สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า บรรดาหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินการธนาคารหลายแห่งทั่วภูมิภาคเอเชีย พร้อมใจออกแถลงการณ์ยืนยันความแข็งแกร่งของระบบการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่บรรดานักลงทุนและผู้ถือหุ้น โดยย้ำว่า ระบบธนาคารของพวกตนยังคงแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ หลังจากที่ UBS ธนาคารยักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์ ตกลงที่จะซื้อ Credit Suisse ด้วยมูลค่า 3.25 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA) กล่าวว่า ภาคการธนาคารของฮ่องกงมีความยืดหยุ่นด้วยเงินทุนและสถานะสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง การดำเนินงานของ Credit Suisse รวมถึงสาขาและบริการเทรดของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการในฮ่องกงยังคงดีอยู่และไม่ได้รับผลกระทบ
แถลงการณ์ของ HKMA ระบุว่า สาขาทั้งหมดของ Credit Suisse เปิดทำการในวันจันทร์ที่ 20 มีนาคม ตามปกติ ลูกค้าสามารถเข้าถึงเงินฝากของพวกเขากับสาขาและบริการซื้อ-ขายที่ Credit Suisse ให้บริการสำหรับตลาดหุ้นและอนุพันธ์ของฮ่องกงได้ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ธปท. เกาะติดปัญหาสถาบันการเงินโลกใกล้ชิด ยันกระทบไทยจำกัด ธุรกรรมแบงก์และกองทุนต่างๆ เชื่อมโยงกลุ่มธนาคารที่มีปัญหาน้อย
- UBS ปิดดีลเทกโอเวอร์ Credit Suisse ควัก 3 พันล้านฟรังก์สวิส หวังคลายแรงกดดันตลาด
- บทเรียนจาก Credit Suisse ‘เมื่อความเชื่อมั่นสูญสิ้น ประวัติศาสตร์ 167 ปีต้อง (เกือบ) สิ้นสุด’
- ซีอีโอ UBS สั่งห้ามพนักงานแชร์ข้อมูลธุรกิจกับ Credit Suisse จนกว่า
ดีลควบรวมจะสมบูรณ์ แย้มเตรียมเลิกจ้างครั้งใหญ่เพื่อลดต้นทุน
แถลงการณ์ยังเปิดเผยอีกว่า สินทรัพย์รวมของ Credit Suisse สาขาฮ่องกง มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง ซึ่งคิดเป็นน้อยกว่า 0.5% ของสินทรัพย์รวมของภาคธนาคารฮ่องกง ความเสี่ยงของภาคธนาคารในประเทศต่อ Credit Suisse นั้นไม่มีนัยสำคัญ
ด้านธนาคารกลางสิงคโปร์ออกแถลงการณ์เช่นกันว่า การดำเนินงานของ Credit Suisse ในสิงคโปร์จะดำเนินต่อไปโดยไม่มีการหยุดชะงักหรือข้อจำกัดใดๆ โดยลูกค้าของ Credit Suisse จะยังสามารถเข้าถึงบัญชีของตนได้อย่างเต็มที่ และสัญญากับคู่สัญญายังคงมีผลบังคับ คาดว่าการเทกโอเวอร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบธนาคารของสิงคโปร์
แถลงการณ์ของธนาคารกลางสิงคโปร์ย้ำว่า UBS และ Credit Suisse ไม่ได้ให้บริการลูกค้ารายย่อยในสิงคโปร์ โดยกิจกรรมหลักของธนาคารทั้งสองแห่งในสิงคโปร์คือภาคธนาคารเอกชนและวาณิชธนกิจ อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสิงคโปร์จะยังคงติดตามสถานการณ์กับหน่วยงานกำกับดูแลของสวิส, UBS และ Credit Suisse อย่างใกล้ชิด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนแปลงหลังการเทกโอเวอร์ให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ รวมถึงจัดการกับผลกระทบใดๆ ต่อการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง
ส่วนญี่ปุ่น แม้จะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ แต่นักวิเคราะห์หลายสำนัก รวมถึง ไซรัส ดารูวาลา กรรมการผู้จัดการของ IDC Financial Services กล่าวว่า ระบบธนาคารของญี่ปุ่นไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดๆ จากการเทกโอเวอร์ครั้งนี้ โดยชี้ว่า การเปิดรับผู้จัดการความมั่งคั่งขนาดใหญ่หรือผู้จัดการสินทรัพย์อย่าง Credit Suisse หรือ UBS โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 4% ของพอร์ตโฟลิโอของธนาคารในญี่ปุ่น
ขณะที่ คริสโตเฟอร์ เคนต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ออกโรงเน้นย้ำว่า ระบบธนาคารของประเทศออสเตรเลียยังมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าทั่วโลกจะเกิดความตื่นตระหนกจากความล้มเหลวของระบบธนาคารในสหรัฐฯ โดยความผันผวนในตลาดการเงินของออสเตรเลียได้เพิ่มขึ้นบ้างจากกรณีดังกล่าว แต่ตลาดยังคงดำเนินต่อไป และที่สำคัญที่สุดคือ ธนาคารของออสเตรเลียมีความแข็งแกร่งอย่างไม่ต้องสงสัย
เคนต์กล่าวอีกว่า ธนาคารต่างๆ ในออสเตรเลียมีความก้าวหน้าในแผนการออกพันธบัตรสำหรับปีนี้เป็นอย่างดีแล้ว แต่อาจต้องเลื่อนการออกไปอีกสักระยะหนึ่ง และแม้ตลาดจะยังคงตึงเครียด แต่การออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้ของธนาคารในออสเตรเลียจะยังคงได้รับประโยชน์จากความแข็งแกร่งของงบดุล
ทั้งนี้ เมื่อมองในภาพรวมแล้ว ดารูวาลาแห่ง IDC กล่าวว่า ธนาคารในภูมิภาคเอเชียมีโอกาสได้รับความเสี่ยงจาก Credit Suisse ‘น้อยมาก’ และโดยรวมแล้วไม่คิดว่ากรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในเอเชียอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
อ้างอิง: