Alameda Research บริษัทลูกของ FTX อดีตเว็บเทรดคริปโตเคอร์เรนซีชั้นนำที่ล้มละลาย กำลังฟ้องร้อง Grayscale กองทุนทรัสต์ Bitcoin ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลังจากที่ปฏิเสธการไถ่ถอน Bitcoin และ Ethereum ในกองทุนทรัสต์ ทำให้เงินของลูกค้า FTX สูญหายไป
FTX เตรียมฟ้อง Grayscale ฐานทำให้เงินของลูกค้าสูญหาย
จากแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (6 มีนาคม) John J. Ray III ผู้บริหารคนใหม่ของ FTX กล่าวว่า Alameda Research ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ FTX กำลังเตรียมฟ้อง Grayscale Investments บริษัทจัดการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อปลดล็อกการลงทุนที่ถูกระงับอย่างไม่เหมาะสมของลูกค้า
FTX กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมา Grayscale ได้เก็บค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงถึง 2% ต่อปี ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ และเป็นการละเมิดข้อตกลงทรัสต์ หาก Grayscale ลดค่าธรรมเนียมเหล่านั้น และอนุญาตให้นักลงทุนถอนเงินสดได้ หุ้นของ FTX จะมีมูลค่ามากกว่าปัจจุบันเกือบ 90% หรืออย่างน้อย 550 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ FTX กำลังหาทางขอปลดล็อกมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์ในกองทุนทรัสต์ของ Grayscale เนื่องจากเงินของลูกค้าอยู่ใน Grayscale จำนวนมาก ซึ่งการไม่อนุญาตให้ไถ่ถอนสินทรัพย์หมายความว่า Grayscale มีส่วนทำให้เงินของลูกค้า FTX หายไป
นอกจาก Alameda Research แล้ว ก่อนหน้านี้ Three Arrows Capital (3AC) กองทุนเฮดจ์ฟันด์คริปโตที่ล้มละลายจากการล่มสลายของ LUNA ก็เคยมีปัญหากับ Grayscale เนื่องจากบริษัทถือครองหุ้นของ Grayscale ไว้จำนวนมาก แต่ไม่สามารถกู้คืนเป็นเงินสดได้เช่นกัน
ย้อนรอยวิกฤต FTX และจับสัญญาณโดมิโนตัวต่อไป
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ทาง CoinDesk เว็บไซต์คริปโตชื่อดังได้ตีแผ่รายงานว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการของ Alameda Research มากกว่า 80% เป็นโทเคน FTT ของเว็บเทรด FTX ทำให้นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับมูลค่าเหรียญที่ถูกเสกขึ้นมาจากอากาศ
ความกังวลนี้ถูกซ้ำเติมเมื่อ Changpeng Zhao หรือ ‘CZ’ ซีอีโอของ Binance ประกาศผ่าน Twitter ว่าแพลตฟอร์มของเขากำลังขายโทเคน FTT ทั้งหมดในบัญชีของตน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยกับการล่มสลายของ Terra ทำให้เกิดแรงเทขายในโทเคน FTT อย่างรุนแรง
ข่าวลือว่า FTX อาจล้มละลายตามรอยบริษัท Celsius ได้แพร่สะพัดทั่วโซเชียลมีเดีย ทำให้นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม FTX จำนวนมาก จนในที่สุดเว็บเทรด FTX ต้องออกมาประกาศหยุดการถอนเงินในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2022 และหลังจากนั้นไม่นาน แพลตฟอร์มต้องยื่นล้มละลาย ตามหมวดหมู่ที่ 11
เนื่องจาก FTX มีบริษัทลูกมากมาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทยังมีความเกี่ยวข้องกับตราสารอนุพันธ์ (Derivatives) ซึ่งมีความเสี่ยง และใช้ Leverage (กู้เงินมาลงทุน) ที่สูง การล้มละลายของ FTX จึงส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อบริษัทคริปโตหลายแห่ง เช่น BlockFi และ Genesis
ดูเหมือนว่า Silvergate ก็มีโอกาสจะเป็นโดมิโนตัวล่าสุด หลังจากเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา Bloomberg ได้รายงานว่า Silvergate ระงับเครือข่ายการชำระเงินคริปโตที่เรียกว่า Silvergate Exchange Network (SEN) โดยก่อนหน้านั้นธนาคารเลื่อนการยื่นรายงานทางการเงินประจำปี 10-K ทำให้ถูกเพ่งเล็งว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาทางการเงิน
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงมาก นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยง ศึกษาหาข้อมูล และวางแผนในการลงทุนด้วยความรอบคอบ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผลสำรวจเผย 65% ของนักลงทุนสถาบันคาด บิทคอยน์ มีโอกาสแตะ 1 แสนดอลลาร์ ลั่นปี 2023 จะเป็นปีที่ดีของ Bitcoin
- สาวกคริปโตเฮ! ราคาบิทคอยน์ฟื้นจนชดเชยความสูญเสียทั้งหมดตั้งแต่ FTX ล่ม
- เจมี ไดมอน จาก JP Morgan ชี้ สกุลเงินดิจิทัลรวมถึง Bitcoin เป็นแชร์ลูกโซ่แบบกระจายอำนาจ
อ้างอิง: