28 ตุลาคม 2565 อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เปิดตัวเข้าสู่ถนนสายการเมืองพร้อมตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย นับจากวันนั้นสปอตไลต์ก็จับจ้องไปที่ลูกสาวคนสุดท้องของ ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของพรรคเพื่อไทย
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บทบาททางการเมืองของแพทองธารเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอเปิดตัวเป็นหัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีเปิดโล่งอยู่ตรงหน้า ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าหากคิดตามคณิตศาสตร์ทางการเมือง การเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อไทยย่อมได้เก้าอี้ในสภาเป็นอันดับ 1 แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการเมืองไทย อะไรๆ ก็อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่หวัง เมื่อเสียง ส.ว. ที่รออยู่ 250 เสียงยังมีโอกาสอีกครั้งที่จะเลือกนายกฯ เป้าหมาย ‘แลนด์สไลด์’ จึงเป็นคำพูดซ้ำๆ ที่พรรคเพื่อไทยใช้ในการลงพื้นที่หาเสียง
เมื่อการเมืองเป็นเรื่องของความเชื่อ โอกาสที่เพื่อไทยจะแลนด์สไลด์จึงต้องใช้ความเชื่อของคนไทยจำนวนมาก วันนี้แพทองธารพร้อมหรือไม่ที่จะแบกรับความเชื่อนั้นเพื่อพาพรรคเดินไปสู่จุดหมายที่วางไว้ อะไรคือเบื้องหลังวิธีคิดและตัวตนที่เป็นแรงผลักดันให้เธอก้าวมาสู่จุดนี้ได้ นี่คือบทสัมภาษณ์พิเศษที่จะทำให้คุณรู้จัก อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ได้ดียิ่งขึ้น
เราเห็นคุณตั้งแต่เด็กๆ ติดตามคุณพ่อ (ทักษิณ ชินวัตร) ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพิ่งมาเห็นบทบาททางการเมืองที่ชัดเจน ประมาณขวบปีที่ผ่านมานี่เอง ให้ประเมินตัวเองนิดหนึ่งว่า ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาพัฒนาการตั้งแต่วันแรกที่ก้าวเข้ามาจนถึงวันนี้ได้เรียนรู้อะไรมากที่สุด
ปีกว่าที่ผ่านมาก็ผ่านอะไรมาค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เรียกว่าการเข้ามาในสนามการเมืองเป็น Intensive Course เลยแหละ รู้สึกว่าได้ปรับตัวเยอะในวันแรกที่ก้าวเข้ามา (วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ณ งานประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคเพื่อไทย) แค่เรื่องการขึ้นเวทีนี่ยังขาสั่นอยู่เลยค่ะ วันนั้นรู้สึกว่าขาสั่น มือสั่น ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ เริ่มนิ่งขึ้น หนึ่งปีที่ผ่านมาได้เรียนรู้เยอะมาก ได้เจอคนเยอะมาก ได้ปรับตัวเยอะมากๆ ค่ะ เพราะเดิมอิ๊งอยู่อีกฝั่งของธุรกิจ ทำเรื่อง Hospitality ทั้งหมด เรื่องโรงแรม สนามกอล์ฟของที่บ้าน พอเข้ามาการเมืองก็อีกแบบหนึ่งเลย
บทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการเมืองมากที่สุดในรอบหนึ่งปีคืออะไร
อิ๊งคิดว่าเป็นเรื่องของการปรับตัว ปรับตัวเยอะมากกับทั้งคนและงาน การทำงานในบริษัทมันจะค่อนข้างฟิกซ์นิดหนึ่งว่า เราจะเจอคนในรูปแบบนี้ มาในรูปแบบของธุรกิจนั้นๆ แต่การเมืองเนี่ย ทุกคนจะมีความเป็นตัวตน ความกล้าแสดงออก ความเป็นผู้นำ คือมันเหมือนกับมีความอัลฟาหมดเลยจริงๆ ก็ยากตรงนี้นิดหนึ่งนะคะ ที่เราจะต้องคุยหรือสื่อสาร การสื่อสารอิ๊งก็ได้เรียนรู้เยอะมาก เราจะสื่อสารกับคนทุกๆ อายุได้อย่างไร สื่อสารหลังไมค์อย่างไร หน้าไมค์อย่างไร
จุดแข็งของอิ๊งก็คือการสื่อสารนี่แหละ เพราะอิ๊งคิดว่าเวลาที่สื่อสารกับใคร อิ๊งค่อนข้างเปิดใจพอสมควร สมมติมีเมสเสจมาว่าจะสื่อสารเรื่องนี้ อิ๊งจะมีสเปซไว้นิดหนึ่งว่าฉันจะรับฟังด้วย
คิดว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร
จุดแข็ง เอาเป็นเรื่องในพรรคก่อนแล้วกันเนอะ จุดแข็งของอิ๊งก็คือการสื่อสารนี่แหละ เพราะอิ๊งคิดว่าเวลาที่สื่อสารกับใคร อิ๊งค่อนข้างเปิดใจพอสมควร สมมติมีเมสเสจมาว่าจะสื่อสารเรื่องนี้ อิ๊งจะมีสเปซไว้นิดหนึ่งว่าฉันจะรับฟังด้วย แล้วอีกอย่างคือข้อดีของการสื่อสารกับคนในพรรคเพื่อไทย คือหลายๆ ท่านเห็นมาตั้งแต่อิ๊ง 8 ขวบ ซึ่งเข้ามาทำงานถามว่าเกร็งไหม แม้เขาจะเป็นรุ่นที่เก๋ามากแล้ว แต่เขาก็ยังมีเมตตากับอิ๊งนะ ในการที่จะสื่อสาร สำหรับเด็กรุ่นใหม่แน่นอนล่ะ ภาษาเดียวกัน คุยได้อยู่แล้ว คิดว่าการสื่อสารน่าจะเป็นจุดแข็งของเรา
แล้วจุดอ่อนที่อยากพัฒนาเพิ่มคืออะไร
คิดว่าบางทีก็อาจจะใจร้อนที่จะ Get things done อยากจะให้ทุกอย่างมันสำเร็จไปได้ ด้วยความที่เราตั้งเป้าไว้แล้ว แต่ว่าพอเรารับฟังมากขึ้น มันก็จะช้าลงนะ ก็จะช่วยได้
ในฐานะที่การสัมภาษณ์ของเรา พูดถึงคนที่จะมีโอกาสเป็นผู้นำของประเทศไทย ก็คือนายกรัฐมนตรี คิดว่าคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของประเทศไทยควรจะมีอะไรบ้าง จากที่เห็นจากคุณพ่อก็ได้ หรือจากที่เห็นนายกรัฐมนตรีหลายๆ ท่าน หรือมุมมองของตัวเองก็ได้
ในมุมมองของอิ๊งเอง รู้สึกว่าคุณพ่อเนี่ยเขาฉลาดมาก แล้วก็เก่ง แต่คุณพ่อไม่เคยเป็นน้ำเต็มแก้วเลย ยังเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แม้กระทั่งกับหลาน 8 ขวบ หลานสอนแอปอะไรสักอย่าง เขาจะตื่นเต้นมาก ฟังอย่างตั้งใจ อ๋อ มันวาดรูปแบบนี้ได้เหรอ รูปมันเคลื่อนตัวได้ เขาจะสนใจมาก ซึ่งอิ๊งคิดว่าผู้นำที่น้ำไม่เต็มแก้วเนี่ยเป็นเรื่องดี ตอนนี้คุณพ่อจะอายุ 74 ปีแล้ว เขายังเรียนรู้จากคนทุกรุ่นทุกวัยอยู่เลย อะไรที่เขาไม่รู้ เขาอยากรู้ เราจะพยายามบอกตัวเองว่า แม้เราจะเลื่อนไปอยู่ตรงจุดไหนของชีวิตก็ตาม เราอยากมีข้อนี้ไว้เสมอ อันนี้คือสิ่งที่อยากทำตามนะคะ แล้วก็แน่นอนแหละ นายกในดวงใจของอิ๊งอีกคนก็ต้องเป็นคุณอายิ่งลักษณ์ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทย) ซึ่งคิดว่าตอนที่เขาอยู่ SC Asset เขาเหมือนฮีโร่ของอิ๊งเลย เป็นผู้หญิงสวยแล้วก็ทำงานเก่งมาก ทำงานเก่งจริงๆ เขาว่องไวมาก และมีความอดทนมากเช่นกัน อิ๊งว่าคุณอาเป็นคนที่ไม่ได้ชอบการต่อสู้หรือโต้เถียง แต่ว่าความจริงเขาเก่งมาก ก็เป็นสิ่งที่ชื่นชม แล้วก็อยากได้ (หัวเราะ) อยากมีบ้าง
คุณเศรษฐา ทวีสินล่ะครับ มีคุณสมบัติจะเป็นนายกฯ หรือเปล่า
คุณเศรษฐาเหรอคะ มีสิ เพราะว่าเวลาทำงานกับคุณเศรษฐาเนี่ย เขาเป็นคนชัดเจน ตรงไปตรงมา แล้วก็แพสชันชัดมาก อยากจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้ มุ่งมั่นตรงนี้ เขาชัดมาก อีกอย่างคุณเศรษฐาก็เป็นคนที่แอ็กทีฟค่ะ แล้วเขาก็รับฟังด้วย อิ๊งว่านี่คือคุณสมบัติของผู้นำ
แล้วคุณเองล่ะครับ คิดว่ามีคุณสมบัติในการเป็นนายกรัฐมนตรีไหม
พูดแล้วมันก็ดูแบบว่าหลงตัวเองเนอะ แต่เอาแบบนี้ละกัน อิ๊งคิดว่าอิ๊งพร้อมที่จะเสนอตัวให้ประชาชนเลือก
ยืนยันว่าพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
พร้อมให้ประชาชนเลือกค่ะ พร้อมที่จะอยู่ในพรรคเพื่อไทย เพราะอิ๊งไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งมาก ต้องเป็นนายกฯ ไม่ค่ะ อิ๊งคิดว่าตัวเองมีทีมที่ดี เรื่องที่อิ๊งไม่รู้ เรื่องที่อิ๊งไม่ครบ ยังมีทีมที่เข้มแข็ง ทีมที่เคยเป็นรัฐบาล เคยรับใช้ประชาชน เคยช่วยกันผลักดันนโยบายจนสำเร็จ เพราะฉะนั้นนอกจากอิ๊งมีความตั้งใจมุ่งมั่นแล้วยังมีทีมที่ดี จึงสามารถพูดได้ว่า พร้อมค่ะ
ดูบทสัมภาษณ์คุณในรอบ 1-2 เดือนที่ผ่านมา แน่นอนบริบทมันเปลี่ยนไป มีพัฒนาการทางการเมือง ก็เริ่มคลี่คลาย เผยอะไรออกมามากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็ไม่กล้าพูดว่าตัวเองจะเป็นแคนดิเดต แต่ตอนนี้ก็มีการประกาศไปแล้ว นพ.ชลน่านก็พูดว่าเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ตอนนี้ขอชัดๆ อีกครั้งได้ไหมครับว่า พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
เดี๋ยวนะ ณ ตอนนี้ ณ วันที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ (15 มีนาคม 2566) รายชื่อจากทางพรรคที่ต้องผ่านกรรมการบริหารพรรคยังไม่ออก เพราะฉะนั้น เอาเรื่องส่วนตัวก่อน อิ๊งพร้อมที่จะเป็นแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีค่ะ
อิ๊งไม่ได้คิดว่าตัวเองเก่งมาก ต้องเป็นนายกฯ ไม่ค่ะ อิ๊งคิดว่าตัวเองมีทีมที่ดี เรื่องที่อิ๊งไม่รู้ เรื่องที่อิ๊งไม่ครบ ยังมีทีมที่เข้มแข็ง ทีมที่เคยเป็นรัฐบาล เคยรับใช้ประชาชน เคยช่วยกันผลักดันนโยบายจนสำเร็จ เพราะฉะนั้นนอกจากอิ๊งมีความตั้งใจมุ่งมั่นแล้วยังมีทีมที่ดี จึงสามารถพูดได้ว่า พร้อมค่ะ
แต่ในขณะเดียวกัน คุณเศรษฐาก็พูดว่า ถ้าไม่ใช่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาไม่เอาด้วย คิดอย่างไรครับ
เราคุยหลังไมค์กับคุณเศรษฐาเยอะนะคะ อิ๊งคิดว่าคุณเศรษฐามองว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี่แหละ คือสิ่งที่จะผลักดันนโยบายทั้งหมดให้เกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่ตำแหน่งอื่น ไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดๆ เพราะก็จะเป็นแค่กระทรวงนั้น คุณเศรษฐาช่วยอยู่ในพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์แล้ว ท่านคงคิดว่า ถ้าไม่ใช่นายกรัฐมนตรี ท่านก็ไม่ได้สนใจในตำแหน่งที่จะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงไหน นี่คือความตั้งใจมากกว่า สมมติว่าท่านไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ท่านก็ยังอยู่ในพรรคเพื่อช่วยทำนโยบายต่อไป นั่นคือเซนส์ที่คุณเศรษฐาพยายามจะสื่อออกมา
ตอนคุยกันหลังไมค์ ตกลงใครคือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเบอร์หนึ่ง
ยังไม่ทราบเลยเอาจริงๆ
แต่พอคุณเศรษฐาพูดมาแบบนั้น ทำให้ตัดสินใจเลือกได้เลยไหมว่าคุณจะเป็นเบอร์หนึ่ง หรือว่าจะถอยให้คุณเศรษฐา
เราต้องดูอย่างอื่นประกอบด้วย มันไม่ใช่แค่เรื่องความอยากนะคะ ไม่ใช่แค่ความอยากของอิ๊งหรือของคุณเศรษฐา แต่เป็นความเหมาะสมของพรรค และสิ่งที่ประชาชนจะเลือกมากกว่า ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจด้วยว่าเลือกเราแล้ว คนคนนั้นจะทำให้นโยบายต่างๆ สำเร็จ เอาจริงๆ นะแคนดิเดตทั้ง 3 คนเนี่ย ต้องมีศักยภาพในการที่จะผลักดันนโยบายให้สำเร็จ ไม่อย่างนั้นเป็น 1 ใน 3 ไม่ได้ แต่ว่าแต่ละคนก็อาจจะมีเวย์ของตัวเอง หรือว่าคนอาจจะชอบเราในลักษณะที่ต่างกัน แต่ว่าทำไมเพื่อไทยต้องเสนอ 3 ชื่อ สงสัยไหม คนอื่นเขาเสนอชื่อเดียวเลย มั่นใจเลย เราไม่ได้ไม่มั่นใจนะคะ แต่ที่ผ่านมา เราเจอความ Tricky เยอะ ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น สมมติคุณเสนอแค่อิ๊ง 1 ชื่อ เกิดอะไรสักอย่างไม่รู้ล่ะ ตัดสิทธิ์อิ๊งแล้ว พรรคเพื่อไทยอดเสนอนายกฯ แล้ว แล้วนโยบายที่เราเดินไปปราศรัย ทุกจังหวัดที่ผ่านมา เราจะไม่ทำให้เขาเหรอ ทั้งที่เราได้เสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นเราก็เสนอ 3 ชื่อ เซฟๆ เลย
หลายคนอาจจะเกิดคำถามว่า โอเค ในแวดวงธุรกิจคุณก็ทำงานมาสักระยะหนึ่ง
ประมาณ 10 กว่าปี 10 นิดๆ ค่ะ
แต่ประสบการณ์ทางการการเมืองก็ยังมีไม่มากนัก ถ้ามีคนถามว่าคุณเอาความมั่นใจ เอาคุณสมบัติอะไรที่จะมาการันตีว่าคุณพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย จะสร้างความมั่นใจกับเขาอย่างไร
อย่างที่บอกไปตอนแรกนะคะว่านอกจากตัวอิ๊งที่พร้อม อิ๊งก็มีทีมที่ดีด้วย อิ๊งมีความตั้งใจ และอิ๊งก็จริงใจ ถ้าดูบทสัมภาษณ์หลายๆ อันที่ผ่านมา อิ๊งพูดเลยว่า ตำแหน่งนายกฯ ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่พอเข้ามาทำงานการเมืองเนี่ย มันเริ่มอินกับนโยบาย กับสิ่งที่ต้องการจะให้เกิดขึ้นจริงๆ กับประเทศชาติและประชาชน เราได้รับความนิยมระดับหนึ่ง ซึ่งคนในพรรคอาจจะเห็นว่าเหมาะสม แต่สุดท้ายอิ๊งเป็นหรือไม่เป็นนายกฯ อิ๊งไม่โกรธ อิ๊งพูดหลายทีแล้วว่าไม่น้อยใจด้วย ก็จะทำหน้าที่ต่อไป จะยังอยู่ในพรรคเพื่อไทยต่อ อย่าเพิ่งให้อิ๊งไปไหน (หัวเราะ) อิ๊งยังจะผลักดันนโยบายต่างๆ ที่ทำได้ เพราะว่าวันแรกที่ก้าวเข้ามาอิ๊งรู้สึกว่าประเทศไทยรอไม่ได้แล้ว
ตอนแรกไม่คิดถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ไม่เลยค่ะ ด้วยความสัตย์จริง (หัวเราะ)
แล้วหลังจากนั้นอะไรที่ทำให้มั่นใจมากขึ้น แล้วจนวันนี้ ผมคิดว่าแววตา ความมั่นใจก็เพิ่มมากขึ้น อะไรทำให้คุณมั่นใจมากขึ้น พรรคบอก ตัวเองบอก คุณพ่อบอก หรือใครบอก
เวลาเราทำงาน เราไม่ได้ถามหาคำตอบว่าใครโอเคบ้าง ทุกคนโอเคไหม ที่ฉันอยู่ตรงนี้ อิ๊งคิดว่าอิ๊งทำเต็มที่ของอิ๊ง แล้วมีคนเห็น แล้วเขาสะท้อนให้อิ๊งฟัง ไม่ได้ไปถามว่าฉันเหมาะไหม นายกฯ เนี่ย ฉันเหมาะไหม ทุกวันนี้ก็ยังไม่ถาม อย่างการให้สัมภาษณ์กับคุณเคน อิ๊งก็จะพูดว่าในใจอิ๊งมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นให้ประชาชนเป็นคนตอบว่าอิ๊งพร้อมหรือไม่ ไว้ใจอิ๊งหรือไม่ อิ๊งพร้อมในส่วนของอิ๊งนะ แต่ถ้าประชาชนเห็นว่า โอ๊ย คนนี้ไม่ใช่ ยอมรับได้ค่ะ นั่นคือเรื่องปกติ นั่นคือประชาธิปไตย
ครอบครัวของคุณเองก็มีตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลายคนพอสมควร แล้วชะตากรรมของแต่ละคนก็มีทั้งเรื่องคดีความ การที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ไม่กังวลเรื่องนั้นใช่ไหม
ความกังวลมีแน่ แต่อิ๊งมีความหวังมากกว่าความกังวล อิ๊งรู้สึกว่ารัฐประหารเอาเวลาของคนไทยไปเยอะ เอาโอกาสของคนไทยไปเยอะ คดีต่างๆ ที่ครอบครัวอิ๊งโดน โดนหลังรัฐประหารทั้งสิ้น ซึ่งนี่แหละคือความยุติธรรมที่ไม่เกิดขึ้น แต่อิ๊งมีความหวังเพราะอะไร ตั้งแต่วันที่พ่อถูกรัฐประหาร 17 ปีแล้วนะ (19 กันยายน 2549) นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ถูกรัฐประหารก็ 8-9 ปีแล้วใช่ไหม อิ๊งรู้สึกว่าประเทศเรามันไปข้างหน้าบ้างแล้ว คน Educated กับเรื่องต่างๆ มากขึ้นเยอะ การรัฐประหารสมัยคุณพ่อเกิดขึ้นในวันที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเสือตัวที่ 5 เศรษฐกิจดีมากๆ ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น แต่พอเกิดรัฐประหาร ประเทศหยุด ถึงวันนั้น ตอนที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล ค่าแรงเพิ่มมาเป็น 300 บาท จนวันนี้ 8 ปี เพิ่มมาแค่ 50 บาท นี่อิ๊งทำตัวเลขกลมๆ แล้วนะ จริงๆ ยังไม่ถึง 50 บาท 8 ปีนะคะ มันเห็นเลยว่าประเทศหยุดชะงัก เพราะฉะนั้นเรื่องรัฐประหารเนี่ย ถามว่ากลัวไหม ต้องไม่ถามที่อิ๊ง ต้องถามคนทำรัฐประหารมากกว่า เพราะเราคือหนึ่งในเหยื่อค่ะ
คุณทักษิณน่าจะเคยเล่าสักที่ว่าจะให้คุณเป็นนายกฯ หรือไม่ ให้ไปถามคุณแม่
(หัวเราะ) อิ๊งชอบพูดเล่นกับทุกคนว่าอิ๊งไม่กลัวใครเลยนะ เกิดมาอิ๊งกลัวคุณแม่คนเดียว (หัวเราะ) แต่จริงๆ ทุกๆ เรื่องก็ถามคุณแม่
แล้วได้คุยกันหรือยังครับ
