×

‘ผยง’ แนะต้องปลดล็อก 4 ปัญหา พลิกขีดความสามารถไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน พร้อมเชิญชวนให้ทุกฝ่ายร่วมมือแก้ปัญหา

โดย THE STANDARD TEAM
23.11.2023
  • LOADING...
ผยง ศรีวณิช

ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองแนวโน้มในอนาคต ปัญหาต่างๆ จะยิ่งซับซ้อนในยุค Never Normal ต่างจากยุค New Normal ไทยต้องเตรียมพร้อมอยู่กับความเปลี่ยนแปลง

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 ในหัวข้อ ‘Reshaping Country Competitiveness Towards Sustainable Growth พลิกขีดความสามารถไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน’ ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 3/66 เติบโตเพียง 1.5% ขณะที่คาดว่าทั้งปีจะโตได้ราว 2.5% และเมื่อมองย้อนไปในอดีตพบว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง GDP ไทยโตไม่ถึง 2% โดยมองว่าต้องพิจารณาตัวชี้วัดมิติอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ซึ่งก็จะพบว่ายังมีช่องว่างกับคำว่า Sustainable Growth

 

เนื่องจากปัญหาประการแรกคือ ความสามารถการแข่งขันของไทยต่ำกว่าคู่เปรียบเทียบ โดย IMD จัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันไทยปี 2566 อยู่ที่อันดับ 30 ต่ำกว่าสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีอันดับสูงสุดในอาเซียน แม้ไทยจะยังอยู่ในอันดับสูงกว่าอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคืออินโดนีเซียมีพัฒนาการดีที่ขึ้นถึง 10 อันดับ จากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 44 ในปีก่อน มาอยู่ที่อันดับ 34

 

อีกมิติคือ Sustainable Trade Index หรือดัชนีการค้าอย่างยั่งยืนใน 30 ประเทศ โดย Hinrich Foundation และ IMD ที่ครอบคลุม 3 ด้านคือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าไทยอยู่อันดับที่ 17 ยังเป็นรองประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย 

 

ประการที่สองคือความเหลื่อมล้ำสูงของไทย ส่งผลให้มีปัญหาสังคมตามมา โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งสูง Credit Suisse ประเมินว่า คนไทยที่รวยที่สุด 1% ของประเทศ ถือทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนรายได้น้อยที่สุด 20% แรกของประเทศมากถึง 2,500 เท่า สอดคล้องกับข้อมูลเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ ล่าสุด ณ เดือนกันยายนปีนี้ที่พบว่า 89% ของบัญชีเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดามียอดเงินฝากไม่ถึง 50,000 บาท และมีเพียง 2% ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท 

 

ประการที่สามคือเศรษฐกิจนอกระบบใหญ่มาก ส่งผลให้ภาครัฐมีปัญหาจัดเก็บภาษีได้ไม่พอ ทำให้มีสวัสดิการเพิ่มขึ้น เพราะไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่มีผู้ที่อยู่ในฐานระบบภาษีน้อย จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 10-11 ล้านคน และมีผู้ที่มีภาระภาษีต้องจ่ายราว 4 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ภาครัฐมีฐานรายได้ที่แคบและไม่เพียงพอต่อการรองรับรายจ่ายสวัสดิการที่จะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยในปี 2573 จะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 15.3 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 21% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จากปี 2565 ที่คิดเป็นเพียง 15% หรือ 10.9 ล้านคนเท่านั้น

 

เนื่องจากมีแรงงานเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ในปี 2565 มีแรงงานนอกระบบราว 20 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 51% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นกลุ่มที่มีผลิตภาพแรงงานต่ำ มีความเปราะบางจากการขาดความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่ภาครัฐขาดข้อมูล ทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายที่จำเป็นได้ ซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นอุปสรรคในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเศรษฐกิจนอกระบบของไทยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 47.6% ของ GDP สูงกว่าหลายประเทศในเอเชีย ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ ซึ่งมีสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบต่อ GDP ที่ราว 14-38% 

 

ประการที่สี่คือปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตไม่ดี เพราะมีรายได้ไม่พอจ่าย โดยสถานการณ์หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 90.7% เพิ่มขึ้นจาก 76% เมื่อ 10 ปีก่อน 

 

นอกจากนี้ หนี้นอกระบบคิดเป็นสัดส่วนราว 19.8% ของหนี้ครัวเรือนจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเมื่อรวมกับข้อมูลหนี้ในระบบจากฐานข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดที่อยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท ทำให้สามารถอนุมานได้ว่ามีมูลค่าหนี้นอกระบบราว 3.97 ล้านล้านบาท ซึ่งแปลว่าหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจสูงถึง 110% อีกทั้งจากที่ไทยมีเศรษฐกิจนอกระบบสูงมาก จึงมีความเปราะบางสูงมากกว่าเกาหลีใต้ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 101.5% ใกล้เคียงกับไทย

 

โดยหากทุกภาคส่วนเห็นและตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พลิกขีดความสามารถของประเทศ เพื่อปิด Gap และ Reshape ประเทศสู่ Sustainable Growth โดยส่วนตัวการแก้ปัญหาเชื่อว่าต้องเริ่มจากความเข้าใจที่แท้จริง ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ดีพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยข้อมูล เป็น Data Driven Economy และต้องเปิดกว้าง โปร่งใส เชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้ได้ผลเป็นการ Open and Inclusive Discussion และ Decision ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น Guiding Principle ของในการแก้ปัญหา

 

