ทำอย่างไรให้สงกรานต์เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากคำถามทิ่มแทงใจของญาติๆ “ทำไมอ้วนจัง”, “เมื่อไหร่จะแต่งงาน”, “ทำไมไม่ยอมมีลูก”, “บ้านอื่นเขาดูรวยจัง”
สงกรานต์เป็นวันหยุดยาวที่หลายคนใช้สำหรับการพักผ่อนร่างกายและจิตใจจากการทำงาน มีหลายคนได้ใช้โอกาสนี้ในการเติมไฟให้พร้อมในการกลับมาทำงานอีกครั้ง แต่หลายคนก็พูดบ่นกับวันหยุดยาวแบบติดตลกว่า “แทนที่จะได้พักร่าง กลับบ้าน ไปเที่ยวต่างจังหวัดใช้ร่างกายมากกว่าวันทำงานเสียอีก แต่ก็สบายใจได้ชาร์จแบต” เป็นการเล่าเรื่องราวที่คละไปด้วยความสุขแม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่มีคนไม่น้อยที่บ่นระบายถึงความไม่สบายใจในการกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาว เพราะเจอสารพัดคำถามจากญาติๆ ที่ชวนให้รู้สึกเครียดโดยไม่รู้ตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง
“ตั้งใจจะกลับบ้านไปมีความสุข แต่มัวถามเรื่องความก้าวหน้า เราเองก็เครียดจะตาย กลับไปยิ่งเครียดกว่าเดิม”
“เรื่องบางเรื่องก็ไม่ควรพูดให้เสียใจนะ อ้วนขึ้นบ้างละ ไม่รู้บ้างเหรอว่าแบบนี้แหละที่ไม่อยากกลับบ้าน”
“บ้านอื่นจะยังไง จะรวยขึ้นแค่ไหน จะให้เงินเท่าไหร่ ทำไมต้องเอามาเล่าด้วย พูดไปจะมีอะไรดีขึ้นเหรอ”
“เจอกันปีละครั้ง ก็เข้าใจ แต่นี่เราก็เป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำไมยังบ่นสอนเหมือนเราเป็นเด็กอีก”
และเกิดประโยคต่อท้ายที่ว่า “ปีหน้าอาจไม่กลับบ้าน” เพราะไม่สบายใจที่ต้องเจอคำพูดเหล่านี้ แต่ก็อดที่จะรู้สึกผิดกับตัวเองไม่ได้ถ้าสุดท้ายตัดสินใจไม่กลับบ้าน เพราะโอกาสที่จะได้มีวันหยุดยาวอยู่กับครอบครัวมีไม่มากนัก ทำให้เกิดเป็นความเครียดและกังวลไปโดยปริยาย
สำหรับสงกรานต์ปีนี้เชื่อได้ว่าหลายคนคงเตรียมตัวที่จะกลับบ้าน ทั้งวางแผนวัน เวลา เส้นทาง สิ่งของที่จะเอาติดไม้ติดมือไปฝาก แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าเราได้มาเตรียมใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การกลับไปบ้านครั้งนี้มีความสุขให้ได้มากที่สุด จากคำพูดและท่าทีที่อาจรบกวนใจ
การจะทำความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับความเครียดเมื่อเจอญาติ เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจที่มาของคำพูดที่อาจรบกวนจิตใจเราว่ามาจากปัจจัยใดได้บ้าง ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยต่อไปนี้
1. ความเชื่อของคนต่างเจเนอเรชัน
คนยุคพ่อแม่มีความเชื่อเรื่องความมั่นคงของอาชีพ การเงิน และสวัสดิการ ว่าเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต หากแต่คนทำงานในยุคปัจจุบันมีความคิดต่อการทำงานที่แตกต่างกันออกไป หลายคนจัดลำดับของความสุขในการทำงานไว้ก่อนความมั่งคั่งทางการเงิน ด้วยชุดความเชื่อที่แตกต่างกันนี้ส่งผลต่อความไม่ลงรอยในการสื่อสาร
2. ความคาดหวัง กังวล และความรู้สึกเป็นห่วง
แม้แต่พ่อแม่กับลูกที่มีความคิดต่อความมั่นคงเหมือนกันก็อาจเกิดความขัดแย้งกันได้ เพราะความคิดอย่างเข้มข้นต่อความมั่นคงอาจกระตุ้นให้เกิดความกังวล เป็นห่วง ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายอาศัยอยู่ในคนละบริบททำให้เกิดเป็นท่าทีที่ซักถามคล้ายการกดดัน เช่น การถามถึงความก้าวหน้าในงาน การเงิน จากพ่อแม่ ในขณะที่ลูกเองก็กดดันกับสถานะของตนเองอยู่ไม่น้อย จึงตอกย้ำให้ลูกที่กลับบ้านไปยิ่งเครียดเมื่อได้รับคำถามเหล่านี้
3. ความกังวลปนตื่นเต้น
การพบกันเพียงปีละไม่กี่ครั้งส่งผลให้เกิดความรู้สึกกังวลปนตื่นเต้น เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นการสื่อสารอะไร ทำให้ในหลายครั้งของการสื่อสารพ่อแม่ก็มักทักทายด้วยความคุ้นชินกับการพูดคุยเรื่องซ้ำเดิมที่ลูกอาจไม่ชอบใจ เช่น รูปร่าง หน้าตา สถานะทางการเงิน เป็นต้น
4. ความรู้สึกกดดันจากชุมชนและสังคม
คำถามที่มาจากพ่อแม่ไม่ได้มาจากตัวพ่อแม่เองเท่านั้น อาจเป็นคำถามที่ได้รับมาจากแรงกดดันของชุมชนแวดล้อม เช่น ญาติ คนในหมู่บ้าน หรือชุมชน ถึงความก้าวหน้าและมั่นคงในงาน ความสัมพันธ์และการแต่งงาน เพราะพ่อแม่เองก็รู้สึกกดดันจากกฎหรือกระแสในชุมชนมากเกินไปจนมักสื่อสารความกดดันนั้นไปสู่ลูกอย่างไม่ตั้งใจ
แล้วจะทำอย่างไรในฐานะพ่อแม่ที่ลูกกำลังจะกลับมาหา
- ทำความเข้าใจความรู้สึกตนเองตั้งแต่ก่อนที่ลูกจะกลับมาเพื่อยอมรับความกังวล และจัดการให้ผ่อนคลาย เพื่อลดการใช้ความกังวลใจไปกดดันลูกด้วยการพูดหรือตั้งคำถามที่รบกวนความสัมพันธ์
- ย้ำกับตนเองเสมอว่าเรากับเขาไม่ใช่คนเดียวกัน การเคารพวิธีการคิดและการใช้ชีวิตของลูกคือสิ่งสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ให้มั่นคงมากกว่าการพูดสอนหรือแนะนำวิธีการในแบบของเรา เพราะเขาไม่ใช้เรา
- เตือนตัวเองให้รู้ทันว่าสงกรานต์สำหรับลูกคือการกลับมาหาครอบครัวเพื่อผ่อนคลายจิตใจให้มีแรงกลับไปสู้กับงานที่ซับซ้อน และเตือนตัวเองซ้ำว่าแค่ความคาดหวังที่ลูกมีต่อตนเองมันก็หนักหนามากพอแล้ว
- หากกังวลหรือไม่ถนัดที่จะใช้คำพูดซักถาม อาจใช้กิจกรรมเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์หลังการไม่ได้พบเจอกันเป็นเวลานาน เช่น ทำอาหาร รับประทานอาหาร ฯลฯ และเมื่อความกังวลปนตื่นเต้นผ่อนคลายจึงค่อยๆ ใช้คำพูดระหว่างกัน
แล้วจะทำอย่างไรในฐานะลูกที่กำลังจะกลับไปพบกับพ่อแม่หรือญาติ
- ยอมรับกับความจริงที่ว่าเราโตขึ้น 1 ปี พ่อแม่แก่ขึ้น 1 ปี ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่พลาดพลั้ง สื่อสารกับเราเหมือนกับเรายังเป็นเด็กได้
- ให้เวลากับพ่อแม่และตัวเองสำหรับจัดการอารมณ์ เพราะในหลายครั้งเมื่อพ่อแม่และเราสงบ ดูเหมือนคำถามต่างๆ ที่รบกวนอาจหายไป และแทนที่ด้วยเสียงหัวเราะผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน
- มองให้เห็นเนื้อแท้ของเจตนา เพราะถึงแม้ว่าเรามีความเชื่อต่อการทำงานและการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน แต่ในส่วนลึกของหลายๆ บ้าน ก็พบได้ว่าเรามีใจเดียวกันที่อยากให้วันหยุดยาวของเราเป็นวันที่ดี
- เตือนตนเองอยู่เสมอว่าเราไม่ได้กลับบ้านมาเพื่อให้พ่อแม่ยินดีกับความสำเร็จ แต่กลับมาเพื่อรับเอาความรู้สึกดีๆ ร่วมกันกลับไปสู้กับความคาดหวังในตนเองที่หนักหน่วง ซึ่งพบว่าการที่ลูกกับพ่อแม่มีการสื่อสารกันสม่ำเสมอในระหว่างปีมีผลทำให้ลดความขัดแย้งในการสื่อสารได้เป็นอย่างมาก
ก่อนสงกรานต์ปีนี้ ชวนผู้อ่านได้เตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อใช้วันเวลาและโอกาสนี้ในการให้พื้นที่ของความรักและรู้สึกดีต่อกัน เพื่อเติมไฟให้มีพลังกลับมาทำงานกันต่ออย่างเต็มเปี่ยม