คุยค่ะ ตั้งแต่โตขึ้นมา คุณแม่เคารพการตัดสินใจทุกเรื่องนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวเข้าสู่การเมือง รับตำแหน่งต่างๆ ในพรรค คุณแม่ให้การตัดสินใจเป็นของอิ๊ง แต่แน่นอน ไม่ว่าอิ๊งจะทำอะไร อิ๊งปรึกษาคนในครอบครัวทั้งสิ้น คุณพ่อ คุณแม่ พี่โอ๊ค พี่เอม คุยหมด สามี คุยกันเป็นวงใหญ่ค่ะ เป็นวงที่เราบอกเรื่องที่เราคิดจริงๆ ได้ ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่การตัดสินใจของอิ๊งเอง คุณแม่จะห่วงเรื่องความเครียด สุขภาพมากกว่า
แสดงว่าคุณแม่ไฟเขียวแล้วตอนนี้
ไม่เคยไฟเขียว ไฟแดง เขาแล้วแต่ แต่เขากังวลแค่ถ้ามันมากไปเขาจะรอเวลาว่าเขาจะต้องเข้ามาช่วยเราเมื่อไร อย่างสัปดาห์ที่ผ่านมาอิ๊งไปหาเสียงแล้วค่อนข้างเหนื่อยมาก ตอนนี้ท้องจะ 8 เดือน เขาก็จะเป็นห่วงมาก ไปพัทยา อยู่ๆ ก็พุ่งกลับมา จะเป็นแนวนั้นมากกว่า
แสดงว่าตัวคุณเป็นคนตัดสินใจได้เอง เคาะเองได้
ใช่ค่ะ
เมื่อกี้พูดถึงตระกูลของคุณ ไม่ว่าจะเป็นคุณทักษิณ คุณสมชาย (สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 26) หรือคุณยิ่งลักษณ์ หลายคนจะมองภาพว่าเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลในการบริหารบ้านเมือง ตระกูลการเมืองที่สืบทอดอำนาจกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้นำมาสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะประเทศไม่ใช่เป็นของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตอนนี้ก็เหมือนคุณเป็นคนที่ 4 แล้วที่จะเสนอตัวเข้ามา คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
อิ๊งเห็นด้วยมากๆ เลย กับการที่ว่า ประเทศไม่ใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ประเทศนี้เป็นของประชาชน การที่ประชาชนไว้ใจพรรคไหน ไว้ใจใคร ไว้ใจนามสกุลไหน อิ๊งคิดว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชน การที่ชินวัตรได้รับเลือกหลายครั้ง เพราะชินวัตรทำประโยชน์กับประเทศชาติจริงๆ ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วจนวันนี้ อิ๊งเองก็ได้บุญบารมีนั้นนะคะ เด็กหน้าหมวยคนนี้คือใคร เดินไปหาเสียงเนี่ย ทำไมชาวบ้านถึงแสดงความรักให้อิ๊งได้ขนาดนั้น เพราะคุณพ่อ คุณอาค่ะ เพราะสิ่งที่พ่อกับอาเคยทำ ตั้งแต่ไทยรักไทย จนสมัยเพื่อไทยเป็นรัฐบาล อิ๊งได้ผลนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นคนจะมารักอิ๊งทำไม นึกออกไหมคะ อิ๊งรู้สึกว่าเราก็ยังอดไม่ได้ที่ก็จะอยากทำอะไรให้บ้านเมืองอีกครั้ง ถึงวันหนึ่งที่คนในพรรคเพื่อไทยไม่ใช่นามสกุลชินวัตร แต่เขาเชื่อว่าสามารถผลักดันนโยบายสำเร็จได้จริง อิ๊งคิดว่าพรรคเพื่อไทยก็จะยังอยู่นะคะ
ถ้าธุรกิจเป็น Family Business เราพอเข้าใจว่าลูกหลานมาก็สืบทอดกันไป แต่ในเชิงการบริหารการเมือง หรือการบริหารประเทศ อย่างที่คุณบอกว่าบางทีมันอดไม่ได้ ต้นทุนของนามสกุลนี้มันก็ยังผูกอยู่ แต่จะทำอย่างไรให้มันไม่ได้ผูกติดกับแค่ครอบครัวแบบนี้ คุณมีคำตอบตรงนี้ไหมครับ หรือว่าก็ต้องใช้ต้นทุนอันนี้ต่อไป
อิ๊งรู้สึกว่ามันอยู่ที่พรรค เพราะว่าพรรคเราถูกยุบมา 2 ครั้ง ไทยรักไทยและพลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย คราวที่แล้วที่มีการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีชินวัตร เราก็ได้เสียงข้างมาก การที่อิ๊งเข้ามาก็ไม่ได้คิดว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ได้เพราะชินวัตร อิ๊งคิดว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ได้เพราะพรรคเพื่อไทย และนโยบายที่เคยทำสำเร็จมาในอดีต บุคลากรเดิมๆ ที่ยังอยู่ แถมยังมีพลังใหม่เข้าไปอีก แน่นอนค่ะ การที่อิ๊งเข้าไปอาจจะเร็วขึ้น เหมือนช่วยให้ฐานเสียงเก่าที่รักคุณพ่อ รักคุณอา เขาก็เอ็นดูเราไปด้วย แต่ว่าแค่อิ๊งคนเดียวไม่สามารถทำให้นโยบายเกิดขึ้นจริงได้ เพราะฉะนั้นอิ๊งคิดว่าส่วนใหญ่อยู่ที่พรรคค่ะ
ถ้าวันหนึ่งเดินไปหาเสียงในฐานะแพทองธารที่ไม่มีนามสกุลชินวัตร แต้มต่อตรงนี้ที่หายไปมันจะส่งผลอย่างไรต่อความนิยมของคุณ จะทำอย่างไรให้เราสามารถสร้างศักยภาพได้ด้วยตัวเอง
ถ้าสมมติอิ๊งไม่ได้นามสกุลชินวัตร แต่ยังอยู่ในพรรคเพื่อไทยนะ อิ๊งคิดว่าอาจจะต้องแนะนำตัวเองยาวขึ้น นานมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น อันนี้คือแต้มต่อของการมีนามสกุลชินวัตร คือแน่นอนล่ะ คนรู้จักตั้งแต่อิ๊งยังไม่เข้าการเมืองด้วยซ้ำ นั่นคือสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น ลงพื้นที่มากขึ้น เจอคนเยอะกว่านี้ แต่หลักการของพรรคเหมือนเดิม
เมื่อกี้มีแต้มต่อใช่ไหม แล้วมีแต้มที่ไม่ต่อบ้างไหมสำหรับการมีนามสกุลชินวัตร
คนไม่ชอบก็มี อยู่ในการเมืองคนไม่ชอบก็เยอะแยะ อิ๊งก็ต้องมีจุดยืน จุดยืนของอิ๊งคือพรรค จุดยืนของอิ๊งคือความตั้งใจ คือนโยบาย เพราะฉะนั้นชอบไม่ชอบทุกคนมีสิทธิ์
พูดถึงเรื่องจุดยืน เราก็ต้องพูดถึงจุดยืนของตัวพรรค และจุดยืนของคุณด้วย ตอนนี้ เวลาคนเดินเข้าคูหา ส่วนหนึ่งเลือกด้วยนโยบาย ความชื่นชอบส่วนตัว แต่ส่วนหนึ่งเลือกจากจุดยืนทางการเมือง ถืออุดมการณ์เป็นเรื่องหลัก จะจับมือกับใคร จะอยู่ขั้วไหน ตอนนี้แทบจะเป็นประเด็นสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ในฐานะที่พรรคเพื่อไทยเองก็เป็นพรรคใหญ่ มีโอกาสเลือกก่อน ตลอดระยะเวลาที่สัมภาษณ์มาคุณก็พยายามจะไม่ให้ความชัดเจนนัก พูดตามตรงคือ รอ พูดว่าแลนด์สไลด์ก่อน 310 เสียงก่อน เดี๋ยวว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าเราเป็นนักธุรกิจเหมือนกันครับ เราต้องประเมินความเสี่ยง เราต้องประเมินซีเนริโอ เราต้องคาดการณ์ว่าซีเนริโอที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร ภาพที่ออกมาจะเป็นอย่างไร และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ผมจะลองไล่ทีละซีเนริโอ ว่าคุณคิดอย่างไรแล้วกันนะครับ ซีเนริโอที่แลนด์สไลด์ไปเลยนี่คงเอาไว้ก่อน แต่ถ้าคะแนนไม่ถึงขนาดนั้น อยู่ระดับกลาง ต้องจับมือกับพรรคต่างๆ ที่เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านในตอนนี้ คิดว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร เช่นพรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีความเสี่ยงใดๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นไหมครับ
เอาที่พรรคก้าวไกลก่อนเนอะ คนในพรรคก้าวไกลไม่มีปัญหากันกับพรรคเพื่อไทย อิ๊งเห็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขายังคุยกัน มีคอนเน็กชันที่ดีต่อกัน ทำงานเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน ไม่มีปัญหาอะไร เรื่องประชาธิปไตยก็คงชัดเจน แต่ว่าในตอนนี้ที่เราไม่สามารถพูดออกไปได้ ที่คุณเคนว่าให้สัมภาษณ์ทุกครั้งอิ๊งก็ไม่ได้ตอบชื่อใครไปเลย เพราะเราไม่รู้ว่าเขาจะได้คะแนนเท่าไร แล้วเราได้เท่าไร บวกกันแล้วมันเพื่ออะไร นึกออกไหมคะ ต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน แต่แน่นอนว่าเราเอานโยบายเรามาเป็นตัวตั้ง นโยบายของเรามีใครคัดค้านไหม เพราะเราหาเสียงทั่วประเทศ สัญญาเขาไปหมดแล้วว่าจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ภายในการเป็นรัฐบาล 4 ปีต้องได้นี่ได้นั่น ขัดไหม มันถึงบอกว่าตอบยากมาก ไม่ใช่ว่าเรารู้สึกว่าพรรคนี้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราประเมินความเสี่ยงไหม ประเมินแน่ค่ะ ประเมินในพรรคเรานี่แหละ เราจะได้เท่านั้นเท่านี้ ถ้าต้องจับมือ เราจะคุยอย่างไรกับใคร แต่ว่าเราไม่ได้อยากเสียโฟกัสตรงนั้น เพราะว่าเราต้องแลนด์สไลด์ ทั้งพรรคเนี่ย โฟกัสเรื่องเดียวกันนะ คือต้องแลนด์สไลด์ คุยกับหัวหน้าพรรคก็บอกว่า “คุณอิ๊ง เราต้องแลนด์สไลด์” ทุกคนเป้าหมายนี้ และไม่มีใครมีดีลอะไรกัน ไม่ดีลกับใครเลย แล้วก็ไม่ได้คุยกับใครด้วย เพราะฉะนั้น เราเดินหน้าเรื่องนี้จริงจังมาก
เข้าใจครับว่าแลนด์สไลด์เป็นเป้าหมายหลัก แต่ว่าประชาชนจะเข้าไปเลือกให้แลนด์สไลด์หรือไม่แลนด์สไลด์อยู่ที่จุดยืนทางการเมืองด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้ผมคงต้องถามในเชิงหลักการแล้วกัน ตอบได้ไม่ได้อีกเรื่องหนึ่ง แต่บอกไว้เลยว่าถ้าอยากได้แลนด์สไลด์ต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้กับประชาชนได้
เข้าใจ
ผมว่ามีหลายส่วนเลยที่คิดในลักษณะนี้ว่า ตกลงจะจับมือกับใคร นั่นแหละจะเป็นเหตุผลให้เขาไปกา ถูกไหม
ได้ อิ๊งขอตอบในส่วนที่อิ๊งตอบได้เลยนะ พรรคเพื่อไทย ถ้าเราชนะด้วยเสียงข้างมาก แลนด์สไลด์หรือไม่ หรือเกือบๆ แลนด์สไลด์ก็ตาม ถ้าเราชนะด้วยเสียงข้างมากที่สุดนะคะ อย่างไรนายกฯ ก็จะมาจากพรรคเพื่อไทย อันนี้ชัดขึ้นนิดหนึ่งนะ นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทยแน่นอน เพราะว่าประชาชนเลือกเรา เราจะไปเอานายกฯ คนอื่นทำไม ไม่มีทาง แล้วอีกอย่างหนึ่งคือพรรคร่วมเล็กๆ น้อยๆ ที่เราจะจับมือกัน อิ๊งก็ขอให้ที่เขายืนหยัดว่าเขาเป็นประชาธิปไตยมาโดยตลอด ไม่เข้าข้างเผด็จการ ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ขอไม่เอ่ยชื่อ ว่าอย่างไรบ้าง
ประเทศไม่ใช่ของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ประเทศนี้เป็นของประชาชน การที่ประชาชนไว้ใจพรรคไหน ไว้ใจใคร ไว้ใจนามสกุลไหน อิ๊งคิดว่าเป็นสิทธิ์ของประชาชน
จากหลักคิดพอเห็นภาพครับ ต้องไล่ไปทีละพรรค ตอบได้ตอบไม่ได้อีกเรื่องนะครับ อย่างพรรคก้าวไกลชัดเจนว่าจุดยืนลักษณะแบบนั้น แต่ก็มีเพดานอย่างหนึ่งคือเรื่องของมาตรา 112 เวลาดีเบต ผมเห็นหลายเวทีแล้ว ก็จะเห็นว่ามีความคิดเห็นที่อาจจะไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว ทำให้หลายคนมองว่าอาจจะเป็นกำแพงอย่างหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยไม่อยากจับกับพรรคก้าวไกลหรือเปล่า
นั่นสิ ต้องคุยกัน ต้องคุยกันค่ะ เพราะว่าพรรคเพื่อไทยพูดหลายรอบแล้วในเรื่องของมาตรา 112 เราไม่ได้คิดว่า โอ้โฮ มาตรานี้แตะไม่ได้เลย ห้ามพูด เราอยากให้คุยกันในระบบของประชาธิปไตย แล้วเราอยากให้กำหนดขอบเขตของการใช้กฎหมายนี้ให้ชัดเจน เรื่องโทษ เรื่องคนฟ้อง ถกกันในสภานะคะ ขอให้ชัดเจน เพราะว่าหลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้น แน่นอนเราทำการบ้านเรื่องนี้ มีคนถูกฟ้องเป็น 100 เคสในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา แต่สมัยก่อนถูกฟ้องปีละ 1 เคส 2 เคส มันเป็นเพราะอะไร มันกลายเป็นกฎหมายที่เอามาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง นั่นคือผิดเป้าหมายแล้วนะ ไม่ต้องรอศาลตัดสิน ติดคุกได้ ทุกอย่างมันรุนแรง ซึ่งเราก็เห็นอย่างนั้นค่ะ และเราต้องการที่จะคุย ต้องการที่จะหันหน้าเข้าหากัน กำหนดขอบเขตว่า ใครฟ้องได้บ้าง โทษหนักสุด เบาสุดเป็นอย่างไร เราขอความชัดเจนตรงนี้ แต่อิ๊งไม่แน่ใจว่าพรรคก้าวไกลมีขอบเขตแค่ไหน ซึ่งแน่นอนค่ะ มันเหมือนกับหนึ่งในนโยบาย เอากับเราไหม ไปกับเราไหม เพราะประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเรานะ เราถืออย่างนั้นได้ เพราะเขาเลือกเรา ถูกไหมคะ
แบบไหนที่เอา แบบไหนที่ไม่เอาครับ เรื่องมาตรา 112 ถ้าแก้ไข เอาไหมครับ
เอาแบบที่อิ๊งพูดไปเมื่อกี้เลยค่ะ เป๊ะๆ ขอให้มีการคุย และกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนในสภา
แต่ถ้าเกิดเขายืนยันว่าจะแก้ไข แล้วขอบเขตไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่จับ
อันนั้นก็จะไม่ใช่ค่ะ (พยักหน้า)
ทีนี้รองลงมา ถ้าคะแนนอาจจะไม่ถึงขั้นนั้น แล้วก็ต้องไปจับกับพรรคร่วมรัฐบาลในตอนนี้ หรือพรรคอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็นเครือข่ายแล้วกัน ผมเคยได้เห็นสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือพรรคพลังประชารัฐ เอารวมไทยสร้างชาติของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อน จุดยืนยังคงเหมือนเดิมไหมครับ คือไม่ร่วม
ค่ะ
ของพลังประชารัฐล่ะครับ
(นิ่งคิด) คนที่เขากลัวในเรื่องของการรวมกับพลังประชารัฐเนี่ย
คุณอุ๊งอิ๊งรู้ว่ากลัว
ใช่ๆ ก็มีหลายคนที่ไม่สนับสนุนว่าจะให้ร่วมกับพลังประชารัฐ อย่างที่อิ๊งตอบคุณเคนไปตั้งแต่แรกเลยว่า เก้าอี้นายกฯ เป็นของเพื่อไทย แต่หลังจากนี้มันจะมีดีเทลอีก ซึ่งอิ๊งขอไม่ระบุเป็นรายพรรคแบบนี้ เพราะว่ามันจะยากมาก อิ๊งเป็นคนที่ไม่อยากพูดไปแล้วมันเกิดเหตุการณ์อะไร Last Minute ขึ้นมา แต่ให้มั่นใจว่านายกฯ มาจากเพื่อไทยแน่นอน แล้วก็เรื่องนโยบายต่างๆ ก็ต้องเป็นของเพื่อไทย นั่นคือสิ่งที่ตั้งใจไว้
เขากลัวอะไรครับ ถ้าให้คุณวิเคราะห์ดู
พลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติ แยกกันจริงไหม คนก็รู้สึกว่ายังไม่ชัดเจน อิ๊งคิดว่าเป็นเรื่องของการทำรัฐประหาร มันเป็นก้อนเดียวกัน
แล้วพรรค หรือคุณอุ๊งอิ๊งเองประเมินกันอย่างไร เรื่องของความกลัวนี้มันจะทำให้เราเสียคะแนนไหม ถ้าเกิดสมมติว่าภายหลังเราไปรวม
อิ๊งค่อนข้างมั่นใจว่าด้วยเหตุและผล ประชาชนต้องเข้าใจอยู่แล้วค่ะ ด้วยเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนะ ซึ่งอนาคตคืออะไรยังไม่ทราบเหมือนกัน พูดด้วยความสัตย์จริงว่ายังไม่ทราบเหมือนกันว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป
ถ้าสมมติอิ๊งไม่ได้นามสกุลชินวัตร แต่ยังอยู่ในพรรคเพื่อไทยนะ อิ๊งคิดว่าอาจจะต้องแนะนำตัวเองยาวขึ้น นานมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น อันนี้คือแต้มต่อของการมีนามสกุลชินวัตร
มีเหตุและผลหรือเงื่อนไขอะไรบ้างครับที่คุณจะรวม ตอบในเชิงหลักการแล้วกัน
(นิ่งคิด) อืม ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ ไม่อยากตอบแล้วเซนซิทีฟค่ะ
คุณบอกว่า นายพลผู้น้องกับนายพลผู้พี่ก็มีสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่ว่าตอนนี้เราเห็นแล้วว่าเขาแยกออกจากกัน ซึ่งแยกจริงไม่จริงเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่อย่างน้อยมันมีสมการนี้เกิดขึ้นมา ว่ามีโอกาสที่จะรวม คุณยังไม่ได้บอกว่าจะรวมหรือไม่รวม แต่นายกฯ ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งนี่ก็เป็นเงื่อนไขที่ก็ต้องไปคุยกันเพิ่มเติม
ถูกต้อง มันมีดีเทลอีกเยอะมาก
ทั้งพรรคเนี่ย โฟกัสเรื่องเดียวกันนะ คือต้องแลนด์สไลด์ คุยกับหัวหน้าพรรคก็บอกว่า “คุณอิ๊ง เราต้องแลนด์สไลด์” ทุกคนเป้าหมายนี้ และไม่มีใครมีดีลอะไรกัน ไม่ดีลกับใครเลย แล้วก็ไม่ได้คุยกับใครด้วย เพราะฉะนั้น เราเดินหน้าเรื่องนี้จริงจังมาก
แล้วจุดยืนทางการเมืองล่ะครับ ถ้าให้มองจุดยืนทางการเมืองของพลังประชารัฐ คุณมองอย่างไร
ถ้าพลังประชารัฐยังสนับสนุนรัฐประหาร ไม่ใช่แล้วค่ะ เพราะว่าพรรคเพื่อไทย คือเราไม่สนับสนุนรัฐประหารเต็มตัว
ถ้าวันนั้นเขาเปลี่ยนจุดยืน เขาไม่สนับสนุนรัฐประหาร เราก็อาจจะพูดคุยกันได้
เราพูดคุยกันได้ แต่รวมหรือเปล่าอีกเรื่อง
แสดงว่ายินดีที่จะพูดคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย
ถ้าท่านคุยเราก็คุยได้ค่ะ เราสวัสดีท่านได้อยู่แล้วแน่นอน (หัวเราะ) แต่ท่านก็ดุเหมือนกันนะคะ อาจจะแบบไม่อยากคุยเท่าไร เดี๋ยวท่านว่าเอา
ประตูเปิด พร้อมพูดคุย อย่างนั้นเหรอ
ไม่ค่ะ ก็คิดว่าของท่าน (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นส่วนที่ชัดเจน
กลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ ผมต้องถามเรื่องนี้เยอะนิดหนึ่ง เพราะว่าอย่างที่คุณบอก ความกลัวนี่แหละมันจะมีผลต่อการเข้าคูหา คุณประเมินอย่างไร กลัวไหมครับว่ามันจะทำให้คนอาจจะรู้สึกว่า พรรคเราไม่มีจุดยืน เรื่องความเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะมีเหตุผลที่จะอธิบายได้ แต่มีการประเมินความเสี่ยงของคนที่ฉันไว้ใจคุณ แต่คุณทำแบบนี้กับฉันทำไม กังวลแบบนี้ไหมครับ
อิ๊งมั่นใจว่าถ้าเราจะต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเหตุผลเราต้องชัดเจน ไม่ใช่ว่าดำน้ำไป แล้วก็เออ เอาแบบนั้นแหละ ไม่ใช่ค่ะ เมื่อกี้ที่บอกว่า No ก็คือ No ที่อิ๊งบอกว่าพรรคเพื่อไทย นายกฯ ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย อิ๊งไม่ได้เปลี่ยนจุดยืน พรรคเพื่อไทยต้องเสนอนายกฯ และนายกฯ ก็ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย นั่นคือสิ่งที่เน้นย้ำ อิ๊งคิดว่าตัวเองค่อนข้างเป็นคนที่ชัดเจนอยู่แล้วนะคะ เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็ตามในอนาคต อิ๊งก็คงจะต้องออกมาพูดอย่างชัดเจนเหมือนกัน ว่าทำไมเป็นอย่างนั้น อะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็ต้องแสดงความชัดเจนในทุกๆ เรื่อง อธิบายได้อยู่แล้ว แต่จะจับหรือเปล่าอีกเรื่องนะคะ อาจจะไม่จับนะคะ นึกออกไหม เพราะว่าเราจะจับหรือเราจะไม่จับ เราก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร
เมื่อกี้บอกว่านายกฯ ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย ผมสมมติซีนาริโออีกแล้วกัน ว่าคะแนนจะไม่ได้เยอะขนาดนั้น ไปรวมกับอะไรก็แล้วแต่ละกัน
เสียกำลังใจนะคุณเคน (หัวเราะ)
ถ้าเราชนะด้วยเสียงข้างมาก แลนด์สไลด์หรือไม่ หรือเกือบๆ แลนด์สไลด์ก็ตาม ถ้าเราชนะด้วยเสียงข้างมากที่สุดนะคะ อย่างไรนายกฯ ก็จะมาจากพรรคเพื่อไทย
อะไรก็เกิดขึ้นได้ การเมืองไทย คะแนนไม่ได้เยอะอย่างที่คิด เราก็ต้องร่วมกับหลายๆ พรรค ซึ่งอาจจะมีพรรคร่วมรัฐบาลด้วยก็ว่ากันไป แน่นอนกติกาของประเทศไทยในตอนนี้ ส.ว. ยังมีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรีอยู่ คุณคิดว่า ส.ว. จะโหวตให้พรรคเพื่อไทยเหรอครับ
ไม่คิดค่ะ (หัวเราะ) ไม่คิดว่า ส.ว. จะโหวตให้พรรคเพื่อไทย เราเลยหาเสียงแบบแลนด์สไลด์ไงคะ เพราะว่า ส.ว. เคยเลือกนายกฯ มาแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยเลย เราพูดตลอดบนเวทีตลอดว่า จะปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะ ส.ว. ไม่ได้มาจากประชาชน อะไรที่ไม่ได้มาจากประชาชน ไม่ควรที่จะได้รับสิทธิ์เหนือกว่า เราต้องให้ประชาชนมาเป็นใหญ่ของประเทศถูกไหม เพราะฉะนั้นถามว่า ส.ว. จะเลือกไหม ไม่ทราบ แล้วก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะเลือก หรือไม่รู้ ไม่แน่ใจ เราก็เลยหาเสียงแบบแลนด์สไลด์ไง เพราะว่าเขามี 250 เสียง เราถึงได้บอกว่า ขอเป้าหมาย 310 ได้ไหม เป้าหมายที่เราจะพ้นจาก ส.ว. แน่นอน เพื่อที่เสียงจากประชาชนจะได้เป็นใหญ่จริงๆ
ถ้าเกิดคะแนนมันไม่ถึง แล้วก็ต้องใช้เสียงของ ส.ว. ด้วย แล้วจะไปมั่นใจได้อย่างไรว่านายกฯ จะมาจากพรรคเพื่อไทยจริงๆ
อันนี้ก็ยากนะ พูดเลยว่ายากแน่นอนค่ะ แต่พอเราไปหาเสียงแล้วอธิบายเรื่อง ส.ว. อิ๊งว่าประชาชนรู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีความหมายขึ้น นี่คือสิ่งที่อิ๊งลงพื้นที่แล้วอิ๊งรู้สึกนะคะ ว่าบางทีเขาอาจจะกระจาย แบ่งใจ เลือกพรรคเพื่อไทย เลือก ส.ส. เขตพรรคอื่น หรือเลือก ส.ส. เขตเพื่อไทย อีกใบเลือกพรรคอื่น แต่เขารู้แล้วว่ามันเกิดผลเสียจริงๆ ถ้าเขาไม่รวมกันเป็นหนึ่งเพื่อเลือกเพื่อไทยอย่างเดียวเนี่ยมันจะยากมากๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งอิ๊งว่าหลายๆ คนที่เข้าใจประชาธิปไตยจริงๆ ก็อยากปิดสวิตช์ ส.ว. เช่นกัน
กลับมาที่เรื่องของความเป็นผู้นำนะครับ อย่างที่คุณบอกว่าพรรคเพื่อไทยมีคนเก่งๆ เยอะเลยแล้วบทบาทของคุณในพรรคคืออะไร หรือบทบาทหน้าที่ในอนาคตที่มองไว้ ทำอะไรกันแน่
ทุกวันนี้อิ๊งช่วยดูเรื่องนโยบายด้วย แต่ว่าจะมีทีมที่ลงไปศึกษาเชิงลึก แล้วก็จะดูอีกทีว่านโยบายไหนน่าจะตอบโจทย์กลุ่มไหนบ้าง อิ๊งอยู่ในทีมที่ช่วยกันดู แล้วก็อีกอย่างที่อิ๊งทำก็คือ เวลาคนประสานงานกันไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ หรือรุ่นอิ๊งเนี่ย ก็จะมานั่งโต๊ะประชุมกัน แล้วก็คุยกัน ถกกันในเรื่องที่ว่านโยบายไหนควรออก ตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะลงแคมเปญเลือกตั้งเลยนะคะ แน่นอนแหละ ในวงประชุมก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยซึ่งกันและกัน อิ๊งทำหน้าที่ตามชื่อตำแหน่งอิ๊งเลยค่ะ เป็นประธานการมีส่วนร่วม (หัวเราะ) ในนวัตกรรมนะคะ แล้วก็ประสานคนในพรรคจริงๆ อันนี้คือหน้าที่หลัก สื่อสารคนทุกกลุ่มทุกวัยด้วยความเข้าใจ เราเข้าใจคอนเซปต์ว่าพรรคอยากได้อะไร อะไรต้องเกิดขึ้น ความคิดเห็นของคนในพรรค แตกต่างหรือเหมือนกันอย่างไร นี่คือสิ่งที่ทำอยู่ แล้วก็ยังทำต่อเนื่องนะ
ใครเป็นคนเคาะครับว่าอันไหนเอาไม่เอา
แต่ละประชุมจะมีคนเคาะต่างกัน บางอันเป็นหัวหน้าพรรค บางอันเป็นประธานยุทธศาสตร์ แต่ว่าแน่นอนแหละ นั่งอยู่ในนั้น อิ๊งก็มีส่วนแสดงความคิดเห็นด้วย มีส่วนร่วมด้วย ตามชื่อตำแหน่ง
แล้วมีโอกาสได้เคาะบ้างไหมครับ
มีค่ะๆ
เป็นเสียงสุดท้ายที่เคาะหรือเปล่า
ไม่ค่ะ (ตอบทันที) แล้วแต่ประชุมนะ ประชุมไหนที่มีอิ๊งเป็นหัวหน้า อิ๊งก็เป็นเสียงสุดท้าย แต่ประชุมไหนที่อย่างเช่น มีอาจารย์ชัยเกษม (ชัยเกษม นิติสิริ) อยู่ ท่านก็จะเป็นคนเคาะ
คุณทำอย่างไรให้คนในพรรคเขาฟังคุณด้วยครับ
อย่างที่พูดตั้งแต่ต้นเลยว่า เราค่อนข้างเป็นคนที่ฟัง แล้วก็ไม่ได้ดราม่าเยอะ เอาไม่เอาก็คุยกันด้วยเหตุผล มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า ตรงๆ แล้วก็ใช้เหตุผลเลยว่าอันนี้โอเคไหม อันนั้นโอเคไหม ไม่โอเคเพราะอะไร ส่วนใหญ่มันจะมีเรื่องมาแล้วว่าจะเดินไปเวย์นี้ เอาไม่เอา แล้วโหวตกันเลยก็มี เห็นด้วยไหม อ้าว สรุปแล้วคนเห็นด้วยน้อยจัง ประชุมนี้เห็นด้วยแค่ 2 คนเองเหรอ ส่วนใหญ่มันก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่ได้มีเรื่องที่ขัดกันแบบ Completely ขัด จะเป็นเรื่องรายละเอียดมากกว่า ว่านิดหน่อยเอาอย่างไร
ถ้าในอนาคตไม่ได้ประชุมกันแค่เรื่องนโยบาย สมมติว่าคุณเป็นผู้นำ มีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประชุมจะจับมือกับใคร ต้องคุยแน่นอน ประชุมเรื่องการตัดสินใจต่างๆ ของประเทศ ถ้ามีโอกาสได้เข้ามาเป็นรัฐบาล คุณจะเป็นคนเคาะไหมครับ หรือบทบาทจะเป็นอย่างไร
อิ๊งว่าใช้คนเคาะ 1 คนไม่ได้ มันต้องใช้คนเคาะในกลุ่มหนึ่งแหละ เหมือนกรรมการบริหารใช่ไหมคะ 4-5 คน
แต่ก็ต้องมีประธานบอร์ดนะ ที่เสียงอาจจะเยอะกว่าด้วย
ใช่ๆ แต่อิ๊งค่อนข้างมั่นใจว่าในพรรคเพื่อไทยเองมันไม่ได้แตกเสียงขนาดนั้น เพราะว่าเราเจออะไรมาด้วยกันเยอะ โอเค บางคนอาจจะมีข้อ Concerned ข้อห่วงใยที่ต่างกันนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งอิ๊งคิดว่าสุดท้ายเคาะได้ค่ะ เคาะได้แน่นอน
อย่างที่บอกว่ามีคนเก่งๆ มากมายเลย แล้วหลายครั้งที่คุณพูดกับผมตอนต้น ผมเก็ตเลยนะ ว่าวงการการเมืองเนี่ยจะมีคนที่อัลฟาเต็มไปหมดเลย บางทีก็อาจจะมีอีโก้ มีประสบการณ์ มีฐานเสียงของตัวเอง ทำอย่างไรให้คนเก่งๆ ทำงานร่วมกันได้
ทุกวันนี้ใช่ไหมคะ คิดว่าเราต้องเปิดเวทีให้เขาทุกคนนะ ในการแสดงความคิดเห็น หรือว่าในการแสดงตัวตน อันนี้พรรคเพื่อไทยทำมาตลอด ในเรื่องของการเปิดเวที การให้โอกาส แล้วเราก็ Take Turn กัน ขึ้นเวทีเราก็สลับกันปราศรัย เวทีมันเยอะมาก วันหนึ่งมี 3 เวที คนนี้พูดแค่ 2 เวที สลับๆ กัน เรารู้สึกว่ามันเป็นการช่วยเหลือกันมากกว่า ในการที่ทุกคนมีข้อดีของตัวเอง แล้วมันเป็นจุดแข็ง เพราะฉะนั้นพอมันคุยกันได้ลงตัวเนี่ย เราก็ใช้ข้อดีของเขาในแต่ละที่ให้มันกระจาย อันนั้นคือสิ่งที่เราทำอยู่
คำถามคือในเชิงธุรกิจเนี่ย หลายครั้งคนที่เป็นผู้นำก็จะมีอำนาจแหละ มีไม้กายสิทธิ์ว่าจะตัดสินใจอะไร แม้ว่ายุคนี้เราเข้าใจกันว่าต้องกระจายอำนาจ ต้องให้คนได้ทำมากขึ้น Empower แต่สุดท้ายหลายๆ ครั้งมันจะมีการตัดสินใจที่ผู้นำต้องเป็นคนเคาะอยู่ดี ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จะไปอย่างไร คุณคิดว่าในพรรคเพื่อไทยตอนนี้เขามอบอำนาจนั้นให้คุณมากน้อยแค่ไหน
คิดว่าเขามอบอำนาจให้อิ๊งในการเป็นคนเคาะ ส่วนหนึ่งเลยนะคะ อิ๊งสามารถเคาะได้ ในส่วนที่เราแสดงความคิดเห็น ในพื้นที่ของเรา อันนั้นอิ๊งก็เคาะได้เลยค่ะ
ต้องมีคำปรึกษาจากใครไหมครับ
เราคุยกันในที่ประชุมอยู่แล้ว เราปรึกษากันและกัน และสุดท้ายอิ๊งเคาะ ซึ่งการเคาะของอิ๊งเนี่ย ต้องเคาะเพื่อคนทั้งพรรค อิ๊งไม่ได้เคาะเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้น อิ๊งว่าคนในพรรคสามารถรับรู้ได้ ที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของการที่สุดท้ายผู้ใหญ่เดินมาถามอิ๊ง หรือเด็กเดินมาถามอิ๊ง มีทั้งสองอย่าง เพราะอิ๊งคิดว่าในพรรคเรา Respect กันพอสมควร บางทีบางเรื่องที่อิ๊งเคาะผ่านได้เลย อิ๊งรู้สึกว่า เฮ้ย อิ๊งอยากถามคนนี้ก่อน อิ๊งก็เดินไปถามอีกที มันเป็นการให้เกียรติค่ะ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนหรือยาวนาน เพราะเราค่อนข้างใกล้ชิดกัน แล้วอิ๊งก็ได้รับความไว้วางใจจากการที่อิ๊งเป็นคนประมาณนี้แหละ เป็นคนที่คอมเมนต์ได้ และกล้าตัดสินใจ
มีแรงต้านบ้างไหมครับ ถ้าอาจจะเกิดคำถามว่าเก่งจริงหรือเปล่า มาจากไหน ลองของดูสักนิดหนึ่งไหม
คุณเคนพูดเนี่ยนะ นึกถึงตอน 25 (หัวเราะ) อิ๊งว่ามีแรงต้าน แต่ว่าตอนนี้ก็ดีขึ้นนะคะ มีอยู่แล้วค่ะ มีอยู่แล้ว เพราะว่าเราเข้ามาเนี่ย ทุกคนรักพ่อแม่เรา ถูกไหมคะ แต่กับเราเขาก็ให้เกียรติ เรามีต้นทุนแหละ นี่คือความจริงอยู่แล้วเนอะ แต่เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย บางเรื่องที่อิ๊งทำไม่ได้ หรือรู้สึกว่าไม่เก่งเรื่องนี้ อิ๊งชอบรู้สึกว่า ไม่เป็นไรเลยที่เราจะโง่ได้ อาจจะได้มาจากคุณพ่อเนอะ พ่อชอบสอนว่า “ความโง่มันต้องมาก่อนความฉลาด” เอ้อ สบายดีเนอะ ชอบเลยประโยคนี้ โง่เก่งเลย โง่บ่อย (หัวเราะ) รู้สึกว่าโง่แล้ว พอมีคนสอนเราก็ฉลาดขึ้น เราไม่ได้เป็นคนฉลาดที่สุดในห้อง แต่เราฉลาดขึ้นได้ อิ๊งรู้สึกว่าอิ๊งมี Room ตรงนั้น แล้วอาจจะเป็นน้องคนเล็กด้วยหรือเปล่าไม่ทราบเหมือนกัน ฉันก็ไม่ได้เป็นคนที่ต้อง Lead ครอบครัวหรืออะไร ฉันก็เป็น Leader ในแบบตัวฉันเอง ในสไตล์นี้ ยังเปิดรับความคิดเห็น เวลาผิดเราก็ อุ๊ย เราผิด เราขอโทษนะ เราไม่ได้แหลกสลายไปกับความที่เราผิดพลาด แค่รู้สึกว่าอะไรที่ไม่รู้เราถามได้ อะไรที่เรารู้ เราก็บอกว่าเรารู้
ความผิดพลาดที่คุณอุ๊งอิ๊งบอก อันไหนที่รุนแรงที่สุด แล้วรู้สึกว่าเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดที่สุดในการทำงานการเมือง
ในการเมืองปีหนึ่งเนี่ยเหรอ ผิดพลาดอะไรมากที่สุดเหรอคะ (นิ่งคิดนาน)
หรือกลัวว่าจะผิดพลาดในอนาคตอะไรอย่างนี้มีไหมครับ
นั่นสิ นึกไม่ออกเลยค่ะ
ยังไม่ผิดพลาดเลยเหรอครับ
ผิดพลาดคงผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ถามว่าผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ที่รู้สึกว่ามันกระแทกมาก ยังนึกไม่ออก ในการเมืองนะคะ
หรือเอาความผิดพลาดที่เป็นบทเรียนที่จำมาถึงทุกวันนี้ก็ได้ครับ อาจจะไม่ต้องรุนแรงถึงขั้นเกิดผลกระทบใหญ่ก็ได้
ก็อาจจะเป็นความพูดตรงของอิ๊ง เราพูดตรงกับเราทำร้ายใครเนี่ยมันมีเส้นบางๆ อยู่ มันมีการพูดตรงเพื่อ Deliver Message หรือพูดตรงเพื่อทำร้าย อิ๊งอยากจะเป็นคนพูดตรงเพื่อให้เมสเสจมันชัดเจน อิ๊งไม่อยากพูดตรงเพื่อทำร้ายใคร หรือถ้าทำร้ายมันต้องเป็นการติเพื่อก่อ ต้องไม่ใช่พูดเพื่อให้เขาแหลกสลาย อันนี้คือสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตลอดชีวิต เรื่องของการสื่อสาร
วันที่คุณพ่อเป็นนายกฯ มันคือวันดีๆ วันที่มีแต่เรื่องดีๆ ที่เขาเล่าให้เราฟัง อาจจะเป็นเพราะอายุเราด้วย เขาก็ไม่ได้เล่าเรื่องร้ายมากที่เขาเจอ จนกระทั่งถูกรัฐประหาร อันนั้นแหละ คือไม่ต้องเล่า เราทราบเองอยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันก็มีช่วงกราฟขึ้นกราฟลงของเรา ว่า โอ้ วันหนึ่งอยากจะเป็นเหมือนคุณพ่อนะ อีกวันหนึ่งไม่อยากเลือกเส้นทางแบบนี้เลย
ผมเคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณทักษิณอยู่เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ได้คุยกันหลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่คุยคือเรื่องนี้แหละครับ ผมก็ถามว่าความผิดพลาด หรือว่าถ้าย้อนกลับไปได้ คุณทักษิณอยากจะแก้ไขอะไรในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี คุณทักษิณบอกว่าอาจจะนอนน้อยกว่านี้ แล้วไปพูดคุยกับคนให้มากขึ้น ไปฟังคนให้มากขึ้น
อืม (อมยิ้ม ลากเสียงยาว)
ไม่แน่ใจว่าเคยปรึกษาคุณทักษิณเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่คุณพ่อทำมาตลอด เป็นนักการเมืองมาตลอด สิ่งที่คุณพ่อทำไม่เป็นคือการเล่นการเมือง (หัวเราะ) คุณพ่อพูดแบบนี้ อิ๊งถามว่าทำไม คุณพ่อบอกว่า พ่อเป็นนักธุรกิจ ก็คือมุ่งเน้นเลย โปรเจกต์มาปุ๊บ ปั๊บๆๆๆ นโยบายที่เขาเสร็จภายในปีแรก เขาทำๆๆ หนี้ IMF อะไรเขาทำๆๆ แต่เขาสนใจเรื่องคนน้อยไปหน่อย นี่คือสิ่งที่เขาพูดกับอิ๊งตั้งแต่ก่อนอิ๊งเข้าการเมืองนะ พูดมาตลอดนี่แหละ ตั้งแต่โดนรัฐประหารไป เขาพูดว่าเขาเล่นการเมืองไม่เป็น เขาบอกว่าตอนที่เขาเป็นนักการเมือง เขาเข้าหาคนไม่มากพอ แล้วก็ไม่ได้ไปแตะคนเอาไว้ เพราะว่าในการเมืองเนี่ย คนเป็นสิ่งสำคัญ เป็น Tool หนึ่งเลยที่ทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้ คุณพ่อเขาไม่ได้คิดไม่ดี เขาคิดดี เขาก็ทำ แต่เวลาทำมันข้ามสเตป ข้ามคน เหยียบเท้าคนโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาจะพูดตลอดว่านั่นคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ว่าจริงๆ แล้วอยู่ในการเมืองมานาน แต่กลับเล่นการเมืองไม่เป็น นั่นแหละค่ะ เขาบอกว่า “เนี่ย พ่อว่าพ่อมาเล่นการเมืองเป็นตอนแก่ๆ ตอนนี้แหละ” (หัวเราะ) เหมือนเพิ่งเข้าใจมันมากขึ้น
คำว่าเล่นการเมืองมันมีทั้งบวกและลบนะ แต่ในความหมายคือคุยกับคน เมื่อกี้ใช้คำว่าแตะๆ คนมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คุณอุ๊งอิ๊งคิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่เป็นเหมือนคุณพ่อ
จริงๆ อิ๊งก็มีความคล้ายคุณพ่อเยอะเหมือนกันในเรื่องนี้ แต่เรื่องคนอิ๊งจะได้มาทางฝั่งคุณแม่บ้าง
คุณแม่เล่นการเมืองเก่ง?
(หัวเราะ) คุณแม่เนี่ยจริงๆ เขาเป็นคนน่ารักกับคนค่ะ เขาเป็นคนที่ใจมากๆ เหมือนดูแลคนจริงๆ เป็นห่วงเป็นใย ถ้าคุณเคนได้รู้จักเขา ถ้าเขาได้เป็นห่วงนะ คุณเคนเกิดไม่สบายขึ้นมาเนี่ย เขาถามตั้งแต่ประวัติการรักษา ประวัติหมอ โรงพยาบาล เขาใส่ใจจริงๆ คุณแม่เป็นคนแบบนั้น ตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว
จะเอาบทเรียนเรื่องนี้ที่คุณพ่อเสียดายที่ไม่ได้ทำ แต่คุณแม่ทำมาใช้กับตัวเอง?
ใช่ เพราะเขาก็พูดเอง คุณพ่อก็พูดเองว่าคุณพ่อมุ่งที่ผลงาน ที่อยากสำเร็จในสิ่งที่ทำ เป็นภาพใหญ่ แต่ภาพเล็กไม่ได้แตะ คุณพ่อรู้สึกว่าตัวเองผิดพลาดอย่างไร เราก็ได้รับรู้ไว้ก่อนเนอะ
เท่าที่ได้ฟังว่าติดตามคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ 8 ขวบใช่ไหม เริ่มสนใจการเมือง เห็นการหาเสียง ตอนคุณพ่อเป็นนายกรัฐมนตรี ความรู้สึกตอนนั้นมันเป็นอย่างไรครับ
ตอนนั้นเนี่ย แน่นอนเนอะ เราเป็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง คุณพ่อเป็นฮีโร่ในหัวใจอยู่แล้ว เวลาเขาทำนโยบายก่อนที่จะเป็นนายกฯ ค่ะ แพสชันมันเยอะมาก พ่อจะทำอย่างนี้อย่างนั้นนะ อิ๊งเห็นเขาเรียกคนมาประชุม เด็กๆ เราก็ไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง ทุกคนก็คุยกันนี่นั่นนั่นนี่ ต้องทำอย่างนี้เพื่อประชาชน วันที่เขาได้เป็นนายกฯ อิ๊งน่าจะ 14 ปี ก็ ม.2 แล้ว รู้เรื่องอะไรแล้ว เขากลับมาเล่าให้ฟัง คนได้ประโยชน์จาก 30 บาท ถอดเสื้อให้พ่อดูรอยผ่า ตั้งแต่ข้างบนเนี่ย ถึงข้างล่างเลยนะ พ่อเขาดีใจ คนที่ใช้ 30 บาท มากราบคุณพ่อ ขอบคุณคุณพ่อ แล้วก็เขาก็พูดว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประทับใจหรือทำให้เขามีแรง คือมีคนมาบอกเขาว่า “ท่านครับ ช่วยเป็นนายกฯ ให้คนจนหน่อย” คำนั้นมันฝังใจเขามาก วันที่เขามาเล่า ตาเขามันแบบเขาคอมมิตมาก ว่าเขาจะเป็นนายกฯ ให้คนจน แน่นอนแหละ วันที่คุณพ่อเป็นนายกฯ มันคือวันดีๆ วันที่มีแต่เรื่องดีๆ ที่เขาเล่าให้เราฟัง อาจจะเป็นเพราะอายุเราด้วย เขาก็ไม่ได้เล่าเรื่องร้ายมากที่เขาเจอ จนกระทั่งถูกรัฐประหาร อันนั้นแหละ คือไม่ต้องเล่า เราทราบเองอยู่แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น มันก็มีช่วงกราฟขึ้นกราฟลงของเรา ว่า โอ้ วันหนึ่งอยากจะเป็นเหมือนคุณพ่อนะ อีกวันหนึ่งไม่อยากเลือกเส้นทางแบบนี้เลย
วันดีๆ เล่าไปแล้ว วันที่ไม่ดี เป็นอย่างไรบ้างครับ ช่วงเวลานั้นคุณอุ๊งอิ๊งรู้สึกอย่างไร
วันที่ไม่ดีก็วันที่ถูกรัฐประหารนะคะ ให้เล่าวันนั้นใช่ไหม (หัวเราะ) ช่วงเวลานั้นอิ๊งแค่รู้สึกว่าไม่มีใครได้ยินเสียงเราเลย ไม่มีใครรู้เลยว่าเราอยากจะสื่ออะไร ไม่มีใครรู้เลยว่าความตั้งใจจริงๆ ของเราคืออะไร ทำไมมันต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ซึ่งในวันนั้นโซเชียลมีเดียมันก็ไม่ทั่วถึงนะคะ ไม่เหมือนตอนนี้ที่ทุกคนสามารถชี้แจงตัวเองได้เลยทันที มันไม่เหมือนกัน อิ๊งมั่นใจว่าถ้าวันนี้เกิดเหตุการณ์แบบวันนั้น เราจะมีเวทีมากขึ้น เราจะมีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้นที่จะได้อธิบายอะไรหลายๆ อย่างที่ถูกเข้าใจผิด
ในสังคมไทย 17 ปีที่ผ่านมา หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ ในสังคมเมือง ก็ต้องพูดตามตรงว่ามีคนไม่ชอบคุณทักษิณค่อนข้างมาก ในขณะที่คุณก็เป็นคนที่อยู่ในเมืองนั่นแหละ แล้วก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างเยอะ จริงๆ ตอนนั้นมันเป็นอย่างไรครับ
ยากค่ะ ตอนนั้นมันยากมาก ตอนนั้นเราไปห้างหรือไปที่ไหน โอ้โฮ คนมองแบบร้ายๆ ตอนนั้นยังใส่ชุดนิสิตจุฬาฯ อยู่เลย คนมองไม่ดี โอ๊ย เยอะแยะค่ะ แล้วก็เพื่อนที่มหาวิทยาลัยบางกลุ่มก็โหดร้ายกับเรา ใจร้ายกับเรา อิ๊งอยู่คณะรัฐศาสตร์ด้วยแหละ มันเป็นคณะการเมืองอยู่แล้ว มีคนขึ้นป้ายต่อว่านายกฯ ตอนนั้นคุณพ่อเป็นนายกฯ อยู่ เราก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่ถ้าตัดมาเป็นภาพส่วนตัว ใจของคนเป็นลูก มันไม่ไหวหรอก มันไม่ไหวหรอกแต่มันก็ผ่านมาได้ เข้าใจด้วยหลักเหตุผล แต่ใจไม่ไหว มันแยกกัน นึกออกไหมคะ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเหตุการณ์เหล่านั้นที่ทำให้เราโตขึ้นมาอย่างมีสติ แล้วก็เข้มแข็ง ในความหมายของอิ๊งนะ อิ๊งคิดว่าอิ๊งเข้มแข็งแล้วล่ะ สิ่งที่ผ่านมา รู้สึกว่ามันโหดร้ายมากเลยในวันนั้นสำหรับเด็กอายุ 19-20 ปี โหดร้ายมากนะคะ นายกฯ เป็นคนของประชาชน นายกฯ เป็นคนสาธารณะ เราทราบด้วยหัวสมอง แต่ในหัวใจเราคือลูก เขาคือพ่อ ยาก ยากในการบาลานซ์ตรงนั้นให้ดี
เข้าใจในมุมของความรู้สึก แต่ในแง่ของความรู้ล่ะครับ ได้อ่านบ้างไหมว่าถึงเหตุผลที่ทำให้คนไม่ชื่นชอบ หรืออาจจะถึงขั้นเอ็กซ์ตรีมไปมากกว่านั้นด้วย มีการขับไล่ เวลาอ่านเหตุผลเหล่านั้น ผมย้ำว่าตัดมาเฉพาะส่วนของวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของคุณพ่อ หรือสิ่งที่คุณพ่อทำ หรือสิ่งต่างๆ มันเป็นอย่างไรครับ
แน่นอนค่ะ ตอนนั้นเนี่ย ที่เราทราบมา เป็นคนละเรื่องเลยค่ะ ก่อนที่จะโดนข้อใส่ร้ายทั้งสิ้นน่ะนะ คือเรารู้อยู่แล้วว่าคุณพ่อทำอะไรมา เราเป็นลูกคุณพ่อ คุณพ่อกลับบ้านทุกวันนะคะ รู้อยู่แล้วว่าเป็นนายกฯ ทำอะไรบ้าง นโยบายนี้ นโยบายนั้น ทำเพื่อประชาชน ทำอะไร เรารู้อยู่แล้ว แต่ว่าวันนั้นที่ออกมามันกลายเป็นทวิสต์เรื่องทุกอย่างหมดเลย ซึ่งเราก็แบบ เฮ้ย ที่ผ่านมามันไม่ใช่นี่นา แต่พอเกิดรัฐประหารปั๊บ มันกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ถึงบอกว่าเรารู้สึกไม่มีเสียงไง ไม่มีใครได้ยินเราเลยไง นั่นแหละค่ะ คือเหตุผลนี้เลย แต่ในสิ่งที่อิ๊งเป็นนะคุณเคน คืออิ๊งเชื่อมั่นในพ่อ แล้วอิ๊งไม่ใช่คนที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต อิ๊งก็มี ทุกคนมี เพราะฉะนั้นเนี่ย เราก็หาข้อมูลเช่นกัน ข้อมูลต่างประเทศ ข้อมูลในเมืองไทย เอ๊ะ ยังไง เกิดอะไรขึ้น ซึ่งแน่นอน เราก็อยากตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ถูกใส่ร้ายได้ ไม่งั้นเราจะหลับหูหลับตาแล้วบอกว่าพ่อฉันดีทุกสิ่ง อิ๊งไม่ได้พูดแบบนั้น แต่อิ๊งพูดว่า เฮ้ย สิ่งต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น มันมีเหตุและผลของมัน แต่มาทวิสต์เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือไม่ใช่เลยค่ะ
ไม่ว่าคนจะมองคุณทักษิณอย่างไร แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าคุณทักษิณมีอิทธิพลต่อประเทศไทยและต่อการเมืองไทยสูงมากๆ จนถึงวันนี้ ถูกไหมครับ
ค่ะ
เราเห็นคุณทักษิณออกมาพูดว่าอยากกลับบ้าน
(ยิ้ม พยักหน้า)
คุณก็พูดว่าในฐานะลูกก็อยากให้คุณพ่อได้กลับบ้านแหละ แต่ก็แน่นอนครับมีคนที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือเกิดความกังวลว่า เมื่อกลับมาแล้ว เหตุการณ์ความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมันจะกลับมาอีกหรือไม่ ตรงนี้คุณมองอย่างไรครับ
อิ๊งคิดว่ามันคนละเรื่องกัน การที่คุณพ่ออยากกลับบ้านเนี่ย เขาไม่ได้อยากกลับมาเป็นนายกฯ เขาคิดว่า เฮ้ย เราไม่ได้ทำผิดอะไรในอดีต คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นหลังรัฐประหารทั้งสิ้น ถูกไหมคะ เขาก็อยากจะให้กระบวนการยุติธรรมมันยุติธรรม เพื่อเขาจะได้กลับมาเล่าในส่วนของเขา เขาจะกลับมาเลี้ยงหลาน เขาจะกลับมาอยู่กับครอบครัว เขาอยากกลับมาตายที่เมืองไทย เขาพูดกับอิ๊งแบบนี้ตลอดเวลา ว่าเขาแก่แล้ว การกลับมาของเขามันไม่ได้กลับมาเพื่อจะสร้างความขัดแย้งใดๆ หรือเพื่อจะทำให้ใครขัดผลประโยชน์ แน่นอนแหละ ก่อนที่รัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างสง่างาม มันก็มีคนบางกลุ่มเหมือนกันที่ขัดผลประโยชน์ ที่เสียผลประโยชน์ อันนี้มันแน่นอน ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะทำอะไรก็มีทั้งคนได้ประโยชน์ คนเสียประโยชน์ มันเป็นเรื่องธรรมชาติเนอะ แต่วันนั้นมันไม่เหมือนวันนี้แล้ว มันจะ 20 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นเนี่ย อิ๊งคิดว่าถ้าคุณพ่อกลับมามันไม่ควรจะเกิดความขัดแย้งอะไรขึ้นแล้วค่ะ
ยืนยันไหมครับว่า การที่คุณเข้ามาการเมือง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่คุณพ่อจะได้กลับบ้าน หรือสมมตินะครับ ได้เป็นรัฐบาลจริงตลอด 4 ปี ในเชิงหน้าที่ของเราจะไม่มีการทำให้คุณพ่อได้กลับบ้าน
คุณพ่อพูดก่อนเลย ดักคอไว้เลยค่ะ พรรคเพื่อไทยและตัวอิ๊งเองไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับการกลับมาของท่าน อิ๊งเชื่อนะ เพราะอิ๊งคิดว่าเวลามันผ่านไปนานมากแล้ว และอิ๊งว่าเขามีเวย์ของเขา ซึ่งอิ๊งเคารพในส่วนที่เขาอยากจะทำอะไรก็ตาม ที่เขาจะกลับ อิ๊งไม่ทราบจริงๆ แต่ในฐานะของคนในพรรคเพื่อไทยเนี่ย ไม่ได้มีแพลนทำอะไรในเรื่องการกลับมาของคุณพ่อเลยแม้แต่นิดเดียว
ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน
ไม่มีเลยค่ะ แม้แต่นิดเดียว เหมือนยังไม่ได้คุยเรื่องพรรคร่วม ยังไงยังงั้นเลยค่ะ เรื่องดีลอะไร ไม่มีทั้งสิ้น
แล้วมีการปรึกษาเรื่องการเมืองกับคุณพ่อไหมครับ
อิ๊งปรึกษาคุณพ่อแน่นอนอยู่แล้วค่ะ แต่ปรึกษาในฐานะลูกนะ เคยไปหลายรายการก็พูดแหละว่า สมัยก่อนถ้าจะมีแฟน มีใครมาจีบก็ปรึกษาหมด (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นให้คุณพ่อเจอก่อนด้วยซ้ำ ถ้าจะตกลงคบใครนะคะ เราคุยกันทุกเรื่องอยู่แล้วค่ะ อิ๊งคุยกับคุณพ่อทุกเรื่อง แล้วก็มีคนบอกว่าคุณพ่อจะครอบงำทางความคิดนะ อิ๊งก็แอบหัวเราะนิดหนึ่งอยู่ เพราะว่าจริงๆ แล้วเป็นลูกที่ไม่ได้ถูกครอบงำได้เลย (หัวเราะ)
แล้วคุณพ่อคุยกับคนอื่นไหมในพรรค มีการปรึกษากับคนอื่นในพรรคด้วยไหม
อิ๊งคิดว่าเขาคุยกับคนในพรรคบางคนอยู่นะคะ แน่นอนความสัมพันธ์มันยาวนานนะ แต่กับอิ๊งเองก็จะคุยแค่เรื่องทำอะไร แพลนเป็นอย่างไร โปรแกรมเป็นอย่างไร อิ๊งเจออะไรมาวันนี้ นักข่าวสัมภาษณ์ อัปเดตชีวิตค่ะ เขาก็รับฟัง อ๋อเหรอ อิ๊งส่งคลิปไปให้ดู อย่างงี้อย่างงั้น เขาก็เอ็นจอยไป ไม่ได้มีอะไร
คุณในฐานะคนเป็นแม่ ซึ่งก็อยู่ในช่วงที่ใกล้คลอดมากๆ เลย (หัวเราะ) บริหารตัวเองอย่างไร เพราะส่วนใหญ่ท้องแก่แบบนี้ คุณสามีก็จะไม่ค่อยอยากให้ไปไหน คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องห่วงแน่นอน ตรงนี้บริหารอย่างไร แล้วมีความกังวลแค่ไหน
สามีรู้ว่าห้ามไม่ได้อะเนอะ เพราะเป็นกิจกรรมที่เราต้องทำ สามีใช้วิธีไปด้วยกันเลย จะเป็นลมอะไรจะได้แบกกันได้ อิ๊งโชคดีค่ะที่มีสามีที่เข้าใจ อิ๊งโชคดีที่มีครอบครัวที่เข้าใจ ถือว่าเป็นพลังสำคัญในชีวิตที่ทำให้ชีวิตทุกวันนี้ยังดีอยู่ ยังแฮปปี้อยู่ ยังมีจุดที่พักพิงใจเสมอ แต่สิ่งสำคัญที่สุดในครอบครัวคือการสื่อสาร ต้องบอก คอยเช็กตัวเอง คุณเคนเคยเป็นไหม เราไม่รู้ว่าเรารู้สึกอะไรด้วยซ้ำ เราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไรด้วยซ้ำ จนบางทีต้องให้สามีบอกว่านี่คือความเครียดนะ เครียดแล้ว คือบางทีเราไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำ แต่การที่เราเปิดเผยและคุยกันในครอบครัวมันช่วยลดช่องว่างเหล่านั้น และทำให้ครอบครัวยังแข็งแรงอยู่
สุดท้ายแล้วกันนะครับ บทบาทการเป็นลูก มีอะไรที่อยากจะสื่อสารกับคุณทักษิณ ที่ไม่เคยพูดกันในครอบครัว แต่อยากพูดออกสื่อบ้างไหมครับ ทั้งวันนี้ หรือในวันข้างหน้า ที่ไม่ว่าบทบาทในวันนั้นจะชนะ หรือจะแพ้ หรือจะอย่างไรก็ตามทีครับ
(นิ่งคิด) อืม ก็อยากขอบคุณเขาแล้วกันค่ะ ที่เป็นกำลังใจให้เสมอ ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าอิ๊งจะผิดพลาด หรืออิ๊งจะถูกต้อง เขายืนเคียงข้างอิ๊งเสมอ อิ๊งมั่นใจว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราก็คือครอบครัวเดียวกัน ยืนเคียงข้างกันเสมอ อยากจะบอกเขาว่า อิ๊งรู้สึกว่าอิ๊งเป็นลูกที่โชคดีที่สุดค่ะ