อีกด้านคือพลังของ AI ที่เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับข้อมูลเป็น New S-Curve ที่มี Multiplier Effect สูง หากเปรียบ Data is the new oil การที่ไทยสามารถ Capture Potential ของ AI & Data ได้จริง เช่น ChatGPT มีหลากหลาย Use Case ที่มี Potential ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ Skill Gap จากทุนเดิมที่ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น

 

AI จะเข้ามาเพิ่ม Productivity และ Add Value อย่างก้าวกระโดด ดังเช่นที่ McKinsey ประเมินว่า Generative AI จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโลกปีละ 2.6-4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ผลการศึกษาของ Harvard Business School ซึ่งติดตามผลกระทบของการใช้ Generative AI ต่อพนักงานของ Boston Consulting Group (BCG) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลุ่ม Highly Skilled Worker อยู่แล้ว พบว่าพนักงานที่ใช้ GPT-4 ของ OpenAI จะมีประสิทธิผลของงานมากกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่ไม่ได้ใช้ GPT โดยสามารถทำงานได้เร็วขึ้น 25% ทำงานได้มากขึ้น 12% และมีคุณภาพของงานสูงกว่างานอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ GPT ถึง 40% 

 

อย่างไรก็ดี มองผลการศึกษาของ Harvard เป็นเหรียญอีกด้าน ก็คือการยืนยันว่า AI จะกระทบต่อภาวะการทำงานได้ทุกตำแหน่ง ทุกระดับ Skill ดังเช่นที่ Accenture ประเมินว่าประมาณ 40% ของชั่วโมงทำงานทั้งหมดอาจได้รับผลกระทบจาก AI 

 

ดังนั้นจะเห็นตัวอย่างของการนำพลังของข้อมูลมาแก้ปัญหาประเทศ และพัฒนาการของเทคโนโลยีที่สามารถเข้ามาเติมเต็มและปิด Gap ในสิ่งที่เราไม่สามารถทำได้ในอดีต การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน เราอยู่ในยุคของ Open Technology ที่ทุกคนสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้พร้อมๆ กันทั่วโลก ซึ่งควรมอง Thailand as consumer of technology ที่สามารถประสบความสำเร็จได้ โดยสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเดินไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์

 

นอกจากนี้ แนวโน้มในอนาคต ปัญหาต่างๆ จะยิ่งซับซ้อนในยุค Never Normal ซึ่งแตกต่างจาก New Normal โดยต้องเตรียมพร้อมอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ซึ่ง Gartner Conference ปีนี้ได้ขยายความว่า Never Normal จะมี 4 ลักษณะองค์ประกอบ คือ

 

  1. Non-linear หมายถึงโลกที่ไม่เป็นเส้นตรงแบบที่เราคาดการณ์ตามตรรกะเดิมๆ ได้
  2. Ultra Speed หมายถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าในอดีตมาก
  3. Hyper Connected หมายถึงโลกที่ข้อมูลทุกอย่างเชื่อมโยงกันสูงและรอบทิศทาง
  4. Super Fluid หมายถึงโลกแห่ง Agile และมีการปรับรูปแบบอยู่ตลอดเวลา

 

ดังนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ จึงต้องตรงจุดและตอบโจทย์อย่างมาก หรือเรียกได้ว่า We have to do it right ให้มากขึ้น โดยมองว่ามี 3 องค์ประกอบของยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริง

 

ข้อแรกคือต้องมี Right Infrastructure 

 

ข้อสองคือต้องมี Right Operating Environment โดยภาครัฐต้องเป็นหอประภาคาร หรือ Lighthouse ในการนำทาง 

 

ข้อสามคือต้องมี Right Decision & Bold Execution ในการวางรากฐานที่จำเป็นในทุกมิติ เพื่อที่จะ Unlock Value ให้กับประเทศ 

 

“Future Ready Thailand เป็นเป้าหมายสำคัญของประเทศใน 10 ปีข้างหน้า ต้องเรียนรู้จาก 10 ปีที่ผ่านมาถึงพลวัตของเศรษฐกิจ การเมือง และประชาสังคม ทั้งในและต่างประเทศที่ทำให้ประเทศอยู่ในจุดนี้ที่ยังมี Gap กับสิ่งที่เรียกว่าการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งพลวัตเหล่านี้ภายใต้โลกข้างหน้าที่ Never Normal จะยิ่งเป็นความท้าทายที่มากกว่าเดิม”

 

ทั้งนี้ มองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยจะต้องมา Focus on execution โดยมองว่าตอนนี้เป็น Good Moment ซึ่งปัจจุบันอยู่ใน Revolutionary Moment ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยทลายกำแพง เรียกว่าเป็น Once in a lifetime opportunity ก็ว่าได้ หลังไทยมีรัฐบาลใหม่ที่ต้องการเข้ามา Reform และสร้างความเปลี่ยนแปลง รัฐบาลสามารถนำความต้องการหรือ Wish list ของแต่ละหน่วยงานมา Revalidate เพื่อให้เกิด Alignment และตอบโจทย์ Strategic Objective จึงต้องมีนโยบายรัฐนำทางให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งตั้งอยู่บนความเข้าใจที่แท้จริง ตั้งอยู่บนข้อมูลที่ดีพอที่จะนำไปสู่การตัดสินใจ และต้องเปิดกว้าง โปร่งใส เชิญชวนให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเชื่อว่าจะได้ผลเป็น Open & Inclusive Decision และ Bold Execution พลิกประเทศให้เข้าสู่เส้นทางการเติบโตที่ยั่งยืนได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising