ไม่กี่วันที่ผ่านมาบนหน้าข่าวบันเทิงเมืองไทยมีกระแสข่าวหนึ่งที่ดังขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องของภาพยนตร์ดังในวันวาน ที่หนึ่งในพระเอกของเรื่องได้ออกมาเปิดเผยเบื้องหลังการถ่ายทำว่ามีฉากที่ต้อง ‘เข้าด้ายเข้าเข็ม’ กับนางเอกสาวสวย โดยที่ไม่มีใครบอกว่าจะเล่นได้แค่ไหน ผู้กำกับก็ดูปล่อยไหลจึงพยายาม ‘เล่นนอกบท’
ปรากฏว่านางเอกสาวมีการขัดขืนเพราะไม่รู้ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร สุดท้ายแล้วหลังจบการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งคู่ก็ไม่เคยติดต่อพูดคุยกันอีกเลยเป็นระยะเวลาร่วม 20 ปี
เรื่องนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงด้านที่แสงไฟส่องไปไม่ถึงในการถ่ายทำภาพยนตร์หรือละคร ที่หากมีฉากที่ต้องเข้าด้ายเข้าเข็มกันระหว่างตัวละคร บ่อยครั้งที่นักแสดงจะตกอยู่ในสภาวะจำยอมโดยไม่เต็มใจ เพราะด้วยหน้าที่ที่ต้องถ่ายให้เสร็จ อีกทั้งเป็นงานที่มีผู้คนเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก บางครั้งก็ต้องปล่อยเลยตามเลย
ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นปัญหาของวงการภาพยนตร์มาโดยตลอด และเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจหากคิดถึงว่าในการสร้างภาพยนตร์หนึ่งเรื่องนั้นมีคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ตั้งแต่ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับ นักเขียนบท ผู้กำกับภาพ ฝ่ายตัดต่อ ฝ่ายออกแบบงานสร้าง แต่กลับไม่มีคนที่ทำหน้าที่ในการดูแลการเข้าฉากเลิฟซีนโดยเฉพาะมาก่อน
เพียงแต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในวงการภาพยนตร์ระดับโลกนั้นได้เกิดตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องของฉากเลิฟซีนโดยเฉพาะ โดยเรียกตำแหน่งนี้ว่า ‘Intimacy Coordinator’ หรือจะเรียก ‘Intimacy Director’ ก็แล้วแต่
โดย Intimacy Coordinator นั้นมีบทบาทหน้าที่โดยตรงในการดูแลกำกับฉากที่นักแสดงต้องมีการเปลือยกาย เปิดเผยเรือนร่าง ไปจนถึงฉากมีอะไรกัน ซึ่งเป็นเรื่องอีหลักอีเหลื่อที่ต่อให้เป็นนักแสดงดังแค่ไหนเรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะพูดออกมา ในขณะที่ผู้กำกับเองก็สื่อสารลำบากว่าฉากที่ถ่ายทำกันนั้นมันได้ตามภาพในหัวหรือไม่ มันจืดชืดเกินไป หรือมันเร้าเกินไปจนดูปลอม
Intimacy Coordinator จึงเป็นเหมือน ‘สื่อกลาง’ ระหว่างนักแสดง ซึ่งต้องการความปลอดภัยและความอุ่นใจในการแสดง และผู้กำกับที่ต้องการงานภาพให้ออกมาดีที่สุดและเป็นศิลปะมากกว่าอนาจาร และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ Consent ที่จะไม่ทำให้ใครต้องถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ
หนึ่งใน Intimacy Coordinator ในวงการที่เริ่มงานนี้มาตั้งแต่แรกคือ เจสสิกา สไตน์ร็อก (Jessica Steinrock) ที่รู้และเข้าใจเรื่องอึดอัดนี้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นอย่างดีเพราะเคยมีประสบการณ์ตรงมาก่อน เปิดเผยว่า ตำแหน่งใหม่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการบันเทิงเพิ่งจะเริ่มได้รับความสนใจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่เกิดปรากฏการณ์ #MeToo ที่ผู้คนมากมายออกมาเปิดเผยถึงประสบการณ์เลวร้ายที่เคยถูกล่วงละเมิดโดยไม่เต็มใจ
