

 

ดนตรีประกอบคือทำเพลงบรรเลงสร้างอารมณ์ให้หนัง ส่วน Sound Design คือสร้างเสียงประกอบที่ไม่ใช่ดนตรี แต่เพิ่มอารมณ์ให้หนังขึ้นอีก เช่น ในหนังเรื่อง Lord of The Rings มีกองทัพออร์คเดินมาพร้อมเสียงกลอง มีเสียงออร์คคำราม หรือในหนังผีช่วงก่อนผีโผล่จะมีเสียงหวีดหวิวในเรื่อง หรือเสียงไลต์เซเบอร์จาก Star Wars นั่นแหละคือ Sound Design เป็นเสียงที่ถูกทำในภายหลัง

 

จากเรื่องที่แล้วคือหนังรักดราม่า แต่เรื่องนี้นอกจากมีเรื่องรักแล้วยังมีพาร์ตของทริลเลอร์ มีฆ่ากัน เลยทดลองเอาเสียงดนตรีอิเล็กทรอนิกส์มาใช้

 

ดนตรีสกอร์หนังคืออะไร

เพลงสกอร์หนังคือเพลงบรรเลง ต่างกับเพลงประกอบหนังหรือซาวด์แทร็ก ที่จะเป็นเพลงเลย มีเนื้อร้อง อย่างเช่น My Heart Will Go On ของภาพยนตร์ Titanic หรือหนังไทยก็มี โปรดส่งใครมารักฉันที ของเรื่อง รถไฟฟ้ามาหานะเธอ เป็นต้น

 

สกอร์หนังที่นุ่น-ภราดร ประทับใจ

เรื่องแรกที่นึกออกคือดนตรีประกอบ นางนาก ของนนทรีย์ นิมิบุตร ที่ทำโดย ป้อ-ชาติชาย พงษ์ประภาพันธ์ ที่เป็นเสียงผู้หญิงร้อง

 

ส่วนฟากหนังต่างประเทศ ก็จะชอบสกอร์ของจอห์น วิลเลียมส์ (Star Wars, Indiana Jones) ที่ฟังตั้งแต่เด็ก ที่ชอบเพราะมันได้ฟีลมาก ยิ่งเพลงอินเดียนา โจนส์ ถ้าฟังอย่างเดียวไม่ดูภาพ ยังเห็นคนไล่กันบนหลังม้า แค่โน้ตไม่กี่โน้ตก็ทำให้เห็นภาพหนังแล้ว พออยู่บนซีนก็ไม่แย่งซีนภาพ

 

อีกท่านก็คือ โจฮานน์ โจฮานน์สัน ผู้ล่วงลับ ที่ทำสกอร์ให้ภาพยนตร์เช่น Sicario, Arrival, The Theory of Everything ซึ่งเป็นนักทำเพลงที่น้อยแต่ไม่ได้นิ่ง ส่งหนังเป็นอย่างดี

 

กลับมาทางเอเชีย ที่ชอบมากคือ โจ ฮิไซชิ ผู้ทำดนตรีประกอบให้แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิเกือบทั้งหมด รวมถึงหนังของทาเคชิ คิตาโนะ เขาเป็นทั้งนักเปียโนและคอมโพเซอร์ ยกให้เป็นนักทำเพลงคลาสสิกยุคใหม่เลย มันเพราะมาก และยอมซื้อเพลงมาฟังเปล่าๆ เลย ไม่ต้องดูหนังไปด้วยก็ได้

 

อาชีพคอมโพเซอร์

ยุคนี้ ศิลปินนักดนตรีสายป๊อปสายร็อกหลายคนที่ผันตัวมาทำงานดนตรีประกอบหนังมากขึ้น เช่น จอนนี กรีนวู้ด มือกีตาร์ของ Radiohead ที่มาทำดนตรีให้หนังของผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน (There Will Be Blood, The Master, Phantom Thread) หรือวง Muse ก็ทำเพลงประกอบ End Credit หนัง

 

แต่ไม่ว่าดนตรีป๊อป ดนตรีร็อก หรือดนตรีประกอบหนัง ก็เป็นเพลงทั้งนั้น ถ้าฟังแล้วชอบก็ฟังไปเถอะ

 


 

Credits

The Host แพท บุญสินสุข

The Guest ภราดร เวศอุรัย

 

Show Creator แพท บุญสินสุข

Show Producer นทธัญ แสงไชย

Episode Editor นทธัญ แสงไชย

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X