วันนี้ (10 เมษายน) ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เข้ายื่นหลักฐานสอบมรรยาททนายความ ษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือ ทนายตั้ม ต่อสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี วัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ และ สมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย สภาทนายความฯ มารับคำร้อง
ชูวิทย์กล่าวว่า พฤติกรรมของษิทราไม่เหมาะสมกับการเป็นทนายความ จึงมายื่นคำร้องเพื่อขอให้สภาทนายความฯ ลบชื่อษิทราออกจากการเป็นทนายความ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งยังเห็นว่ามีทนายความโซเชียลอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมเหมือนกับษิทรา ที่ชอบให้สัมภาษณ์ ไลฟ์ หรือออกรายการโทรทัศน์ชี้นำสังคมในคดีต่างๆ ก็อาจเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความเช่นกัน
ด้านสมพรกล่าวว่า หลายครั้งที่ษิทราแถลงข่าวออกสื่อ ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่สมควร เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ขณะที่ทนายความคนอื่นก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเช่นกัน
สำหรับการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาททนายความมี 4 ระดับ คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ภาคทัณฑ์, พักใบอนุญาตไม่เกิน 3 ปี และโทษหนักสุดคือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ส่วนการว่ากล่าวตักเตือนและภาคทัณฑ์นั้นยังสามารถว่าความได้ แต่หากถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจากการเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด
ด้านวัชระกล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้ว พฤติกรรมของษิทรานั้นถือว่าเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะต้องนำคำร้องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย
สำหรับทนายความที่ถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ผู้ถูกร้องยังมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่ออุทธรณ์คำสั่งของสภาทนายความฯ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยังมีความเห็นเช่นเดียวกับสภาทนายความฯ ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครองเพื่อพิจารณาต่อไป และหากครบกำหนด 5 ปีที่ถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความฯ ได้ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถมาร้องที่สภาทนายความฯ ได้ หากพบทนายความที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความฯ พร้อมจะดำเนินการตรวจสอบทันที