“มีที่ทำงานหลายแห่งที่ตื่นเต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของงานนี้ มันแสดงให้เห็นว่าบริษัทเหล่านี้ห่วงใยนักแสดงของพวกเขาและห่วงใยในเรื่องของการยินยอม” สไตน์ร็อก ซึ่งทำงานในโปรเจกต์ใหญ่อย่างเรื่อง Yellowjackets, Never Have I Ever ทาง Netflix และ Little Fires Everywhere มินิซีรีส์ทาง Hulu
ขณะที่ วาลเลรี โรบินสัน (Valleri Robinson) อาจารย์ที่ปรึกษาของสไตน์ร็อกในระหว่างการเรียนปริญญาโทบอกว่า “พวกเขาต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สะดวกใจ หรือแม้แต่จุดที่เริ่มได้รับการคุกคามเพราะวัฒนธรรมของวงการคือ ‘ได้…’”
แต่จากนี้วัฒนธรรมดังกล่าวจะเปลี่ยนไปเพราะ Intimacy Coordinator จะเป็นคนคอยกำกับดูแลไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่นักแสดงไม่เต็มใจอีก และนอกจากจะเป็นคนช่วยปกป้องไม่ให้เกิดการเล่นนอกบทเกินกว่าที่ตกลงแล้ว ยังเป็นคนที่สามารถสื่อสารกับทั้งผู้กำกับและนักแสดง และนักแสดงกับนักแสดงเองที่คราวนี้ไม่ต้องมาตกลงกันเองหลังกล้องแล้วว่าเล่นได้แค่ไหน เพื่อให้การถ่ายทำเป็นไปอย่างราบรื่นและออกมาสวยงามที่สุดด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการแก้ Pain Point ของการเล่นฉากเข้าด้ายเข้าเข็มของนักแสดงที่ไม่มีใครหรอกที่อยากจะ ‘เปลืองตัว’ ไม่เฉพาะนักแสดงหญิง แต่รวมถึงนักแสดงชายหรือนักแสดง LGBTQIAN+ ก็ตาม แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายในการจะรักษาสมดุลระหว่างการเซฟนักแสดงกับการถ่ายทำให้ดี ซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ของ Intimacy Coordinator ที่จะช่วยหาตรงกลางให้
ปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ มีการจ้างตำแหน่งงานนี้เพิ่มขึ้นมากมาย โดยเฉพาะค่ายใหญ่อย่าง HBO ที่มีการจ้างตำแหน่งนี้ในทุกโปรเจกต์ที่จะมีฉากเลิฟซีนร่วมด้วยตั้งแต่ปี 2019 และเป็นเทรนด์ในหมู่ค่ายหนังตะวันตกที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งสำหรับในบ้านเราแม้จะไม่ได้มีภาพยนตร์ที่มีฉากเร่าร้อนอะไรมากมายขนาดนั้น และส่วนใหญ่เชื่อว่าจะมีการเซฟนักแสดงดีอยู่แล้ว แต่หากจะหยิบประเด็นตำแหน่งนี้มาพูดคุยกันก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
เพราะไม่มีใครควรจะถูกฝืนใจหรือล่วงเกินใครโดยไม่ตั้งใจทั้งนั้นจริงไหม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- งานแบบนี้ก็มีด้วย? 20 อาชีพสุดแปลกรายได้ดีจากทั่วโลกที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน
- ผลวิจัย AWS ชี้ทักษะดิจิทัลขั้นสูงช่วยเพิ่มค่าแรงได้ถึง 65% ฟากเศรษฐกิจเอเชียอาจได้มูลค่าเพิ่ม 4.7 ล้านล้านดอลลาร์
- 10 เทคนิค Prioritizing จัดอันดับความสำคัญให้กับชีวิต งาน และเวลาว่าง
อ้างอิง: