ธนาคารกสิกรไทย เผยยอดผู้ใช้งานแอป K PLUS ปี 2565 พุ่งก้าวกระโดด 2 ล้านราย ขณะที่ปริมาณธุรกรรมโต 53% แตะ 10 ล้านล้านบาท แซงหน้าทุกช่องทาง เตรียมทุ่มงบ 2.2 หมื่นล้านบาทลงทุนด้านเทคโนโลยี
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปี 2565 มีคนจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนสมัครใช้งานแอปพลิเคชัน K PLUS โดยในจำนวนนี้มีมากกว่า 1 ล้านคนเป็นผู้ที่เพิ่งใช้บริการธนาคารเป็นครั้งแรก โดยปัจจุบันธุรกรรมของธนาคารกสิกรไทย เป็นธุรกรรมที่ทำผ่านระบบออนไลน์ถึง 98%
ขัตติยากล่าวว่า ผลจากการเติบโตของธุรกรรมออนไลน์ดังกล่าว ทำให้ธนาคารสร้างสถิติใหม่ โดยเป็นครั้งแรกที่ยอดเงินโอนผ่าน K PLUS มากกว่ายอดเงินโอนผ่านช่องทางอื่นๆ ทั้งหมดของธนาคารรวมกัน ทั้งการทำธุรกรรมที่สาขาธนาคาร เครื่องทำรายการอิเล็กทรอนิกส์ และตัวแทนธนาคาร
“ด้วยเทคโนโลยีของเรา ทำให้คนจำนวนมากขึ้นได้รับประโยชน์จากบริการของธนาคาร ในแต่ละชั่วโมงมีจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 1 ล้านรายการต่อชั่วโมง นอกจากนั้น ยอดเงินที่เป็นการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมียอดเงินสูงเกือบ 10 ล้านล้านบาทในปี 2565” ขัตติยากล่าว
ขัตติยากล่าวว่า ความนิยมที่เพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารต้องให้ความสำคัญกับการดูแลระบบให้มีเสถียรภาพสูง นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการใช้บริการ K PLUS โดยนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการป้องกันและตรวจจับธุรกรรมที่ผิดปกติ ควบคู่ไปกับการใช้งานที่สะดวกและเหมาะสมกับลูกค้าทุกกลุ่ม
สำหรับความร่วมมือกับ LINE เพื่อให้บริการธนาคารผ่านทางโซเชียลมีเดียในปีที่ผ่านมา มีการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 1,400,000 ราย และ ณ สิ้นปี 2565 มียอดสินเชื่อปล่อยกู้ผ่าน LINE BK กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท โดยจำนวนมากเป็นการให้กู้ยืมแก่ลูกค้าที่ไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีเงินเดือนประจำ เช่น คนทำงานอิสระ และผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยอื่นๆ
“เนื่องจากคนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้มักจะไม่มีรายได้ประจำหรือไม่มีสลิปเงินเดือน จึงทำให้พวกเขามีความยากลำบากในการได้รับอนุมัติเงินกู้จากธนาคาร เพื่อที่จะเอามาช่วยเหลือตัวเองในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่มาเป็นครั้งเป็นคราว และบ่อยครั้งก็ทำให้เขาต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบ” ขัตติยากล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว ธนาคารกสิกรไทยได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ที่เรียกว่าการผสานความเป็น ‘ชาเลนเจอร์แบงก์’ เข้ามาในองค์กร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขยายการเข้าถึงเงินกู้และบริการต่างๆ ของธนาคารให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคารหรือเข้าถึงได้ยาก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 30 ล้านคน
ภายใต้โครงการดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยได้จัดสรรงบประมาณ 22,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีในช่วงปี 2565-2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดีเดย์ มิ.ย. นี้ ผู้ใช้งาน Mobile Banking ต้องสแกนใบหน้ายืนยันตัวตน กรณีโอนเงินมากกว่า 50,000 บาทต่อรายการ
- ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) โอกาสหรือความเสี่ยงสำหรับนักลงทุน
- Banking for Net Zero: ธนาคารกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจไร้คาร์บอน