คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เสถียรภาพทางการเงินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
จอร์เจียวายังกล่าวย้ำมุมมองที่ว่า ปี 2023 จะเป็นอีกปีที่ท้าทาย โดยการเติบโตของ GDP โลกจะชะลอตัวลงเหลือต่ำกว่า 3% เนื่องจากรอยแผลเป็นจากการระบาดใหญ่ สงครามในยูเครน และการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด
อย่างไรก็ตาม ผู้นำ IMF ยังมองว่า แนวโน้มในปี 2024 จะดีขึ้น แม้การเติบโตของ GDP โลกจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 3.8% และแนวโน้มโดยรวมยังคงอ่อนแอ
ทั้งนี้ IMF ซึ่งคาดการณ์การเติบโตของ GDP โลกไว้ที่ 2.9% ในปีนี้ มีกำหนดจะออกประมาณการใหม่ในเดือนหน้า
การแสดงความคิดเห็นของจอร์เจียวาครั้งนี้เกิดขึ้นในงาน China Development Forum เมื่อวันอาทิตย์ 26 มีนาคม โดยระบุอีกว่า ผู้กำหนดนโยบายในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตอบสนองและรับมือต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินได้ ‘อย่างเด็ดขาด’ หลังจากการล่มสลายของธนาคารหลายแห่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องมีการเฝ้าระวังอยู่
จอร์เจียวาระบุว่า IMF ยังคงติดตามการพัฒนาของสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางการเงินโลก รวมทั้งได้ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับประเทศที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำและหนี้สูง
พร้อมทั้งเตือนว่า การแยกส่วนทางภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geo-Economic Fragmentation) อาจทำให้โลกแตกแยกเป็นกลุ่มคู่แข่งทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกที่เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้ทุกคนยากจนลงและมีความมั่นคงปลอดภัยน้อยลง
ผู้นำ IMF ยังกล่าวอีกว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ซึ่งถูกประเมินว่า GDP จีนจะโต 5.2% ในปีนี้จะให้ความหวังแก่เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจีนจะมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการเติบโต GDP โลกในปี 2023 ขณะเดียวกัน IMF ประเมินว่าทุกๆ การเพิ่มขึ้น GDP จีน 1% จะส่งผลให้ GDP เศรษฐกิจอื่นๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น 0.3%
จึงเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายในจีนทำงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและปรับสมดุลเศรษฐกิจ มุ่งสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคที่คงทนมากขึ้นแทนการลงทุน รวมถึงผ่านการปฏิรูปที่มุ่งเน้นตลาด เพื่อยกระดับสนามแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ
“การปฏิรูปดังกล่าวสามารถเพิ่ม GDP ที่แท้จริงได้มากถึง 2.5% ภายในปี 2027 และประมาณ 18% ภายในปี 2037” จอร์เจียวากล่าว
นอกจากนี้การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจของจีนจะช่วยให้ปักกิ่งบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศด้วย เนื่องจากการเปลี่ยนไปใช้การเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยการบริโภคจะทำให้ความต้องการพลังงานลดลง ลดการปล่อยมลพิษ และลดแรงกดดันด้านความมั่นคงด้านพลังงาน
โดยการทำเช่นนี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 15% ในอีก 30 ปีข้างหน้า ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกลดลง 4.5% ในช่วงเวลาดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: