หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังคงต้องรักษาการต่อไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่จะมี ครม. ชุดใหม่เข้ามา
สำหรับการปฏิบัติตัวของ ครม. รักษาการนี้ยังมีการประชุมได้ตามปกติ และสามารถปรับคณะฯ ได้ถ้าจำเป็น แต่การทำหน้าที่ใดๆ ก็ตามจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระเบียบ รวมไปถึงพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการถูกร้องเรียน
คณะรัฐมนตรีรักษาการ
- ห้าม อนุมัติงาน/โครงการที่สร้างความผูกพันถึง ครม. ชุดใหม่ ยกเว้นเป็นเรื่องที่อยู่ในงบประมาณประจำปี
- ห้าม แต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ พนักงาน หรือให้ใครพ้นจากตำแหน่ง ยกเว้น กกต. เห็นชอบ
- ห้าม อนุมัติการใช้งบกลาง ทรัพยากร หรือบุคลากรของรัฐ ดำเนินการที่ส่งผลกับการเลือกตั้ง
- ห้าม ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
- ห้าม หาเสียงในเวลางาน เว้นแต่ลาออกจากตำแหน่ง
ผู้สมัครรับเลือกตั้ง-พรรคการเมือง
- สามารถ ร่วมงานประเพณี งานแต่งงาน งานบวช งานศพ มอบพวงหรีดดอกไม้สด แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สิน
- สามารถ จัดพิธีงานต่างๆ ช่วงหาเสียงเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงงานขนาดใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
- สามารถ หาเสียงเลือกตั้งในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพื้นที่
- สามารถ แจกเอกสารหรือวีดิทัศน์เกี่ยวกับการหาเสียงในเขตชุมชน งานพิธีการใส่ชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ประวัติส่วนตัว ชื่อและสัญลักษณ์ รวมถึงนโยบายของพรรค
- สามารถ ใช้พาหนะต่างๆ ปิดประกาศโฆษณาหรือติดแผ่นป้ายโฆษณา ใช้เครื่องขยายเสียง หรือจัดสถานที่หรือเวทีเพื่อโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งได้
- สามารถ หาเสียงผ่านจดหมาย สื่อสิ่งพิมพ์ หรือผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อโซเชียล เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์
- ห้าม นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง
- ห้าม มอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนจากเหตุอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย และโรคระบาด
- ห้าม นักแสดง นักร้อง นักดนตรี สื่อมวลชน ใช้ความสามารถเพื่อเอื้อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งแก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมือง
- ห้าม แจกจ่ายเอกสารเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง โดยวิธีการวาง หรือโปรยในที่สาธารณะ
- ห้าม หาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