เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ขึ้นกล่าวแถลงการณ์รอบครึ่งปีว่าด้วยนโยบายการเงินและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) โดยพาวเวลล์ยอมรับว่า Fed อาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่เจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง
พาวเวลล์ย้ำว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ทั้งๆ ที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง บ่งชี้ได้ว่า Fed ยังคงมีพื้นที่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายของ Fed มีโอกาสจะสูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้
นอกจากนี้ หากข้อมูลทางเศรษฐกิจบ่งชี้ให้ Fed สามารถคุมเข้มนโยบายการเงินให้เร็วขึ้น Fed ก็จะเพิ่มความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
พาวเวลล์ระบุว่า ขณะนี้ยังคงเร็วเกินไปที่จะวางใจในเรื่องภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าเงินเฟ้อจะส่งสัญญาณชะลอตัวลง หลังจากพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบกว่า 40 ปีก็ตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงถือว่าสูงกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายของ Fed ซึ่งอยู่ที่ 2% ทำให้ Fed ยังคงจำเป็นต้องคุมเข้มนโยบายการเงินต่อไปอีกสักระยะ ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลกในการที่ Fed จะเดินหน้าปรับลดเงินเฟ้อ
บรรดานักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่าถ้อยแถลงของ Fed สื่อความหมายสองนัยด้วยกัน หนึ่งคือ อัตราดอกเบี้ยสูงสุดมีแนวโน้มจะสูงกว่าที่ Fed คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า และสองคือ การลดอัตราปรับลดดอกเบี้ย 0.25% เมื่อเดือนที่แล้วเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ซึ่ง Fed มีสิทธิ์จะเพิ่มสัดส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มากขึ้น หากว่าข้อมูลเงินเฟ้อยังคงร้อนแรง
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว 8 ครั้ง โดยงวดล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ Fed ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ 0.25% หลังจากปรับขึ้น 0.50% ในเดือนธันวาคม และปรับขึ้น 0.75% ติดต่อกัน 4 ครั้งในการประชุม Fed ก่อนหน้า
รายงานระบุว่า หลายฝ่ายจับตารอดูท่าทีของพาวเวลล์ต่อ โดยประธาน Fed มีกำหนดจะขึ้นแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (8 มีนาคม) ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งรอดูรายงานการจ้างงานในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 10 มีนาคมนี้
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของพาวเวลล์ได้รับการจับตามองจากหลายฝ่าย เพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของ Fed ก่อนที่ Fed จะจัดการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินระหว่างวันที่ 21-22 มีนาคมนี้ โดยก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า Fed น่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% แต่ขณะนี้หลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสที่ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% ในการประชุมที่จะมีขึ้น อิงจากความเห็นของประธาน Fed ล่าสุด
ทั้งนี้ ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนธันวาคมปี 2022 เจ้าหน้าที่ Fed คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยขั้นสุดท้ายไว้ที่ระดับ 5.1% แต่นักลงทุนคาดการณ์ว่าจะสูงกว่านั้น โดยอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50%
อย่างไรก็ตาม แม้จะยอมรับว่าอาจจะต้องขึ้นอัตรดอกเบี้ย แต่พาวเวลล์ไม่ได้ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับสูงสุดที่ระดับใด และย้ำว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะขึ้นอยู่กับการประชุมในแต่ละครั้ง รวมทั้งข้อมูลที่ Fed ได้รับ โดย Fed จะพิจารณาถึงผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่จะมีต่อเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ Fed จะไม่มีการกำหนดล่วงหน้าสำหรับทิศทางนโยบายการเงิน
ขณะเดียวกันท่าทีของพาวเวลล์ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัว จนทำให้นักลงทุนแห่เทขายหุ้นในตลาดวอลล์สตรีทเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) โดยดัชนี Dow Jones Industrial Average (DJI) ปรับตัวลดลง 574.98 จุด หรือ 1.72% ปิดที่ 32,856.46 จุด, ดัชนี S&P 500 ลดลง 62.05 จุด หรือ 1.53% ปิดที่ 3,986.37 จุด และดัชนี NASDAQ ลดลง 145.40 จุด หรือ 1.25% ปิดที่ 11,530.33 จุด
นอกจากนี้ ความเห็นของพาวเวลล์ยังทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 5% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มีนาคม) ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี แตะระดับสูงสุดที่ 5.015%
ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 4% มาอยู่ที่ 3.97%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความมั่งคั่งจากหุ้นของชาวอเมริกันหายไปกว่า 9 ล้านล้านดอลลาร์ จากที่เคยเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหลังวิกฤตโควิด
- ตามคาด ‘Fed’ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้นต่อ หวังคุมเงินเฟ้อให้อยู่หมัด
- นักวิเคราะห์ชี้พิษนโยบาย Fed เป็นเหตุทำตลาดหุ้นทั่วโลกปั่นป่วน
อ้างอิง: