กฟผ. เผย ตั้งแต่ปี 2560 มีบ้านสร้างเสร็จภายใต้ ‘โครงการบ้านเบอร์ 5’ ถึง 5,400 หลัง ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 44 ล้านบาทต่อปี ลดปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 5,300 ตันต่อปี ตั้งเป้าปี 2566-2568 สร้างเพิ่ม 5,000 หลัง ด้าน ธอส. เผยปล่อยสินเชื่อแบบบ้านเบอร์ 5 ที่ผ่านตามข้อกำหนด ภายใต้โครงการบ้านอยู่เย็นเป็นสุขไปแล้ว 1.3 หมื่นล้านบาท ชี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ เป็นผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า กฟผ. ได้ดำเนินโครงการฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงานสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย หรือ ‘โครงการบ้านเบอร์ 5’ ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีบ้านสร้างแล้วเสร็จ 5,400 หลัง ช่วยลดค่าไฟฟ้าของผู้อาศัยได้ประมาณ 44 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้ประเทศไทยประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 11 ล้านหน่วยต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับบ้านทั่วไป เทียบเท่าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ประมาณ 5,300 ตันต่อปี
ทั้งนี้ โครงการบ้านเบอร์ 5 ขับเคลื่อนผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดด้านการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุการก่อสร้าง และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งนวัตกรรมระบบบริหารจัดการพลังงาน สนับสนุนการดำเนินมาตรการกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานในบ้านที่อยู่อาศัย (Residential Energy Code: REC) ตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศ
เพื่อมุ่งมั่นยกระดับการดำเนินโครงการดังกล่าว กฟผ. จึงร่วมมือกับ ธอส. สนับสนุนการให้บริการทางการเงิน เพื่อส่งเสริมและผลักดันกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเลือกซื้อบ้านที่อยู่อาศัยประสิทธิภาพสูงแก่ประชาชนทั่วไป
โดย วิทยา แสนภักดี รองกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวเสริมว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สังกัดกระทรวงการคลังที่มีพันธกิจ ‘ทำให้คนไทยมีบ้าน’ ยินดีที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ. โดยพร้อมเป็นกลไกสำคัญในการให้บริการทางการเงินด้วยผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านประหยัดพลังงานแก่ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัย ประชาชนทั่วไปให้สามารถซื้อหรือก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงานตามแบบบ้านเบอร์ 5 ที่ผ่านตามข้อกำหนดโครงการบ้านเบอร์ 5 ของ กฟผ.
โดยภายใต้โครงการบ้านอยู่เย็นเป็นสุขของธนาคารในปี 2565 มียอดอนุมัติสินเชื่อรวมแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนการตอบรับของประชาชนต่อที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กฟผ. และ ธอส. ตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกิดการสร้างบ้านประหยัดพลังงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 3 ปี (ปี 2566-2568) จำนวน 5,000 หลัง ซึ่งจะสามารถลดการใช้พลังงานของประเทศได้ประมาณ 32.5 ล้านหน่วยต่อปี หรือ 130 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 14,600 ตันต่อปี เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาคส่วนต่างๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจกตามทิศทางการพัฒนาประเทศ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero